ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 5 คน ประชันวิสัยทัศน์ ในมหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” เน้นแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา พร้อมรับมอบ ‘สมุดปกขาว’ สานต่อนโยบายจากภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2565 ไทยพีบีเอส ร่วมกับ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จัดมหกรรม “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ 65” ด้วยการประชันวิสัยทัศน์ ของผู้สมัครชิงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯ กทม.” โดยมีผู้สมัครผู้ว่าฯ เข้าร่วม 5 คน คือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครหมายเลข 4 รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11
ในส่วนของคำถามแรก ถามว่า วันที่ 22 พ.ค. 2569 กรุงเทพฯ ตอนนั้น กทม. จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร? รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครหมายเลข 7 กล่าวว่า สโลแกนส่วนตัวคือ “ต้องหยุดโกง กรุงเทพฯ เปลี่ยนแน่” หวังว่าใน 4 ปี ข้างหน้าจะเห็นว่า กรุงเทพฯ จะหยุดโกงจริง ๆ และมีทรัพยากรมากพอที่จะจัดสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต ของทุกภาคส่วน หวังว่าคนเล็กคนน้อยจะมีพื้นที่ในการทำกิน และสามารถยืนได้อย่างมีศักดิ์ศรี ลดหนี้ของตัวเอง ใน 4 ปี ข้างหน้าเราจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องระบบรางเป็นขนส่งมวลชนมีราคาที่ทุกคนสามารถขึ้นได้ มีเมืองหลวงที่เป็นบ้านสำหรับทุกคน
“ใน 4 ปี ข้างหน้าเราจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องบีทีเอสราคา 20 บาท เพราะเราอาจไม่ได้ค่าบีทีเอส 20 บาท ในวันนี้หรือพรุ่งนี้ แต่ผู้ว่าฯ ที่จะเข้ามาในครั้งนี้ จะต้องเป็นคนต่อสัญญาสัมปทานหรือไม่ต่อสัญญาสัมปทาน ซึ่งมีการผูกเงื่อนไขหลายอย่าง และเงื่อนไขเหล่านั้น จะทำให้ผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้มุ่งมั่นอาจต่อสัมปทาน เราจะทำเรื่องนี้เพื่อมุ่งไปสู่ทิศทางอนาคต”
รสนา โตสิตระกูล
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครหมายเลข 1 กล่าวว่า หลังจาก 4 ปี ตน และ ส.ก.จากพรรคก้าวไกล จะแก้กติกา ข้อบัญญัติ และระเบียบต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม ทั้งค่าขยะ ภาษีที่ดินที่คนตัวใหญ่ไม่หลบเลี่ยง ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ยกตัวอย่างภาษีป้าย เมื่อจัดเก็บรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย สวัสดิการต่าง ๆ ก็จะเกิดขึ้น ทั้งสวัสดิการผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด-เด็กเล็ก โดยอยากเห็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ จะมีนโยบายที่ยกระดับขึ้นไปอีก รวมทั้งไม่มีผู้ว่าฯ คนใหม่แก้กติกากลับไปเหมือนเดิมอีก เพื่อให้กรุงเทพฯ ไม่เผชิญปัญหาเดิม ๆ
“หลายคนตั้งคำถามถ้าเกิดความไม่ถูกต้อง ความอยุติธรรมเกิดขึ้น จะอยากเห็นผู้ว่าฯ เป็นพวกเดียวกันกับพวกนั้นหรือ ผมว่าไม่ใช่ เพราะคุณต้องอยากได้ผู้ว่าฯ มาต่อสู้กับความอยุติธรรม”
