สื่อมวลชนอาวุโส วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. ‘นโยบาย’ ไม่สำคัญเท่า ‘ตัวตน’

‘คุยให้คิด’ ตั้งคำถามว่าที่ผู้สมัครฯ อิสระจริงหรือไม่ ตัวแทนฝ่ายค้าน – รัฐบาล ตัดคะแนนกันเอง มองจุดขายคือไสตล์ผู้สมัคร วัดรสนิยมคนกรุงฯ

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา รายการคุยให้คิด ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS สุทธิชัย หยุ่น, วีระ ธีรภัทร, และวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ร่วมวิเคราะห์สัญญาณ เริ่มนับหนึ่ง ‘ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หลังจากที่ กกต. ได้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไปแล้ว และมีว่าที่ผู้สมัครฯ ทยอยเปิดตัวออกมาเสนอนโยบายเพื่อพลิกฟื้นกรุงเทพมหานคร

มองตัวแทนฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้าน ต่างตัดคะแนนกันเอง

“สกลธี กับ อัศวิน นี่น่าสนใจมาก ว่าเขามี DNA เดียวกันหรือไม่ แต่ที่สำคัญ คือ ทำไมไม่คุยกัน ถ้าเกิดผมเป็นคนชอบสายผู้บริหารเก่า จะทำอย่างไร คนเป็นผู้ว่าฯ กับรองผู้ว่าฯ ไม่คุยกันเลยหรือไง”

วีระ ธีรภัทร

วีระ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยว่าที่ผู้สมัครฯ ที่เพิ่งเปิดตัวตามกันมา อย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม. และ สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งหากพิจารณาจากสายสัมพันธ์และฐานสนับสนุนแล้ว ดูเหมือนจะอยู่ฝ่ายรัฐบาลเหมือนกัน แต่เมื่อประกาศลงสู้ศึกในตำแหน่งเดียวกัน จึงเกิดคำถามว่ารัฐบาลสนับสนุนใคร แล้วฐานเสียงของทั้งคู่จะตัดคะแนนกันเองหรือไม่

วิสุทธ์ กล่าวเสริมว่า สกลธี ก่อนจะลาออกนั้น ก็ไม่ได้แจ้งผู้ว่าฯ อัศวินอย่างเป็นทางการ เพียงแค่เขียนจดหมายลาออก และยื่นให้เท่านั้น ไม่มีการพูดคุยกันเบื้องหลัง แต่ที่น่าสนใจ คือ ก่อนลาออกสกลธี เดินทางเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี(พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงอาจเป็นไปได้ว่าได้รับไฟเขียวจากทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว

ในขณะที่ สุทธิชัย ถามว่า เวลาหาเสียงทั้งคู่ จะสามารถกล่าวได้ว่ารับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ทั้ง 3 คนวิเคราะห์ว่า คงนำเสนอตนเองในนามอิสระ แต่จะตัดคะแนนกันเอง เนื่องจากต้องใช้ขุมพลังของพลังประชารัฐด้วยกัน และยังมีสายสัมพันธ์ของข้าราชการ กทม. และ ส.ก. ที่มาจากการแต่งตั้งในยุคปัจจุบันด้วย ถึงแม้ทั้ง 2 คนจะมีฐานของตัวเองก็ตาม

ทั้งนี้ยังรวมถึงซีกฝ่ายค้าน อย่าง ชัชชาติ – วิโรจน์ – ศิธา ที่อาจตัดคะแนนกันเอง ประเด็นแรก คือ ฐานของพรรคเพื่อไทย ทั้งชัชชาติ และศิธา จากพรรคไทยสร้างไทย ที่นำโดย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ซึ่งครองฐานเสียงในพื้นที่ กทม. พอสมควร ในขณะที่พรรคเพื่อไทยเอง ก็ออกตัวอย่างชัดเจนว่าจะสนับสนุนชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ กทม.

