เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ชี้สัญญานดีในการการแก้ไขปัญหาหนี้ในรอบ 16 ปี นัดกลุ่มเกษตรกรทำความเข้าใจเรื่องรายละเอียดเอกสาร ก่อนยุติการชุมนุมและทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา
วันนี้ (30 มี.ค. 2565) ม็อบชาวนานัดรวมตัวที่หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเตรียมเอกสารร่วมแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการแก้ปัญหาหนี้และทำข้อตกลงกับกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร หลังคณะรัฐมนตรี มีมติ เห็นชอบโครงการแก้หนี้สินชาวนา ล็อตแรก กว่า 50,000 รายชื่อ
ทั้งนี้ เป็นเวลากว่า 66 วันกับการปักหลักเรียกร้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาหนี้สิน จนในที่สุดคณะรัฐมนตรีมีมติ ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้ธนาคารของรัฐ ทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ที่เป็นหนี้ NPLs ซึ่งในช่วงเช้าของวันนี้ มีการนัดแนะกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการเข้าร่วมโครงการแก้หนี้ ก่อนจะมีการยุติการชุมนุมและทยอยเดินทางกลับบ้านในช่วงบ่ายของวันนี้
ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้จะมีมติเห็นชอบจาก ครม. แล้ว แต่ก็ยังมีรายละเอียดเงื่อนไขทางกฎหมายอีกหลายประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจกับชาวนา ในวันนี้จึงได้นัดหมายอีกครั้ง เพื่อประชุมชี้แจงความเข้าใจ
“เกษตรกรต้องมีเงื่อนไขรายละเอียดหลายเรื่องที่ต้องตกลงทำข้อตกลงกับกองทุนฯ ฉะนั้นเมื่อเป็นกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเกษตรกรก็ต้องยอมรับเลยจำเป็นต้องทำข้อตกลงกันระหว่างตัวเกษตรกรทุกคนที่ได้สิทธิ์ ทั้งนี้เบื้องต้นมี 50,000 รายชื่อ แต่ยอดรวมทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกประมาณ 200,000 กว่ารวมแล้วประมาณ 320,000 กว่าคนในจำนวนนี้ก็ต้องทำข้อตกลงกับกองทุนทั้งหมด วันนี้เราจึงต้องประชุมชี้แจงรายละเอียดว่าข้อตกลงที่เราจะทำจะเป็นไปอย่างไรทำไปเพื่ออะไรและจะเกิดผลดีและผลเสียต่อตัวเขา”
ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครื่อข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย
ชรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มติ ครม. ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่มีการจัดการหนี้ได้โดยกองทุนฟื้นฟู ฯ โดยตลอด 16 ปีที่ผ่านมาเป็นการจัดการในเชิงกลุ่มเล็ก ในเชิงปัจเจกเท่านั้น อาทิ สหกรณ์การเกษตร ธนาคารพาณิชย์ บริหารสินทรัพย์ แต่ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธกส. ถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่สุดขึ้นทะเบียนไว้ที่กองทุนประมาณเกือบ 300,000 รายยังไม่เคยได้ถูกแก้ปัญหา
“ครั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่มากที่เราสามารถจัดการหนี้ก้อนใหญ่ได้ถึง 320,000 ราย จะไปอย่างไรต่อ ผมว่าเมื่อเกิดการจัดการได้และมีประสิทธิภาพสะท้อนชัดเจนว่าสามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาหนี้ในอนาคตของเกษตรกรไทยก็จะเดินไปตามแนวทางนี้”
ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครื่อข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย