ผุด 7 นโยบายรอบด้าน สร้างเส้นทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม แผนจัดการภัยพิบัติเชิงระบบ เศรษฐกิจแบบเกื้อกูล ส่งต่อการเติบโตของเมือง – คน แบบกระจาย เป็นธรรม ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 67 ประสิทธิ์ชัย หนูนวล นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม และ เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย เปิดเวทีแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดพัทลุง ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วยทีมงาน คนสร้างเมือง
ประสิทธิ์ชัย ย้ำว่า แม้จังหวัดพัทลุงจะอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและความสามารถของพลเมือง แต่จากรายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลับพบว่า จังหวัดพัทลุง เป็นจังหวัดที่มีความยากจนเป็นอันดับ 4 ของประเทศ อีกทั้งสัดส่วนงบประมาณทางเศรษฐกิจที่มีเพียง 0.1% สวนทางกับการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงที่เป็นเรื่องหลัก จึงมีความต้องการให้ประชาชนในจังหวัดหลุดพ้นจากความยากจน มีความสุข มีรายได้ที่มั่นคง มีสุขภาพที่ดี และเป็นเมืองที่ทุกคนสามารถใช้ความสามารถสร้างกิจการที่ตัวเองรัก ภายใต้แนวทาง ‘เมืองอัจฉริยะในโลกธรรมชาติ’ ด้วยความเชื่อที่ว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการสร้างเมือง โดยมีการร่วมกันกำหนดทิศทางสำคัญสำหรับการบริหาร 4 ประการ เพื่อให้นโยบายที่หาเสียงไว้เป็นจริงได้ ดังนี้
- กำหนดทิศการพัฒนาให้ถูก
- การมีนโยบายที่ทำให้ทิศนั้นเป็นจริงได้
- สร้างเครื่องมือผลักดันนโยบายที่มีประสิทธิภาพจริง
- การจัดสรรงบประมาณที่กระจายทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม
สร้างเส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ประสิทธิ์ชัย บอกว่า จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พบว่า เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แม้แต่คนในพื้นที่เองยังไม่รู้ว่าในจังหวัดพัทลุงมีประวัติศาสตร์หรือโบราณสถานสำคัญที่ไหนบ้าง
การสร้างเส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมให้ประชาชนในจังหวัดพัทลุงได้รับรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่พื้นฐานการพัฒนาเมือง โดยเสนอให้มี แอปพลิเคชัน แสดงพิกัดสถานที่สำคัญตามประวัติศาสตร์ พร้อมจัดทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและตระหนักถึงคุณค่าของเมือง ด้วยความเชื่อที่ว่าการรู้ประวัติศาสตร์เมืองของตัวเองจะทำให้ประชาชนรักในแผ่นดินและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงจังหวัดพัทลุงให้ดียิ่งขึ้น
“การสร้างเส้นทางประวัติศาสตร์ให้ในเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ จะทำให้คนพัทลุงเข้าถึงรากเหง้าของตัวเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเมืองให้ไปได้ไกล”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
แผนจัดการภัยพิบัติเชิงระบบ
สำหรับปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต้องเผชิญคือเรื่องภัยพิบัติ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่โลกอยู่ในสภาวะโลกรวน จนหลายพื้นที่ต้องเริ่มปรับตัวกับสภาพอากาศที่แปรปรวน นี่เป็นอีกประเด็นที่ ประสิทธิ์ชัย มองว่า การจัดการกับภัยพิบัติด้วยมาตรการเดิม เช่นเดียวกันกับ 10 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถจัดการกับภัยพิบัติในยุคปัจจุบันแล้ว จึงให้ความสำคัญในเรื่องการจัดการภัยพิบัติเป็นลำดับต้น ๆ เนื่องจากผลพวงจากสภาวะโลกรวนสร้างความเสียหายไปสู่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่กับสิ่งแวดล้อมถึง 97%
