ชวนจับตาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. – ส.ก.

‘สมชัย’ ชี้หากระบบรายงานคะแนนดี ทุ่มครึ่งควรรู้ผล! ห่วงกรรมการประจำหน่วย ไม่เป็นกลาง เหตุใช้คนของ กทม. WeWatch ส่งอาสาสมัครสังเกตการณ์ หวังคนเข้าถึงสิทธิเพิ่มขึ้น

วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่จะถึงนี้ เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. รวมถึงผู้บริหารและสมาชิกสภาเมืองพัทยา นอกเหนือจากการแข่งขันของผู้สมัครที่เข้มข้นแล้ว ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 9 ปี หลายฝ่ายยังจับตามองกระบวนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ว่าเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรมหรือไม่

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในครั้งนี้ หลายเรื่องสร้างความอึดอัดพอสมควร โดยเฉพาะ เรื่อง การรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง กทม. ออกมาประกาศว่าประชาชนจะได้ทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ก่อนเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 22 พ.ค.

“การรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ถ้าระบบดีพอ ประมาณ 19.30 น. น่าจะรู้แล้ว นับบัตร 500 – 600 ใบ ช้าสุดน่าจะ 1.30 ชั่วโมง ถ้าทุกอย่างออนไลน์ตรงจากหน่วยเลือกตั้ง กลายเป็นว่าทุกอย่างรีพอร์ตโดยกระดาษ แล้ววิ่งไปส่งที่ส่วนกลางอีกที เราแทบจะไม่รู้ความเคลื่อนไหวในทุกช่วงเวลาเลย ให้ภาคประชาชนพึ่งพาอาศัยกันเอง”

รศ.สมชัย กล่าวว่า เมื่อครั้งการออกเสียงประชามติ ในปี 2559 กกต. ได้ออกแบบแอปพลิเคชัน รายงานผลแบบเรียลไทม์ ให้ กปน. รายงานคะแนน มายังส่วนกลาง แต่ กทม. ต้องรวมคะแนนที่หน่วยก่อน แล้วต้องส่งให้เขตตรวจสอบ จึงจะส่งมายัง กกต. ส่วนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ที่ดินแดง หากทุกอย่างรวมอัตโนมัติ โดยระบบคอมพิวเตอร์ คะแนนก็จะขยับขึ้นตลอดเวลา ซึ่งถ้าต้องการรู้ผลอย่างรวดเร็ว ก็ต้องมีคนกระจายตามหน่วยเลือกตั้ง 6,000 กว่าหน่วย ซึ่งค่อนข้างเสียเวลา

นอกจากนั้น รศ.สมชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำหน้าที่ของ กปน. ที่ต้องเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่า กปน. ต้องใช้คนของ กทม. จึงมีความเป็นไปได้ จะโน้มเอียงไปสนับสนุนฝ่ายใดหรือไม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล เขตชานเมือง หรือชุมชนที่มีกลุ่มอิทธิพลสูง อาจมีการทุจริต ให้คนไม่มีสิทธิเลือกตั้งมาใช้สิทธิแทนได้

WeWatch ชวนประชาชนสังเกตการณ์ หวังลดข้อจำกัดการเลือกตั้ง

เรืองฤทธิ์ โพธิพรม ผู้ประสานงาน We Watch จากการสังเกต และรับรายงาน เห็นความผิดปกติมใน 3 ส่วนสำคัญ คือ การเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งของประชาชน การจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส และเป็นธรรม ตลอดจนโอกาสในการตรวจสอบการเลือกตั้ง จึงเปิดรับอาสาสมัคร เพื่อร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดเลือกตั้งในอนาคต


“เรื่องโกงเลือกตั้ง มีอยู่แล้ว ทุกคนเห็น ต้องช่วยจับตา แต่อยากให้มองเรื่องการเข้าถึงสิทธิเลือกตั้งด้วย ทั้งคนพิการ หรือคนที่ย้ายทะเบียนบ้าน จะอำนวยการให้คนเหล่านี้ไปใช้สิทธิอย่างไร ให้ไม่มีข้อจำกัดอย่างที่เป็นตอนนี้”

เรืองฤทธิ์ กล่าวว่า คนทั่วไปไม่ได้มองเรื่องการเข้าถึงสิทธิเท่าที่ควร เช่น คนที่ย้ายทะเบียนไม่ถึง 1 ปี ก็ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้คนเหล่านี้เสียสิทธิไปทันที ควรจะอำนวยการให้คนไปใช้สิทธิได้มากที่สุด และพัฒนาระบบให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม อย่าง คนพิการ และกลุ่มเปราะบางเป็นต้น เพราะสิทธิทางการเมืองเป็นของประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกต ถึงการส่งผลคะแนนจากหน่วยเลือกตั้ง ที่ใช้วิธีการส่งเอกสารนับคะแนนทุกอย่างไปที่เขต แล้วให้เขตตรวจสอบ ว่าคะแนนถูกต้องหรือไม่ จนถึงตอนนี้ยังไม่รู้วิธีการ ว่าเขตจะกรอกข้อมูลอย่างไร กระบวนการตรวจสอบในเขตจะถูกต้องแค่ไหน แล้วนับแบบไหน ยังรวมถึงกระบวนการตรวจสอบผลคะแนนรายหน่วย ที่ไม่เปิดเผยโดยง่าย ต้องให้ประชาชนปริ้นเอกสาร ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้