50% ของคนไร้บ้านทั้งประเทศ อยู่ที่ กทม. ‘ชีวิตดี ๆ ที่ไม่ลงตัว’

ผลสำรวจคนไร้บ้านทั้งประเทศ พบสาเหตุหลักคือ ไม่มีงานทำ ถูกไล่ออกจากงาน ภาวะอาการป่วย ผุดโครงการ ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’ ตั้งจุด Drop in ช่วยเหลือสวัสดิการคนไร้บ้าน ภาคประชาสังคมสะท้อนปัญหาคนไร้บ้านยังมีรอยต่อความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงาน พร้อมเสนอให้มี ‘เจ้าหน้าที่ดูแลคนไร้บ้านรายบุคคล’

วันที่ 22 พ.ย. 66 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ปี 2567 แถลงผลข้อมูลสำรวจเชิงลึกสถานการณ์คนไร้บ้าน ปี 2566 

อนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านมีปัจจัย ประกอบด้วย 1) ปัญหาเชิงปัจเจก ระดับบุคคล อาทิ ภาวะอาการเจ็บป่วย ติดสารเสพติด ความพิการ หรือมีอาการทางจิต เป็นต้น 2) ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ สถานะทางเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว การเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ และการถูกผลักออกจากระดับชุมชน โดยจะเห็นชัดเจนว่า ปัญหาที่ซับซ้อนเหล่านี้ กระทรวง พม. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง ที่ผ่านมาเราได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาคีเครือข่าย รวมถึงภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหา จนทำให้ทราบว่า ประเทศไทยมีประชากรคนไร้บ้าน จำนวนกว่า 2,499 คน โดยพบมากที่สุดในกรุงเทพฯ กว่า 1,271 คน รองลงมา คือ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และตามหัวเมืองต่าง ๆ ตามลำดับ ซึ่งบุคคลเหล่านี้กำลังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ซึ่งวันนี้เป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะดึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไร้บ้านที่หลุดจากตาข่ายการคุ้มครองทางสังคมได้ขึ้นมา

“การทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร สสส. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิอิสรชน มูลนิธิกระจกเงา และภาคประชาสังคม รวมทั้งแกนนำคนไร้บ้าน และเครือข่ายอื่น ๆ ซึ่งเห็นความสำคัญของการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน พร้อมผลักดันให้เกิดนวัตกรรม การทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ และจับมือทำงานร่วมกับกระทรวง พม. เพื่อเดินไปข้างหน้าด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรทุกช่วงวัย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันในทุกมิติ”

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า คนไร้บ้านจำนวน 2,499 คน ไม่มีงานทำ ถูกไล่ออกจากงาน เป็นสาเหตุหลักของการเป็นคนไร้บ้าน รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว พบมีปัญหาติดสุรา 18.1% ปัญหาสุขภาพจิต 17.9%  ผู้สูงอายุไร้บ้านเพิ่มสูงขึ้น 22% (553 คน)  ผลการแจงนับสะท้อนข้อมูลสำคัญ เป็นความท้าทายการทำงานในอนาคต เช่น สัดส่วนคนไร้บ้านมีปัญหาด้านสิทธิสถานะ สวัสดิการสูงถึง 30%  แต่ผลการแจงนับครั้งนี้พบว่า ภาวะไร้บ้านเป็นเพียงช่วงหนึ่งของชีวิต และมีคนไร้บ้านหน้าใหม่ที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านไม่เกิน 2 ปี 39% ซึ่งงานศึกษาของจุฬาฯ ร่วมกับ สสส. ชี้ให้เห็นว่า หากสนับสนุนคนไร้บ้านได้อย่างเท่าทัน ครอบคลุมทุกมิติ จะช่วยให้ตั้งหลักชีวิตได้รวดเร็ว ไม่เกิดคนไร้บ้านถาวร (permanent homeless)

“สสส. ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กระทรวง พม. ทำต้นแบบป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านถาวร ป้องกันกลุ่มเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ทั้งโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งสสส. สนับสนุนการเช่าที่อยู่ 60% และคนไร้บ้านสมทบ 60% ต่อเดือน ส่วนเกิน 20 % นำเข้ากองทุนเพื่อช่วยเหลือสวัสดิการคนไร้บ้าน ทำให้คนไร้บ้านกว่า 50 คน มีที่อยู่ มีอาชีพ รายได้มั่นคงขึ้น ตลอดจนพัฒนาระบบศูนย์พักคนไร้บ้าน ที่เน้นกระบวนการจัดการตนเองของคนไร้บ้าน เสริมความเข้มแข็งในมิติทางสังคม และสุขภาพ สสส. ยังทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร พม. และเครือข่ายอาสาสมัคร พัฒนาระบบจุดประสานงาน คนไร้บ้าน (จุด Drop in) สนับสนุนสวัสดิการ บริการทางสังคม สุขภาพคนไร้บ้าน ลดความเปราะบาง และหนุนเสริมคนไร้บ้านหน้าใหม่ให้เข้าถึงสวัสดิการ ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมได้”