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ด้าน น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครหมายเลข 11 กล่าวว่า การจะพยากรณ์ได้ ต้องดูย้อนหลัง การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ทุกครั้ง นโยบายยังเหมือนเดิม ปัญหาต่าง ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข มันต้องอยู่ที่ Mindset ของผู้นำ ที่จะเข้ามาบริหารเมือง สิ่งที่จะเร่งดำเนินการคือ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่าง บริการสาธารณะจะต้องเข้าถึงได้ อีก 4 ปีข้างหน้า ต้องมีนโยบายใหม่ ๆ ปัญหาใหม่ ๆ และค่อยเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ คนต่อไป
“กทม.เป็นรัฐราชการเต็มรูปแบบ ข้าราชการทุกคนไม่ได้เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ดังนั้น ต้องให้สิทธิประชาชนทุกสาขาอาชีพ เข้ามากำหนดงบประมาณและนโยบายด้วยตัวเอง”
น.ต.ศิธา ทิวารี
สกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 กล่าวว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้าต้องเป็นกรุงเทพฯ ที่ดีขึ้นในทุกด้านทั้งการจราจร สิ่งแวดล้อม และเท่าเทียมกันในทุกเขต การที่จะเป็นแบบนี้ ถ้าคิดแบบเดิม งบฯ แบบเดิม จะเป็นงานรูทีนที่ไม่พัฒนาไปได้เท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ ที่ชื่อสกลธี จะเป็นผู้ว่าคนแรกที่หาเงินเข้า กทม. แทนที่จะแบมือขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเดียว ส่วนวิธีการหาเงินเช่น การจัดการขยะที่เสียเงินปีละ 5-7 พันล้าน ไม่ได้อะไร ให้เอกชนทำได้ ใช้เงินถูกกว่า ใช้ศักยภาพของเมืองท่องเที่ยว เก็บภาษีซิตี้แท็กซ์ ซึ่งตั้งเป้าเก็บเงินได้ปีละ 3-5 พันล้าน ดังนั้น 4 ปีจะมีเงิน 3-4 หมื่นล้านลงมาพัฒนา รวมทั้งจะแก้ปัญหาการใช้งบที่กระจุกตัว แทนที่จะกระจายความเจริญไปใน 50 เขต
ขณะที่ สุชัชวีร์ กล่าวว่า 4 ปี ข้างหน้าที่กำลังจะหมดวาระ รอยย่นบนหน้าคงเยอะ งานเป็นผู้ว่าฯ กทม. เป็นงานหนัก ต้องมีความรู้ความสามารถ และใน 4 ปีข้างหน้า จะไม่มาพูดปัญหาเดิม 4 ปีข้างหน้า กทม.จะแข่งขันกับโตเกียว กับกรุงโซล กับ สิงคโปร์ 4 ปี ต่อให้มีรอยย่นเต็มหน้า ก็อยากมาให้พร้อมกับรอยยิ้ม ว่า เปลี่ยนกรุงเทพฯ เราทำได้จริง ๆ
“โรงเรียน กทม.จะมีคนแย่งกันเข้า หลักสูตรไม่แพ้กับสิงคโปร์ น้ำท่วมจะไม่เกิดขึ้น จะไม่ทำแบบเดิมคิดแบบเดิม ทำแบบที่ต่างประเทศทำสำเร็จแล้วเราก็ทำสำเร็จได้เหมือนกัน และ PM.2.5 หายไปครึ่งหนึ่งหายใจได้เต็มปอด การใช้บริการ กทม.จะได้ใช้บริการโดยไม่ต้องไปเขต โปร่งใส ลดภาระค่าใช้จ่าย”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
สำหรับในส่วนของ คำถาม 6 ข้อจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ประกอบด้วย
คำถามที่ 1 เมืองน่าอยู่ “Mind Set หรือวิธีคิดของ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่กับความหลากหลายของประชากรกรุงเทพฯ”
คำถามที่ 2 เมืองสุขภาพและเมืองปลอดภัย “การปฏิรูประบบสุขภาพ กทม.”