“เรื่องที่หนักกว่าน้ำท่วมคือ ภัยแล้ง เพียงแล้งแค่ 1-2 เดือน ทุเรียนตาย ปาล์มตาย ต้องใช้เวลา 7 ปี เพื่อให้การเกษตรฟื้นตัว เพราะต้องปลูกใหม่ และเชื่อว่าพัทลุงจะเจอภัยแล้งติดต่อกัน 2-3 เดือน อย่างแน่นอน ผลกระทบทางการเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็ต้องตายไปด้วย”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
จึงเห็นว่า แผนจัดการภัยพิบัติเชิงระบบ คือทางออกสำหรับการป้องกันภัยพิบัติ และนำไปสู่การออกแบบเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งในการกระบวนการทำงานเรื่องแผนจัดการภัยพิบัติเชิงระบบ จะต้องสำรวจพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจุดวิกฤตภัยพิบัติในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงการวางแนวทางระบบถนน น้ำ บ้านเรือน ในทุกพื้นที่ทั่วพัทลุงอย่างครบวงจร
“เพราะเมื่อไรก็ตามที่ไม่มีระบบป้องกันภัยพิบัติ การออกแบบเมืองจะเป็นไปไม่ได้เลย”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ระบบสุขภาพหนึ่งเดียว (one health system)
จากข้อมูลสุขภาพของประชากรในจังหวัดพัทลุง พบว่า ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และความดัน จำนวนมาก จนทำให้โรงพยาบาลในอำเภอต่าง ๆ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งปัญหาสุขภาพ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ ประสิทธิ์ชัย มองว่า เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเมืองให้ไปต่อได้ในเรื่องอื่น ๆ ด้วย โดยเสนอให้มี ระบบสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health System) เพราะสุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากโครงสร้างหมู่บ้าน
เริ่มต้นโดยกำลังสำคัญอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ต้องการให้ 2 ส่วนนี้เป็นตัวช่วยในการจัดการระบบสุขภาพของคนในชุมชน ร่วมกับ กองสาธารณสุขขององค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เกิดเป็นระบบเชื่อมโยงกันเพื่อให้การทำงานด้านสุขภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ผู้ป่วยรักษาโรคด้วยยาแผนปัจจุบันร่วมกับยาสมุนไพร ที่มีอยู่ในจังหวัดพัทลุงอยู่แล้ว รวมถึงให้สำรวจสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่เชิงรุกในเขตรับผิดชอบ และสร้างระบบสุขภาพปฐมภูมิ เพื่อลดภาระหน้าที่ของโรงพยาบาลและเพิ่มความสะดวกให้กับประชนชนจังหวัดพัทลุงด้วย
“หลายหน่วยงานร่วมมือกัน จะทำให้ระบบสุขภาพของคนพัทลุง เป็นระบบสุขภาพหนึ่งเดียว เพราะเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ จึงกลายเป็นนโยบายหลักของทีมงานคนสร้างเมือง”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
แนวทางเศรษฐกิจเกื้อกูล
จากการสำรวจของทีมงานคนสร้างเมือง ตามพื้นที่ต่าง ๆ ใน 11 อำเภอ พบว่า เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับคนพัทลุงไม่ได้มีแค่ยางพารา ปาล์ม และการท่องเที่ยว แต่ยังมีอีกกว่า 30 อาชีพ ที่หน่วยงานรัฐไม่ได้ลงไปสำรวจอย่างจริงจัง แนวทางการจัดการเรื่องเศรษฐกิจในจังหวัดพัทลุงจึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของคนพัทลุงจากทุกอาชีพที่ได้เข้าไปสำรวจ
นอกจากนี้ยังพบว่า จังหวัดพัทลุงมีเกษตรกรถึง 140,000 คน และมีสถานประกอบการทั้งหมด 18,000 แห่ง สิ่งที่น่าสนใจจากข้อมูลข้างต้นคือ ในจำนวนนี้ มีจำนวนถึง 97% ที่เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก โดยมีการจ้างงาน 1-5 คน ซึ่งจากมุมมองในทางเศรษฐศาสตร์ แสดงให้เห็นว่า 97% ในองค์กรธุกิจของคนพัทลุงเป็นของคนพัทลุงทั้งสิ้น เพราะเมื่อไรที่ธุรกิจมีลักษณะเล็ก ก็จะมีการจ้างงานคนในท้องถิ่น
