จับตา ครม. จ่อถกร่าง พ.ร.บ. ชาติพันธุ์

หวังรัฐบาลรีบพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทุกฉบับ ที่เกี่ยวข้องใน 1-2 สัปดาห์ เชื่อสังคมไทยเสมอภาค แก้เหลื่อมล้ำ ลดอคติ มุ่งหน้ายกระดับทุนวัฒนธรรม บนความหลากหลาย สู่ “ซอฟต์พาวเวอร์” จากฐานราก

วันนี้ (7 ม.ค.67) อภินันท์ ธรรมเสนา  ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ โดยกระทรวงวัฒนธรรม ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ในฐานะคณะทำงานยกร่างฯ และถือเป็นร่างกฎหมายฉบับของรัฐบาล ซึ่งภายหลังจากที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบต่อหลักการ ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่ถือเป็น 1 ใน 4 ร่าง กม.ชาติพันธุ์ และเป็นฉบับแรกที่บรรจุวาระในการพิจารณาของสภาฯ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2566 พร้อมทั้งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปศึกษาภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน ก่อนจะนำร่างกฎหมายดังกล่าว และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวม 4 ฉบับ ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เข้ามาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกัน ดังนั้นจึงเห็นว่า การดำเนินการของรัฐบาลไม่น่าจะช้าไปกว่านี้อีกแล้ว 

อภินันท์ ธรรมเสนา ผจก.ฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

“ร่างฯ ฉบับรัฐบาล ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ ดำเนินการตอนนี้ ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และกระบวนการต่าง ๆ แล้ว คือรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเรียบร้อย โดยส่วนราชการต่าง ๆ ก็ให้ความเห็นแล้ว หลังจากนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลจะเอาร่างฯ มาพิจารณาใน ครม. ซึ่งคาดว่าน่าจะภายใน 1-2 สัปดาห์นี้”

อภินันท์ ธรรมเสนา

อภินันท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความเห็นตามวงประชุมต่าง ๆ ทั้งนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ไปยัง ครม.รอบแรกในรัฐบาลชุดก่อน ซึ่งตอนนั้น สำนักงานเลขานายกรัฐมนตรี ก็ส่งหนังสือเวียนหน่วยงานต่าง ๆ อาจยังมีคำถาม ข้อสงสัยหรือกังวลอยู่บางประเด็น ก็ได้เอามาปรับ และได้ส่งกลับไปอีกรอบ 

โดยรอบที่ 2 แต่ละหน่วยงานตอนนั้นทุกกระทรวง รับหลักการ คือเห็นชอบให้ ครม.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.แต่มีเพียงกระทรวงเดียว คือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ได้เขียนตรงไปตรงมาว่า รับหรือไม่รับหลักการ และมีข้อคำถาม ข้อกังวลในเรื่องพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ในมาตรา 32 วรรคท้ายที่ใช้คำว่า ในกรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่คุ้มครองกระทำการใด ๆ ก็ตาม แม้กฎหมายฉบับอื่นระบุเป็นความผิด จะไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งกังวลว่าคือการเว้นโทษ  แต่จริง ๆ แล้ว หากมาดูในรายละเอียดการจะได้มาซึ่งหลักปฏิบัติในการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ  ต้องผ่านกรรมการ คือผ่านการพิจารณาของทุกหน่วยงาน รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรฯ ด้วยอยู่แล้ว ถ้ายังทำตามกติกาแล้วผิดอยู่ ก็ดูจะไม่ใช่ เพราะฉะนั้น เลยเขียนบังคับรับเอาไว้ด้วย ประเด็นนี้ เป็นมาตราที่กระทรวงทรัพยากรฯ ไม่สบายใจ แต่ได้ทำความเข้าใจไปแล้ว และทางกฤษฎีกา ที่ประชุมกัน ก็บอกให้ระบุไว้เช่นนี้ก่อน  เพราะกฎหมายหลายฉบับก็ใส่ไว้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน  คือใน พ.ร.บ.อุทยานฯ ก็ใส่คำลักษณะนี้ติดไว้เช่นเดียวกัน จึงอยากให้ดูหลักขั้นตอนกระบวนการการได้มาซึ่งพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรม ไม่ได้มาง่าย ๆ มีกระบวนการพิจารณาจากทุกฝ่ายมาอย่างรอบด้านแล้ว 

ทั้งนี้มองว่า หากมองในแง่ขององคาพยพการขับเคลื่อนกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นฉันทามติของทุกภาคส่วน อยากให้มีกฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น ขณะเดียวกันถ้ามองในแง่ของรัฐบาลเอง ส่วนตัวคิดว่า กฎหมายนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ทำให้รัฐบาลมีผลเสียอะไรเกิดขึ้น เพราะถ้าดูในหลักการกฎหมาย ไม่ว่าฉบับใด ก็เป็นหลักการของการยอมรับสถานะการดำรงอยู่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย การคุ้มครองสิทธิ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 70 กำหนดไว้อยู่แล้ว ว่าต้องคุ้มครองเขา เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเงื่อนไขหรือไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะไม่มีกฎหมายฉบับนี้  

