ห่วง ‘เด็กข้ามชาติ’ เข้าไม่ถึงสิทธิการศึกษา-สุขภาพ

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ถอดบทเรียนโควิด-19 เสนอขยายสิทธิประกันสุขภาพไปถึงเด็กข้ามชาติ พัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็ก เชื่อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลนำเสนอข้อเสนอจากงานวิจัย “เด็กข้ามชาติในสภาวะวิกฤติสุขภาพ: สถานการณ์และทางออก” ว่าได้ทำการศึกษาช่วงโควิด-19 โดยประเมินสถานการณ์และผลกระทบเด็กข้ามชาติในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติเด็กข้ามชาติที่มีนั้นตัวเลขจำนวนไม่ชัดเจน แต่มีการอยู่อาศัยของเด็กในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก 

ทั้งนี้ ปัญหาที่พบคือ การเข้าไม่ถึงทั้งเรื่องการจดทะเบียนเกิด การศึกษา และบริการสุขภาพที่จำเป็น การตกหล่นทั้งเรื่องสุขภาพ การศึกษาและการคุ้มครอง เด็กข้ามชาติจะมีความเสี่ยงและเปราะบางเพิ่ม  โดยข้อเสนอแนะจากการศึกษาคือ กลไกและมาตรการเฉพาะหน้าที่ชัดเจนในการติดตาม ประเมิน เฝ้าระวัง และช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบโควิดต่อเด็กข้ามชาติ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กข้ามชาติและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม หากประเทศไทยมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ว่าสามารถเป็นกำลังแรงงานขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยได้ในอนาคต ก็จะทำให้นโยบายและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลการเข้าถึงสิทธิในด้านต่างๆ ทั้งการจดทะเบียนการเกิด การศึกษา และสุขภาพ รวมถึงการคุ้มครองเด็กจากความเสี่ยงและความปลอดภัยในด้านต่างๆ มีความเป็นเอกภาพไปในทิศทางเดียวกัน ชัดเจนและมีแนวทางลงสู่ระดับการปฏิบัติในทุกเรื่องที่เป็นไปในเป้าหมายเดียวกัน

ด้าน นพ.ประณิธาน รัตนสาลี ที่ปรึกษางานพัฒนาระบบบริการเฉพาะ กองบริหารการสาธารณสุข กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติ มีข้อจำกัดการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ที่ผ่านมาแม้ว่าผู้ป่วยไม่มีสิทธิรักษาแต่โรงพยาบาลต้องให้การรักษาอยู่แล้ว แต่มีปัญหาว่าไม่สามารถเก็บค่าบริการได้ จึงมีการแบกรับค่าใช้จ่ายมายาวนาน 

การให้บริการสาธารณสุขช่วงโควิดนั้นผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติมักอยู่ในพื้นที่ชายขอบซึ่งการให้บริการไม่พร้อมจนเกิดข้อจำกัด ช่วงโควิดยิ่งทำให้การบริการติดขัดเมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมจนติดเชื้อง่ายขึ้น เราจึงต้องพัฒนาระบบบริการให้ทั่วถึง และขยายสิทธิประกันสุขภาพไปถึงผู้ติดตามแรงงานคือเด็กข้ามชาติ

ด้าน ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล เจ้าหน้าที่งานคุ้มครองเด็ก องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า เด็กอพยพโยกย้ายถิ่นฐานมีความเปราะบางเพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงบริการ ก่อนหน้านี้สิทธิต่างๆ ขึ้นอยู่กับเลข 13 หลัก จนเป็นอุปสรรคการเข้าถึงบริการและการเยียวยา แต่วิกฤตินี้นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง หลายภาคส่วนพยายามผลักดันนโยบายและหลักการปฏิบัติที่เอื้อต่อสิทธิเด็กอพยพมากขึ้น

“เรื่องการคุ้มครองเด็กจะทำอย่างไรให้ระบบและกลไกที่มีอยู่เข้มแข็ง ใช้ได้จริงและสอดคล้องบริบทในพื้นที่ เราต้องพัฒนาระบบฐานข้อมูลเด็กทุกคนในชุมชนโดยต้องไม่ตกหล่นเด็กข้ามชาติ“ 

นอกจากนี้ต้องผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพและการจดทะเบียนการเกิดให้ครอบคลุมเด็กข้ามชาติ ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะเป็นปัจจัยสำคัญในวิกฤตินอกจากความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแล้ว ทำอย่างไรระบบที่มีจะเข้มแข็งและครอบคลุมทุกคน 

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ(MWG) กล่าวว่า เราควรสร้างระบบที่รองรับทุกคนในสังคมไทย ควรพัฒนาช่องทางในการให้ความช่วยเหลือ เราควรพัฒนากฎหมายและนโยบายเพื่อรองรับภาวะวิกฤตในอนาคต เราจะร่วมกันคิด ช่วยกันทำ ย้ำความร่วมมือในการวางแผนรับวิกฤติในอนาคต เพราะโควิดไม่เลือกสัญชาติ โรคระบาดไม่เลือกผู้ป่วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS