ประเดิมชัย ชี้ช่องงบฯ กทม.เชื่อ ส.ก.พิจารณาจากความจำเป็น

13 ปี ส.ก.จากการเลือกตั้ง ความหวังพิจารณา งบฯ 8 หมื่นล้าน ‘อดีตประธานสภา กทม.’ ชี้ เหลือเวลา 1 เดือน ก่อนถกงบฯ 66 ผู้ว่าฯ เตรียมชี้แจงรายละเอียด หากต้องการเปลี่ยนแปลงโครงการเดิม

“ไม่มีอะไรเร่งด่วนเท่ากับตอนนี้อีกแล้ว เพราะเราไม่มี ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้งมานานกว่า 13 ปี” คือ คำพูดของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันแถลงเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ชี้ให้เห็นกลไกความร่วมมือของ กทม. ที่ไม่ได้มีเพียงฝ่ายบริหาร แต่ยังประกอบไปด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ทั้ง 50 คน คอยทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ และการทำงานของผู้บริหาร ให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน

The Active พูดคุยกับ ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ในฐานะ อดีต ส.ก. 5 สมัย และยังเคยเป็นประธานสภากรุงเทพมหานคร วิเคราะห์อุปสรรคด้านงบประมาณ และการทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนคนกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต ว่าจะประสาน สอดรับ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างไร

ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ (ภาพจาก พรรคเพื่อไทย)

ชี้ช่อง ทบทวนโครงการต่อเนื่อง และเงินสะสมกว่า 1 หมื่นล้าน

จากข้อกังวลด้านงบประมาณของ กทม. ที่มีหลายฝ่ายกังวล ประเดิมชัย อธิบายว่า ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่าย กทม. ปี 2566 จะพิจารณาในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. ซึ่งตอนนี้ ผู้ว่าฯ เพิ่งจะรับตำแหน่ง แต่ทราบว่าร่างงบประมาณฯ ได้จัดเตรียมเอาไว้แล้ว ตามคำเสนอของบประมาณของหน่วยงานต่างๆ โดยจะมีเวลาที่ ผู้ว่าฯ และทีมบริหาร จะสามารถเข้าไปดูเพื่อเปลี่ยนแปลงได้ประมาณ 1 เดือนก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่างบประมาณส่วนใหญ่ เป็นรายจ่ายประจำ ที่ประกอบด้วย เงินเดือน ค่าจ้าง บำเหน็จ บำนาญ ที่อาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงได้ไม่มาก และจะมีงบประมาณที่เป็นภาระผูกพัน ซึ่งลงนามในสัญญาที่ต้องจ่ายไว้แล้วด้วย โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากการบริหารที่ผ่านมา เป็นภาระที่ต้องจ่าย แต่อาจเข้าไปดูในรายละเอียดว่า แผนงานใดมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องทำในขณะนี้หรือไม่ ผู้ว่าฯ จึงต้องมีความพร้อม เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ ซึ่งอาจปรับจำนวนลงมาได้บ้าง

อีกส่วนหนึ่ง จะเป็นคำของบประมาณรายการใหม่ ส่วนนี้เองที่ ผู้ว่าฯ มีสิทธิเข้ามาเปลี่ยนแปลงได้ โดยอาจเอาโครงการที่ท่านหาเสียงไว้ใส่เข้าไปด้วย ซึ่งงบประมาณรายการใหม่นี้ จะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะนำไปจัดสรรให้กับสำนักงานเขต 50 เขต เขตละประมาณ 10 – 20 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับขนาด เฉลี่ยประมาณ 1,000 ล้านบาท ที่ประเดิมชัย มองว่า เป็นงบฯ ที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารจะไม่ค่อยเข้ามายุ่ง

นอกจากนั้น คือ งบประมาณในสำนักต่างๆ โดยเฉพาะ สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง หรือสำนักสิ่งแวดล้อม ที่ได้รับงบประมาณจำนวนมาก การใช้งบประมาณในส่วนนี้ จะขึ้นอยู่กับนโยบายในแต่ละช่วงของผู้บริหาร ว่าจะมีโครงการใหม่อะไรที่ต้องใช้เงินบ้าง โดยกังวลว่า ทีมบริหารต้องมีรายละเอียดโครงการที่จะชี้แจงต่อสภา ในเวลาประมาณ 20 วันนี้ จะสามารถเตรียมรายละเอียดในการชี้แจงต่อสภาได้ทันหรือไม่