ในส่วนของรัฐบาลเอง ส่วนตัวเข้าใจว่า ถ้าวิเคราะห์จากที่มีการอภิปรายในสภาฯ ต่อร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จะเห็นท่าทีที่ค่อนข้างจะเป็นบวกจากทั้งฝั่งรัฐบาล และฝั่งฝ่ายค้านที่สนับสนุนให้มีกฎหมายในลักษณะแบบนี้ 

 “ตอนนี้เราคิดว่าถึงจุดที่สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่สังคมที่เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม เราผ่านหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งก็เป็นการพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่อันนี้คือการขับเคลื่อนอีกขั้น ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งเราคิดว่า เป็นโอกาสของกฎหมายฉบับนี้ ในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะขับเคลื่อนต่อไปได้“

อภินันท์ ธรรมเสนา

อภินันท์ ยังย้ำถึงประโยชน์ของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ใน 3 ส่วน คือ 1. ในแง่ของการดำรงรักษาทุนทางวัฒนธรรมของประเทศ คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเงื่อนปัจจัยสำคัญ สำหรับการมีหลักเพื่อส่งเสริมคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ในชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะถูกมองว่าเป็นภาระ แต่ถ้ามองกฎหมายฉบับนี้ เป็นการส่งเสริมศักยภาพ จะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์ใช้ศักยภาพตัวนี้ เอาทุนวัฒนธรรมมาต่อยอดให้เป็นมูลค่า ที่ทำให้สังคมไทยมีความเข้มแข็งบนฐานทรัพยากรเราได้ 

และต่อยอดสู่เรื่องที่ 2 คือ เศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าทำให้คนกลุ่มนี้มีความเข้มแข็ง ดูแล พึ่งพาตัวเองได้ งบประมาณแผ่นดินจะสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อรัฐไม่ต้องใช้งบประมาณในมโนทัศน์แบบเดิม คือการสงเคราะห์ ต้องจ่ายเงินแก้ปัญหารายประเด็นซ้ำซาก แต่ถ้าเสริมความเข้มแข็ง ให้พลังพี่น้องชาติพันธุ์เข้มแข็งแล้ว เชื่อมั่นในประสิทธิภาพแล้ว เปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรม เปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ ก็ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีตัวตน พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น ก็จะสามารถจะพึ่งตนเองได้ และทำให้รัฐมีทุนทางวัฒนธรรมที่สามารถมาต่อยอดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ไม่ว่าจากการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเอาทุนวัฒนธรรมมาต่อยอดเป็นซอฟพาวเวอร์ต่าง ๆ ที่รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญตอนนี้ ก็จะทำให้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ต่อไป ซึ่งอันนี้มันมีตัวเลขชัด ในหลายพื้นที่ ที่เป็นชุมชนชาติพันธุ์ สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้กับจังหวัดนั้น ๆ เช่นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 

ประเด็นที่ 3 คือ การเสนอฐานความเข้มแข็งความมั่นคงของรัฐใน 2 มิติ 1. เสริมให้สังคมเข้มแข็งจากฐานราก เป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถหาทรัพยากรใหม่ ๆ มาใช้ในการแข่งขัน การเสริมพลังให้ชาติพันธุ์มีความสามารถจะเป็นการเสริมฐานความเข้มแข็งชุมชน แล้วจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การทำให้ประเทศเรามีความก้าวหน้ายั่งยืนได้  2. การมีกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นเงื่อนไขทำให้สังคมเข้าใจพี่น้องชาติพันธุ์มากขึ้น ลดอคติ จัดการวิถีวัฒนธรรมที่มันสอดคล้องกับที่เขาเป็นอยู่จริง ๆ ที่เขาต้องการจริง ๆ จะช่วยลดปัญหา เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคมด้วย เพราะเมื่อคนรู้สึกไม่เท่ากันจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ 

“ถ้าเราไม่รีบสำหรับการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ก่อน ความรุนแรงในสังคมจะเกิดขึ้น จากอคติที่มีต่อกัน เพราะฉะนั้นการมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดตรงนี้และทำให้ สถานภาพความมั่นคงในประเทศมันดีขึ้น”  

อภินันท์ ธรรมเสนา

อภินันท์ ทิ้งท้ายว่า ในห้วงเวลาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เรื่องนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และอาจถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าคือการผลิตแต่ตัวสินค้า แต่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ใช้มิติเชิงวัฒนธรรมประสานพลังคนในชาติ และสร้างคุณค่าความเป็นประเทศจากพลังของซอฟต์พาวเวอร์จริง ๆ บนฐานการเคารพเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม มากกว่าจะไปส่งเสริมแค่สินค้า นี่คือการสร้างซอฟต์พาวเวอร์จากฐานรากของสังคมจริง ๆ จากทุนความหลากหลายวัฒนธรรม เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและประเทศที่ยั่งยืน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active