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดการแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า “การแถลงผลแจงนับฯ ครั้งนี้ เป็นครั้งที่สองที่มีการแจงนับคนไร้บ้านทั้งประเทศ และเป็นครั้งแรกที่มีการสำรวจข้อมูลเชิงลึกครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ ข้อมูลทางประชากรดังกล่าว จะนำไปออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน และป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ที่มีความสอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ผลการสำรวจ ได้สะท้อนให้เห็นการทำงานในประเด็นคนไร้บ้านหลายประการ

“สัดส่วนคนไร้บ้านสูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายในกระบวนการป้องกัน และฟื้นฟูคนไร้บ้านในอนาคต ความยากลำบากในการมีงาน และรายได้ที่มั่นคงของกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อภาวะไร้บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงก่อนสูงวัย (pre-elderly)  ซึ่งทางจุฬาฯ และเครือข่าย จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่อไป ตลอดจนวางแผนสำรวจจำนวนคนไร้บ้านในวิธี capture-recapture method สุ่มตัวอย่างนับจำนวน ซึ่งจะทำให้สามารถคาดการณ์จำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาวะไร้บ้านสะสมในแต่ละปี มีส่วนสนับสนุนในการออกแบบเชิงนโยบายต่อไป”

อัจฉรา สรวารี เลขาธิการ มูลนิธิอิสรชน กล่าวว่า ปัญหาคนไร้บ้านคือปัญหาระบบสวัสดิการ แต่การทำงานร่วมกับระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคมสามารถช่วยทำให้การแก้ปัญหามีความคืบหน้าได้ แต่ปัญหาของคนไร้บ้านไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพียงหน่วยงานเดียวแต่ยังเชื่อมโยงไปกับหน่วยงานหรือกระทรวงอื่นๆ ของรัฐ ด้วยปัญหาเชิงซ้อนต่างๆ ซึ่งยังขาดคนกลางที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระบบ ดังนั้นวิธีการทำงาน ในปัจจุบันการช่วยเหลือที่ประสบความสำเร็จจึงเป็นลักษณะ case by case และอาจจะมีอุปสรรคของคนทำงานเบื้องหน้าที่ยังจะต้องทำงานหนัก จึงอยากให้หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องหันมามองปัญหาเดียวกันนี้ และมองในมิติที่หลากหลายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในอนาคตต่อไป

“เคสในลักษณะเดียวกันอาจจะแก้ปัญหาได้ยากง่ายต่างกัน เช่น เรื่องการทำบัตรประชาชน บางเขตทำให้ได้ แต่บางเขตยังไม่ยอมทำให้ ก็ยังพบว่ามีปัญหาอย่างนี้อยู่ ซึ่งตอนนี้ใช้กำลังการต่อสู้ หรือการดำเนินงานโดยภาคีการมีส่วนร่วมเฉพาะกิจนี้ เรียกว่าการทำงานมิติใหม่กำลังเกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่อยากให้หน่วยงานอื่นมีร่วมกันแก้ปัญหา แก้ไขระบบการทำงานให้ดีขึ้น”

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง ผู้จัดการฝ่ายงาน วิเคราะห์นโยบายและวางแผน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า คนไร้บ้านต้องการบ้าน แต่มันไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังต้องการที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ ทางสังคม เช่น สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ หรือแม้แต่การทำบัตรประชาชน ควรที่จะจัดให้มีหน่วยงาน หรือผู้ให้บริการที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้รายบุคคล โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน

“คนไร้บ้านถูกกดทับมาตลอดจนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองควรที่จะมีสิทธิอะไรบ้าง เช่น ป่วยจะไปรักษาได้อย่างไร จะไปยังไง ต้องติดต่อประสานงานอย่างไร ดังนั้นสิ่งที่กระจกเงาอย่างจะเสนอ คือ อยากให้มี Case Manager หรือ CM เพื่อให้คนไร้บ้านเข้าถึงสิทธิได้ จำนวนคนไร้บ้านที่มีอยู่ราวๆ 2,000 คน หากเจ้าหน้าที่ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลในส่วนคนไร้ที่พึ่งมีอยู่แล้วใน 77 จังหวัด มีเจ้าหน้าที่มากมาย ก็สามารถที่จะรับบทบาทตรงนี้ได้เลย เข้าใจว่ามีการทำอยู่แล้ว แต่ยังมีปัญหาและช่องว่างการทำงานที่มันขาดไปก็อยากจะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active