“สำหรับงบประมาณสะสม ในช่วงก่อนที่ ผู้ว่าฯ อัศวิน จะลาออกจากตำแหน่ง มีอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ได้มีการขออนุมัติสภา กทม. ชุดก่อน จ่ายขาดเงินสะสมไปแล้ว เกือบ 10,000 ล้านบาท เท่ากับเหลือประมาณ 20,000 ล้าน แต่จะใช้จริงได้แค่ครึ่งหนึ่ง เพราะกฎหมายกำหนดห้ามไว้…”

ประเดิมชัย กล่าวถึง งบประมาณสะสมของ กทม. ที่เป็น งบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในโครงการต่างๆ จะส่งเข้ามาเป็นเงินสะสม ซึ่งจะเหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ว่าจะใช้ได้ครึ่งหนึ่ง เพราะมีกฎหมายกำหนดบังคับไว้ว่า ต้องมีเงินคงคลังเหลือ เพื่อการันตีฐานะขององค์กรไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทด้วย ซึ่งถ้าหาก ผู้ว่าฯ พิจารณาแล้วมีความจำเป็นต้องใช้ ก็สามารถเตรียมรายละเอียด เพื่อให้สภา กทม. จ่ายขาดเงินสะสม ไปใช้จ่ายตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้ ซึ่งจะผ่านหรือไม่ คิดว่าขึ้นอยู่กับเหตุผลและความจำเป็น หากมีข้อมูลเพียงพอ แล้ว ส.ก. ทุกคนเห็นด้วย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผ่านสภา

ในขณะที่ นโยบายว่าด้วยการจัดทำงบประมาณจากล่างขึ้นบน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะตรงตามความต้องการของประชาชนในแต่ละเขต ที่มีบริบทแตกต่างกันทั้งนั้น แต่ทั้งหมดอาจไม่ใช่การขอจากภาคประชาชนโดยตรง จำเป็นต้องผ่านการกลั่นกรองจากข้าราชการ เพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบด้วย แต่ยืนยันว่าการให้บทบาทภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยเป็นเรื่องที่ดี

เชื่อไร้อุปสรรคการทำงาน ส.ก. ยึดประโยชน์ประชาชน

ประเดิมชัย กล่าวว่า แม้ครั้งนี้ในสภา กทม. จะประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 พรรคการเมือง และกลุ่มอิสระ ซึ่งมีความหลากหลายมากกว่าครั้งก่อนๆ ก็จะเป็นข้อดีของกระบวนการตรวจสอบที่จะมีความเข้มแข็งขึ้น และอีกหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจน คือ ส.ก. ส่วนใหญ่เป็นคนใหม่ มีคนเก่าแค่ไม่กี่คน บทบาทของ ประธานสภา อาจต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกในเรื่องการทำงานด้วย ในขณะที่ผู้บริหารต้องมี ‘นิติสัมพันธ์’ สร้างความเข้าใจ และสามารถนำเสนอข้อมูลให้ ส.ก. สามารถยอมรับได้ ถึงความจำเป็นในการนำงบประมาณไปใช้ และการแก้ไขข้อบัญญัติต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการวัดฝีมือ ผู้ว่าฯ และทีมงานพอสมควร

“เบื้องต้นเท่าที่ได้สัมผัสการทำงานของ ส.ก. ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีใครตั้งการ์ด จะสร้างกำแพงไม่ทำงานด้วย เพราะทุกคนมุ่งมั่นจะทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แต่บทบาทการทำงานต่างกัน ถ้าผู้บริหารเปิดใจกว้าง ให้ ส.ก.มีส่วนแลกเปลี่ยนปัญหาความเดือนร้อน ผ่านสภา เพื่อผนวกลงไปในนโยบายได้ คิดว่า เรื่องการทำงานไม่น่ามีปัญหาความขัดแย้ง”

ประเดิมชัย มองว่า การที่คนกรุงเทพฯ มอบความไว้วางใจอย่างถล่มทลายให้กับคุณชัชชาติ ถือเป็นพันธสัญญา ที่ผู้ว่าฯ ต้องแก้ไขความเดือดร้อนให้ประชาชน และต้องรายงานให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ ว่าอะไรที่ทำเสร็จแล้วบ้าง และอะไรยังมีอุปสรรค เพราะเวลาคิด กับการลงปฏิบัติจะแตกต่างกัน และยังมีอุปสรรคในแง่กฎหมาย กฎระเบียบ ที่อาจจะไม่เอื้อกับนโยบายที่ประกาศเอาไว้ จึงคิดว่า ส.ก. จะสามารถเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ได้ เพื่อให้การทำงานตอบสนองต่อความต้องการประชาชนได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้