คำถามที่ 3 เมืองเป็นธรรม “คนจนเมือง จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงอย่างไร”
คำถามที่ 4 เมืองทันสมัย “Civic Tech และ Gov Tech กับการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้คนกรุงเทพฯ”
คำถามที่ 5 เมืองมีส่วนร่วมและเมืองสร้างสรรค์ “ตัวชี้วัดความสำเร็จของการสร้างเมืองประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”
คำถามที่ 6 โครงสร้างการบริหาร กทม. ที่จะทำให้นโยบายของผู้สมัครมีผลเป็นรูปธรรม
สำหรับคำถามเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข มีผู้สมัครเลือกตอบคำถามนี้ 3 คน เริ่มจาก สกลธี กล่าวว่า สาธารณสุขเป็นนโยบายหนึ่งที่ต้องเกิดขึ้นในยุคของผู้ว่าฯ ชื่อ สกลธี จากที่เรามีศูนย์สาธารณสุข 69 ศูนย์ ใน 50 เขตของกทม. แต่จะทำอย่างไรให้กระจายงบให้ถึงศูนย์ เหมือนโรงพยาบาลประจำเขต ทำให้คนในชุมชนไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ต้องหาเงินมาใส่ตรงนี้
“ใน 2 ปีแรกของสกลธี จะทำให้ศูนย์ 69 แห่ง เป็นรพ.ประจำเขตให้ได้ ใช้ริชแบนมาดูแลกลุ่มคนสูงอายุและใช้ระบบเทเลมิดิซีน (Telemedicine) เพื่อลดการเดินทาง”
สกลธี ภัททิยกุล
ขณะที่ สุชัชวีร์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะทำคือ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะลงไปดูแล กระชับการทำงานเรื่องโควิด เพราะกำลังจะเปิดเมือง เปิดประเทศ วันนี้จุดอ่อนคือระบบราชการ ในเวลา 90 วัน จะไปปรับตรงนี้ โดยเฉพาะจุดอ่อนเรื่องความลักลั่น ที่สุดท้ายแล้วศูนย์การสาธารณสุขชุมชน ศูนย์การสาธารณสุข กทม.เป็นเพียงพื้นที่ส่งต่ออย่างเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นเรื่องการวางแผน ภายใน 6 เดือน ศูนย์บริการสาธารณสุขจะมีหมอ อาคารตอนนี้พร้อมแล้ว โดยเติมหมอลงไป ให้หมอ 3 วันต่อสัปดาห์ และมีนักกายภาพบำบัด นักจิตบำบัด ในระยะยาวกรุงเทพฯจะดูแลครบถ้วน โรงพยาบาลกรุงเทพฯทั้ง 11 แห่ง
“ระบบทุกอย่างจะออนไลน์หมด และดูแลยามฉุกเฉินได้ และ 4 ปีเครือข่ายโรงพยาบาลทั้ง 80 แห่งจะเชื่อมโยงทุกโรงพยาบลใน กทม. ระบบโรงพยาบาลใน กทม.จะไร้รอยต่อให้เหมือนกับเมืองหลวงในประเทศต่าง ๆ”
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
ด้าน รสนา ระบุว่า เรื่องสุขภาพจะต้องทำให้เกิด “สร้าง นำ ซ่อม” การที่จะมีสุขภาพดี ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองด้วย มีอาหารที่ปลอดภัย โดยจะสนับสนุนให้มีการกินอาหารที่เป็นอินทรีย์ ใช้พื้นที่ว่างใน กทม. ส่งเสริมให้คนทำ Urban Farming ในลักษณะที่เป็นเกษตรธรรมชาติมากขึ้น
ทั้งนี้ เวลาเจ็บป่วย 80% เป็นโรคที่เราดูแลกันเองได้ ดูแลตัวเองได้ ฉะนั้นจะสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ในภาคประชาสังคมได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้ความรู้กับประชาชนในการดูแลโรค ส่วนของ 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.จะต้องมีการพัฒนา ให้แต่ละเขตมีโรงพยาบาล โดยทั้ง 69 ศูนย์ควรมีการส่งเสริมให้ทำงานทั้ง 24 ชั่วโมง ส่งเสริม อสส. กทม. และเครือข่ายภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ทำให้คนเหล่านั้นมีความรู้ ในการช่วยกันดูแลกัน ในส่วนของ โรงพยาบาล กทม. จะทำให้มีการเชื่อมประสาน ดึงคนที่มีวิชาชีพที่เกษียณแล้วเข้ามามีส่วนร่วม เช่น หมอ พยาบาล นักการสาธารณสุข
ภายหลังการดีเบต เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ส่งมอบ “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นแนวนโยบายจากเครือข่ายภาคประชาชนในแต่ละด้าน ที่ผ่านการระดมความคิดเห็นในหลายเวที จนตกผลึกออกมาเป็นข้อสรุปที่มีความชัดเจน ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะได้ทำงานร่วมกันกับผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ในอนาคต
📌 สามารถดาวน์โหลด “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” (ร่างแรก) ได้ที่นี่ 👉🏼 https://bkkelection65.thaipbs.or.th/wp-content/uploads/2022/05/WhitePaperPolicy.pdf