หญิงวัย 75 ติดร่องน้ำในบ้าน สะท้อนปัญหาผู้สูงอายุติดบ้าน

งานวิจัย แนะ รัฐเร่งยกระดับที่อยู่อาศัย จัดบริการทางสังคม หลังผู้สูงอายุอยู่คนเดียว หรือคู่สมรส พุ่งกว่า 4.4 ล้านคน

จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิสุขศาลานุเคราะห์นครปฐม โพสต์ข่าวเตือนภัยกรณีหญิงวัย 75 ปี ลื่นล้มในบ้านทำให้ศีรษะและลำตัวติดอยู่ในช่องน้ำทิ้ง นานกว่า 10 ชั่วโมง โดยเหตุเกิดที่บ้านใน อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ก่อนเจ้าหน้าที่ จะนำอุปกรณ์ขุดเจาะให้การช่วยเหลือออกมาได้ ในสภาพอ่อนล้า มีบาดแผลบริเวณแขนขวา ศีรษะบวม จึงรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลนครชัยศรี โดยเหตุเกิดวานนี้ (5 ก.ย. 65) 

จากการสอบถามเพื่อนบ้าน ทราบว่า ปกติจะได้ยินเสียงผู้บาดเจ็บและน้องสาวคุยกันประจำ แต่วันเกิดเหตุ ไม่ได้ยินเสียง เพื่อนบ้านจึงรีบโทรศัพท์หาผู้ใหญ่บ้าน ก่อนประสานงานกับตำรวจ และมูลนิธิรีบมาช่วยรีบเปิดประตูและช่วยเหลือไว้ได้ทัน

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 65 ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง กทม. ช่วนเหลือหญิงอายุ 54 ปี ที่ติดอยู่ในห้องน้ำของบ้านตัวเองนานถึง 3 วัน ระบุว่า พักอาศัยอยู่บ้านหลังนี้เพียงคนเดียว ช่วงค่ำได้เข้ามาห้องน้า แต่เปิดกลับออกมาไม่ได้เนื่องจากลูกบิดล็อกจากด้านนอก พยายามทุบประตูร้องขอความช่วยเหลือแต่ก็ไม่มีใครได้ยิน อาศัยดื่มน้ำจากก๊อกน้ำเพื่อประทังชีวิต เขียนผนังสั่งเสีย กระทั่งญาติผิดสังเกตจึงแจ้งตำรวจเข้ามาช่วยเหลือ

The Active ค้นหาลักษณะการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทย ปี 2564 จากเว็บไซต์สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุเกิน 60 ปี จำนวน 13,358,751 คน ร้อยละ 12 หรือ 1,603,050 คน อาศัยอยู่คนเดียวในบ้าน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.6 ในปี 2537 ขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ 21.1 หรือ 2,818,696 คนอาศัยอยู่ลำพังกับคู่สมรส 

ผู้สูงอายุ

ก่อนหน้านี้งานวิจัย “สังคมสูงวัยที่ยั่งยืนภายใต้วิถีชีวิตใหม่” โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เสนอให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรอบด้านในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยมีเป้าหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 

1. การมีที่อยู่อาศัยและการได้รับบริการที่เหมาะสมโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีเศรษฐานะยากจนและเป็นกลุ่มเปราะบาง

2. ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดํารงชีพอย่างมีคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 

3. การพัฒนาโครงสร้างและนโยบายของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุในชุมชน 

 4. พัฒนาระบบข้อมูลและตัวชี้วัดสําหรับประเมินศักยภาพ ภาวะพฤฒิพลัง และความต้องการด้านบริการสุขภาพ และบริการทางสังคมสําหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ
นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย

นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการ มส.ผส. กล่าวว่า ผู้สูงอายุของไทยมีความหลากหลายทั้งในเรื่องของเศรษฐานะ และความเป็นอยู่ หากเป็นผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ รัฐอาจสนับสนุนในการหาที่อยู่อาศัยเพื่อสามารถอยู่คนเดียว หรืออยู่กับผู้สูงอายุด้วยกันเองได้ แต่ปัญหาคือผู้สูงอายุส่วนมากที่ไม่มีกำลังทรัพย์หรือเป็นผู้สูงอายุที่ยากจน ควรมีการปรับปรุงในส่วนที่อยู่อาศัยเดิมของผู้สูงอายุให้มีสภาพที่เหมาะสมเพิ่มระบบบริการทางสังคม เช่น บริการส่งอาหาร พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัด จะทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวสามารถที่จะอยู่ได้ และใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“ในอดีตที่ผ่านมาเราอาจจะพูดถึงเรื่องของสถานสงเคราะห์คนชรา แต่ถ้าเราดูจากจำนวนผู้สูงอายุที่มีอยู่ในปัจจุบัน คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงอายุทั้งหมดได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือเสนอว่าจะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุติดบ้าน มีคุณภาพชีวิตที่ดี อาศัยได้อย่างกลมกลืนในท้องถิ่นของตัวเอง”

นพ.ภูษิต ประคองสาย

หากย้อนไปในปี 2513 โครงสร้างประชากรของไทย เป็นแบบพีระมิดฐานกว้าง เด็กเกิดใหม่เยอะ ผู้สูงอายุน้อย แต่ 50 ปีต่อมาในปี 2564 โครงสร้างประชากรเปลี่ยนไป เด็กเกิดใหม่น้อยลง ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ผู้เสียชีวิตมากขึ้น และในปี 2565 แนวโน้มก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากคิดสัดส่วนพบว่า ในปี 2564 ส่วนประชาชนสูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.8 ขณะที่ประชากรสูงอายุ 80 ปีขึ้นไปมีอยู่ที่ 1.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ส่วนปี 2583 คาดการณ์ว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปมี 20.5 ล้านคน หรือร้อยละ 31.4 ขณะที่ประชากรสูงอายุ 80 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 3.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5.2 เห็นได้ว่าประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

นอกจากประเด็นที่อยู่อาศัย จึงมีข้อเสนอถึงเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เกือบร้อยละ 20 ต้องพึ่งพาเงินยังชีพจากรัฐบาล จึงมีการพิจารณาว่าจะต้องขับเคลื่อนให้มีการปรับเงินชราภาพให้สูงขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ รวมทั้งต้องมีระบบบำนาญแห่งชาติที่ทั่วถึงและเพียงพอ ที่น่าสนใจคือ โครงการวิจัยการวิเคราะห์ช่องว่างทางการคลังแหล่งรายได้และความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์การเมืองของการจัดตั้งระบบบํานาญแห่งชาติ โดยคํานึงถึงผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อผู้สูงอายุ ของทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย และผศ.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ควรปฏิรูประบบบํานาญและการจ่ายเบี้ยยังชีพที่เหมาะสมสําหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active