เถียงไม่จบ! สูตรเลือกตั้ง หาร 100 หรือ 500 ประชาชนอยู่ตรงไหน?

หวั่นกฎหมายเลือกตั้งเสี่ยงถูกคว่ำวาระ 3 ‘นักวิชาการ’ ห่วงจัดเลือกตั้งไม่ได้ ‘สื่อมวลชนอาวุโส’ มองสูตรเลือกตั้ง เอื้อประโยชน์พรรคการเมือง สลับไปมาเหมือนเล่นขายของ

ระหว่างศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ 4 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่าจะใช้สูตรหาร 100 หรือหาร 500 ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลับมาเป็นเรื่องให้ต้องคิด ถกเถียงกันอีกครั้ง  หลังจากที่ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ออกมาส่งสัญญาณการเมืองว่า อาจต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 เหมือนเดิม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้พลิกมติที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ให้ใช้สูตรหาร 500 ไปแล้ว

จนกระทั่งนำมาสู่การถอนวาระพิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ให้กลับไปที่ชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) อีกครั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงเป็นปมการเมืองสำคัญที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้น และเกิดคำถามสำคัญว่าสุดท้ายแล้ว สูตรการเลือกตั้งครั้งนี้ยึดโยงกับหลักการใด The Active ชวนพูดคุยกับนักวิชาการ และสื่อมวลชนอาวุโส เพื่อประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว

ไม่ยึดโยงหลักการ เอื้อผลประโยชน์พรรคการเมือง

มนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส ตั้งคำถามว่า การพลิกมติสลับไปสลับมา ของนักการเมืองครั้งนี้ เป็นการเล่นขายของหรืออย่างไร? โดยส่วนตัวมองว่า สูตรเลือกตั้งอาจไม่ได้ยึดโยงหลักการอะไรมากมาย หากเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเปิดเผยรายงานของที่ประชุม ครม. ถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรี ว่า “ผมเอา 500 ใครจะเอายังไง” ส่งผลให้ที่ประชุมของ กมธ.วิสามัญ ที่แต่เดิมยืนยันว่าจะหาร 100 เปลี่ยนเป็นหาร 500 ในช่วงข้ามคืน 

มนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส 

“ตอนแรกเหมือนมีใบสั่งจาก ครม. ให้ใช้สูตรหาร 500 เพราะกังวลว่าพรรคใหญ่จะแลนด์สไลด์ วันนี้จู่ ๆ จะกลับมาหาร 100 อีกแล้ว เพราะหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงคิดดูแล้วตัวเองอาจจะได้รับผลกระทบเหมือนกัน สุดท้ายมันไม่ได้ยึดหลักการอะไรมากมาย แต่เป็นประโยชน์ของพรรคการเมืองเท่านั้น…”

มนตรี ยังมองว่า สัญญาณจาก สมศักดิ์ เทพสุทิน หากในฐานะ รมว.กระทรวงยุติธรรม อาจไม่มีความหมายมากนัก หากไม่ได้พ่วงมาด้วยตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ เมื่อมาบอกว่าจะใช้สูตรหาร 500 ไม่ได้ เพราะ ดูจะย้อนแย้งกับระบบเลือกตั้ง ที่จะเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อมาเติมส่วนที่ขาด ให้กับคำว่า “ส.ส.พึงมี” อาจจะทำให้พรรคใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงพรรคพลังประชารัฐได้รับผลกระทบไปด้วย 

สูตรหาร 500 เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ ห่วงคว่ำวาระ 3 เลือกตั้งเกิดไม่ได้

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์ว่า โดยหลักการแล้ว สูตรเลือกตั้งแบบหาร 500 ภายใต้การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบนั้น จะทำให้เจตจำนงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถูกบิดเบือน เนื่องจากระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กำหนดเจตจำนงที่ชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อเอาคะแนนสองส่วนมาปะปนกัน จะทำให้ระบบการคิดสัดส่วนไม่ตรงกับความเป็นจริง 

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

รศ.ยุทธพร อธิบายอีกว่า สูตรเลือกตั้งแบบหารด้วย 500 อาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว ในมาตรา 83 ที่เขียนไว้ชัดว่า ระบบเลือกตั้งถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือ แบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ โดยทั้งสองส่วนใช้ระบบการคิดคะแนนต่างกัน คือ แบ่งเขตใช้เสียงข้างมาก แต่บัญชีรายชื่อใช้แบบสัดส่วน อีกทั้งใน มาตรา 83 วรรค 2 ยังให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบด้วย มากไปกว่านั้น มาตรา 91 ยังเขียนว่า การคิดคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ต้องคิดอย่างเป็นสัดส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงกับคะแนนที่พรรคนั้นได้รับ คือ ต้องคิดในกรอบ 100 คน จะเอา 400 คนแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาปนกันไม่ได้

“สูตรเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าไหร่ แต่ที่เถียงกันตอนนี้ อาจเป็นแผนสำรองที่เตรียมไว้แล้ว เพราะ สุดท้ายหากไปคว่ำวาระ 3 เลือกตั้งก็เกิดไม่ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญถูกแก้แล้ว ถ้าออกเป็นพ.ร.ก. ก็จะขัดหลักความเป็นกลาง การเลือกตั้งอาจเป็นโมฆะได้…”

รศ.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ประเด็นนี้จะเกิดปัญหา ถ้าสุดท้ายที่ประชุมพิจารณาไปจนถึงวาระที่ 3 แล้วเกิดมีมติคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว หรือหากทำไม่แล้วเสร็จใน 180 วัน การเลือกตั้งก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จะกลับไปใช้สูตรการเลือกตั้งแบบเดิม ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญถูกแก้แล้ว ทั้งวิธีการนับคะแนน การคำนวณคะแนนล้วนต่างกันแม้จะมีการเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนด ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร ก็อาจขัดกับหลักความเป็นกลางที่อาจส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้

สอดคล้องกับ มนตรี ที่มองว่า หากนำเอาผลประโชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลมาเป็นเงื่อนไขในการคว่ำร่างฉบับนี้ในวาระที่ 3 อาจทำให้เกิดปัญหา สิ่งที่พอจะทำได้ง่ายที่สุดคือ การแก้ไขกลับไปใช้สูตรหาร 100 เพราะ ถ้าหนักกว่านั้น คือ ไม่ผ่านวาระ 3 ซึ่งก็อาจเกิดขึ้นได้ เหมือนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในอดีต ที่พรรคพลังประชารัฐขับเคลื่อนมาอย่างดี แต่สุดท้ายก็ไปคว่ำร่างของตัวเอง อาจเปรียบเทียบเหมือน “ลูกสูตร” ที่ลากมาอย่างดี เมื่อถึงหน้าประตูก็ยิงออกไปดื้อ ๆ แบบนั้นเอง

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ระบุทิ้งท้ายว่า  กติกาที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง โดยสูตรคำนวณหาร 100 หรือ หาร 500 ยังมีโอกาสใกล้เคียงกัน เพราะถ้าหาร 100 อาจเป็นโอกาสของพรรคใหญ่ที่จะได้เปรียบ ซึ่งพรรคขนาดกลางก็อาจจะไม่ยอมง่าย ๆ แต่ถ้าหารด้วย 500 อาจมีโอกาสที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างที่กล่าวมา และจะทำให้ระบบการเลือกตั้งยุ่งเหยิง แต่ถ้าหาร 500 แล้วมีการคำนวณที่จะตอบคำถามกับสังคมได้ ยังมีโอกาส และจะทำให้พรรคขนาดกลางได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้