ดังนั้น หากจะพัฒนาเศรษฐกิจพัทลุงให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิ์ชัย มองว่า ต้องใช้ ‘แนวทางเศรษฐกิจเกื้อกูล’ เพื่อให้ประชาชนมีการเติบโตแบบกระจาย เป็นธรรม และยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมงานคนสร้างเมืองให้ความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาเมือง โดยให้มีการพัฒนาเชิงระบบด้วย 3 กลไก ดังนี้
- แผนปฏิบัติการสำรวจและพัฒนาคุณภาพการผลิต
- แผนการยกระดับและแปรรูป
- แผนการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
พัทลุงเมืองแห่งสายน้ำสีเขียว
น้ำสำหรับ ประสิทธิ์ชัย จึงไม่ใช่เพียงทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียว แต่น้ำคือรากฐานของชีวิตที่จะทำให้องค์รวมของการพัฒนาไปต่อได้หากมีการจัดการสายน้ำในเมืองพัทลุงที่ดี ซึ่งในวิสัยทัศน์ ต้องการให้พัทลุงเป็นเมืองสายน้ำสีเขียวจังหวัดแรกของประเทศภายใน 10 ปี ขณะนี้มีการตั้ง สภาน้ำ และได้มีการตกลงระหว่างหน่วยงานที่จะทำแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันแล้ว จึงเชื่อว่าในอนาคต พัทลุงจะหลายเป็นเมืองแห่งสายน้ำสีเขียวได้อย่างแน่นอน
“สภาน้ำ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคนสร้างเมือง นี่เป็นความก้าวหน้าที่จังหวัดอื่นไม่มี”
ประสิทธิ์ชัย หนูนวล
ระบบขนส่งสาธารณะ
ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเมือง เพราะมองว่า เมื่อพัทลุงมีคนส่งสาธารณะที่ดีจะทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกในการเดินและทท่องเที่ยวในจังหวัดพัทลุงมากขึ้น โดยเสนอให้จัดทำระบบขนส่งสาธารณะเช่นเดียวกับ กทม. ให้สะดวก ปลอดภัย และตรงเวลา ด้วยแอปพลิเคชัน ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับผู้คนในชุมชนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการขนส่งเพื่อไม่ให้เกิดกระทบกับรายได้ของคนในพื้นที่
เมืองท่องเที่ยวในโลกธรรมชาติ
สำหรับทรัพยากรทางธรรมชาติของพัทลุง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามายังจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ เพราะเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับประชาชนในภาพรวม จึงได้มีข้อเสนอให้มีการสร้างสมรรถนะการท่องเที่ยว 5 ด้าน ดังนี้
- รักษาพื้นที่ธรรมชาติเพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวทรงคุณค่า
- ใช้อาหารพื้นถิ่นเป็นหลักรับรองนักท่องเที่ยวพัทลุง
- สร้างระบบการขนส่งให้สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้สะดวก
- พัฒนาทักษะการสื่อสารและมาตรฐานการบริการ
- สร้างระบบเทคโนโลยีเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงข้อมูลภาพรวม
ประสิทธิ์ชัย ยังย้ำว่า 7 นโยบายที่ได้เสนอเพื่อพัฒนาเมืองพัทลุง จะไม่สามารถทำให้นโยบายเป็นจริงได้เลย หากไม่มีโครงสร้างในการทำนโยบาย จึงออกแบบกลไกเพื่อให้กระบวนการพัฒนาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
สถาบันพัฒนาศักยภาพพลเมืองพัทลุง เพื่อรับรองการพัฒนาตัวเองของพลเมืองนอกระบบการศึกษา เพื่อผลักดันให้กระบวนการสร้างอาชีพที่รักและถนัดสำหรับพลเมืองจังหวัดพัทลุง ด้วยกระบวนการต่อไปนี้
- สำรวจความต้องการ
- ออกแบบโปรแกรม
- สนับสนุนการก้าวต่อ
นอกจากนั้นยังมี ศูนย์นวัตกรรมสร้างเมือง ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการทางเศรษฐกิจที่จะพัฒนาวัตถุดิบท้องถิ่นให้มีคุณภาพ และยกระดับการผลิต การแปรรูป ตามศักยภาพของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน อีกทั้งยังทำหน้าที่เสริมนวัตกรรมด้านอื่น ๆ ด้วยกลไกการทำงานกับบุคคล องค์กร หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนความรู้ กำลังคน งบประมาณ ให้ศูนย์นวัตกรรมสร้างเมืองบรรลุผล