ประเด็นต่อมา คือ ฐานเสียงที่ทับซ้อนกัน ของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เห็นได้ชัดเจนในการเลือกตั้งซ่อมที่เขตหลักสี่ – จตุจักร ในจุดนี้เองที่อาจทำให้คะแนนเสียงตัดกันไปมา ระหว่างสองพรรคการเมือง แม้พรรคก้าวไกล จะพยายามชูแนวคิดของคนรุ่นใหม่ แต่ต้องไม่ลืมว่าโปรไฟล์ของชัชชาติ ก็อาจทำให้คนเปลี่ยนใจได้ด้วยเช่นกัน

ผู้สมัครอิสระ… จริงหรือไม่ ?

ในรายการพูดคุยถึงกรณีที่หลายคนเลือกเปิดตัว เป็นผู้สมัครอิสระ ถือเป็นจุดขายทางการเมืองหรือไม่ โดยมองว่าสำหรับบางคนที่ไม่ชอบพรรค ก็จะไม่เลือกพรรคนั้นๆ เลยมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากไม่สังกัดพรรค ในขณะที่การมีพรรคการเมืองคอยเป็นแรงสนับสนุน ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะมีหัวคะแนนในระดับพื้นที่คอยช่วยหาเสียงได้

แต่การที่ผู้สมัครบางคน บอกว่าเป็นอิสระ ต้องตั้งคำถามว่าอิสระ จริงหรือไม่ เท่าที่พิจารณามีเพียงแค่คุณรสนา คนเดียวที่อิสระจริงๆ ไม่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง แต่คุณชัชชาติ ไม่ใช่ ยังมีพรรคเพื่อไทย คอยสนับสนุน โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเท่ากับชัชชาติได้

สุทธิชัย วิเคราะห์ ต่อว่า เหตุผลที่ชัชชาติ ลงในนามอิสระ อาจเป็นเพราะมองว่า ถึงอย่างไรคนที่รักพรรคเพื่อไทย ก็ลงคะแนนให้ตน ไม่เสียงหายอะไร แต่ที่ต้องรักษาน้ำใจ คือ คนที่ไม่ชอบเพื่อไทย ทำอย่างไรให้คนเหล่านี้เผื่อใจมาเลือกชัชชาติด้วย เพราะ ตัวตน และความสามารถของชัชชาติ

‘นโยบาย’ อาจไม่สำคัญเท่า ‘ตัวตน’ ของผู้สมัครฯ

“สุดท้ายแล้ว เรื่องพรรคก็ไม่สำคัญ ฐานเสียงเดิมก็ไม่สำคัญ ท้ายที่สุดคือบุคลิก และสไตล์ของแต่ละคน ว่าคุณชอบคนแบบไหน และนโยบาย อาจจะสำคัญน้อยกว่าวิธีการนำเสนอตัวเอง”

สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย มองว่า ในสถานการณ์ที่ทุกคนต่างมีฐานเสียง และคะแนนอาจจะสูสีกันมาก ถึงเวลานั้นพรรคการเมือง หรือนโยบายที่หาเสียงกัน อาจจะไม่สำคัญ ว่าคนคนนั้นมีบุคลิก และตัวตนอย่างไร และจะเป็นตัวแทนให้กับคนกรุงเทพฯ ในด้านใดมากกว่า เพราะ ยิ่งเราดูไปที่อำนาจของผู้ว่าฯ บางเรื่องก็ไม่สามารถทำได้จริงๆ อำนาจผู้ว่าฯ ไม่ได้มากขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายในระดับพื้นที่ เพราะนโยบายใหญ่ๆ บางเรื่องทำเองไม่ได้

เช่นเดียวกับ วีระ ที่มองว่า ขึ้นอยู่กับรสนิยมคนกรุงเทพฯ ว่าต้องการผู้นำแบบไหน แบบสายลุย หรือดูดี มีความรู้ เพราะตอนนี้เน้นไปที่การนำเสนอเป็นตัวแทนประชาชน ว่าจะเข้าไปจัดการเรื่องอะไร และสามารถสะท้อนเสียงคนกรุงเทพฯ ได้หรือไม่ ต้องเลือกว่า จะเอาคนที่เป็นตัวแทนชาวบ้านตัวเล็กๆ ตัวแทนคนทำงาน หรือตั้งใจเข้าไปแก้ปัญหาเชิงเทคนิค

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้