ยืนยัน เข็นทุกร่างฯ เข้าสภาฯ พร้อมกัน เตรียมลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เก็บข้อมูล รับฟังความต้องการพี่น้องชาติพันธุ์เพิ่มเติม หวังสร้างกฎหมายให้สมบูรณ์แบบ
วันนี้ (9 ม.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยกับ The Active ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี ถึงความคืบหน้าการผลักดันร่างกฎหมายชาติพันธุ์ โดยยืนยัน ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญมาก ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้พี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเชื้อสาย ที่อยู่ในประเทศไทย มีกฎหมายรองรับ ที่จะอยู่อย่างภาคภูมิใจมากขึ้น ซึ่ง 1 ใน 4 ร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน อย่าง ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คือให้มีกลไกสภาชนเผ่าพื้นเมืองด้วย เพื่อกำหนดถิ่นที่อยู่ อาชีพ และการบริหารจัดการกันเอง ซึ่งช่วงราว ๆ ปลายเดือนนี้ ตนจะไปพูดคุยโดยตรงกับพี่น้องชาติพันธุ์ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เชื่อว่าจะได้รายละเอียดเพิ่มเติม ว่าพี่น้องมีความประสงค์ ความต้องการอะไรเพิ่มเติมบ้าง เพื่อจะประเมินให้ครอบคลุม ออกมาเป็นกฎหมายให้สมบูรณ์ที่สุด
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม หรือ ฉบับของรัฐบาล ความคืบหน้าล่าสุด คือสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ส่งให้ ครม.แล้ว คาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. จากนี้ภายใน 2 สัปดาห์
“กระทรวงวัฒนธรรม ส่งเข้ามาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คิดว่าไม่เกิน 2 อาทิตย์ จะนำเข้า ครม. น่าจะหลังจากที่ลงพื้นที่ไปพบตัวแทนพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มต่าง ๆ ที่ จ.แม่ฮ่องสอน ก็จะได้เอาข้อมูล ที่จะได้รู้ถึงความต้องการของพี่น้อง และเรื่องต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย”
เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : จับตา ครม. จ่อถกร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ยังยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี ให้นโยบายชัดเจนเรื่องนี้ อยากให้พี่น้องทุกกลุ่ม ที่อยู่ในชายแดนให้เขามีความผูกพันธ์ และจะได้ขอความร่วมมือ การป้องกันยาเสพติด หรือเรื่องอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเห็นว่า การที่มีกฎหมายยังสำคัญในส่วนที่จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีทะเบียนต่าง ๆ รองรับ การแจ้งเกิดชั่วคราวเอาหลักฐานนี้ไปประกอบ ให้เกิดตรงนี้จริง ให้มีเอกสารสำคัญ เพราะที่ผ่านมายังเจอปัญหาบางคนเกิดมาไม่มีเอกสารอะไรไปเสนอนายทะเบียน เพื่อขอมีชื่อในทะเบียนบ้าน มีสัญชาติไทย ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหน้าที่กรมการปกครองด้วย ที่จะต้องออกหนังสือรับรองการเกิด การรองรับเขาในการที่จะเข้าให้ถูกต้องตามระเบียบมากขึ้น มีหลักฐานชัดเจนขึ้น
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 1 ฉบับ คือร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างอภิปรายเห็นชอบในหลักการ และมีมติให้ ครม. นำกลับไปพิจารณาตามกรอบระยะเวลา 60 วัน ภายใต้เงื่อนไขให้นำร่าง พ.ร.บ.อีก 3 ฉบับ คือ ฉบับของรัฐบาล, พรรคก้าวไกล และภาคประชาชน โดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) รวมเป็น 4 ฉบับ เข้ามาพิจารณาในสภาฯ พร้อมกัน