ชาวมอแกน เสียความรู้สึก “ศพญาติ” ถูกขุดทำพิธีล้างป่าช้า ถามใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ?

ชาวเลมอแกน ถามหาใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ที่ขอให้มูลนิธิฯ ขุดศพญาติที่เกาะกระทะ จ.ระนอง มาทำพิธี ยืนยัน ศพทุกหลุมมีญาติ มีป้ายชื่อ-นามสกุล ปักอยู่ วอน มองเห็นความเป็นมนุษย์ ด้าน สจ.ระนอง เชื่อมูลนิธิฯ มีความตั้งใจดี ช่วยให้ชาวเลมีพื้นที่ฝังศพญาติในอนาคต

วันนี้ (29 มี.ค. 2567) จากกรณี เพจระนอง นิวส์ โพสต์ภาพ พร้อมระบุว่า ล้างป่าช้า มหากุศลสามัคคี เก็บศพไร้ญาติระนอง โดยมูลนิธิระนองสงเคราะห์ พ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะ พร้อมสมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ จากทั่วประเทศ ร่วมบำเพ็ญกุศลมหาสามัคคี เก็บศพไร้ญาติ (ล้างป่าช้า) ครั้งที่ 6 โดยมีผู้มีจิตศรัทธาออกแสวงบุญนั่งเรือไปเก็บกระดูกศพไร้ญาติและศพผู้ยากไร้ที่ถูกนำไปฝังไว้ที่ เกาะกระทะ อ.เมืองระนอง ก่อนจะนำมาประกอบพิธีทางศาสนา สวดอภิธรรมกระดูกในทุกค่ำคืน 49 วัน ณ ศาลเจ้า พ่งไล่จับอิ๊กเซียวเกาะ

พร้อมระบุอีกว่า พื้นที่ที่เข้าไปดำเนินการเก็บกระดูกใน จ.ระนอง นั้น เป็นพื้นที่ที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ เป็นผู้ร้องขอให้ทางมูลนิธิระนองสงเคราะห์ เข้าดำเนินการจัดเก็บไปบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศลให้กับวิญญาณที่วายชนม์ โดยถูกต้องตามขั้นตอน ซึ่งเมื่อโพสต์ถูกเผยแพร่ไปเกิดคำถามทั้งจากโซเชียลมีเดีย และคนพื้นที่โดยเฉพาะชาวมอแกน เพราะต่างรู้ดีว่าบริเวณดังกล่าว คือ “สุสานชาวมอแกน” ไม่ใช่ศพไร้ญาติ

The Active พูดคุยกับ จีรุน ประมงกิจ ชาวมอแกน เกาะช้าง เจ้าของโพสต์ที่บอกว่า “ไม่ดีเลยนะคับ พิธีกรรมแตกต่างกัน ฝากทุกคนช่วยแชร์นะครับ ครั้งหน้าคงไม่มีเหตุการณ์ที่ทำร้ายจิตใจใครแบบนี้อีก เกาะนี้ฝังศพแม่ผมไว้ มีป้ายชื่อปักอยู่ ไม่ได้เป็นศพไร้ญาติแต่อย่างใด ผมไม่ได้อยากให้ใครเก็บกระดูกแม่ผมไป ผมไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะพูดอะไร มันจะเป็นบุญใช่ไหมครับ ถ้าสิ่งที่เกิดทำให้ผมและญาติพี่น้องอีกหลาย ๆ คนทั้งเสียใจ และโกธร เพราะเราแค่คนธรรมดา บนเกาะไม่ค่อยมีคนอยู่หรอกครับ เราอยู่ในทะเล อย่างน้อยสิทธิมนุษยชนผมมีสิทธิ์นะครับ เก็บศพไร้ญาติที่ไม่ไร้ญาติ”

จีรุน เปิดใจเล่าว่า เขารับรู้เรื่องนี้ผ่านโซเชียลมีเดีย ช่วงค่ำวันที่ 28 มี.ค. ได้เห็นแล้วน้ำตาไหล เพราะที่นั่นฝั่งศพแม่ของเขา ที่เสียชีวิตไปเมื่อ 3 ปีก่อน และเกิดคำถามว่าทำไมถึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นได้ ทั้งที่ชาวมอแกนไม่เคยไปยุ่งกับใคร แม้เขาจะมาบอกเราว่าพิธีนี้จะทำให้ได้บุญ แต่เรานับถือศาสนาคริสต์ พิธีกรรม ความเชื่อต่างกัน ชาวมอแกนเราเชื่อว่า “เราเกิดจากดิน สลายกับดิน” ขณะที่พ่อของจีรุน เมื่อทราบเรื่องก็ยืนยันว่า “ไม่ยอม” เพราะเราเคยไปหาหลุมฝังศพแม่ และยังมีหลุมของญาติ ฝังใกล้ ๆ กันด้วย

“สิ่งที่เกิดขึ้นเขาไม่ได้มาถามเราเลย คนหนุ่มสาวที่ออกทะเลทำงาน แต่ไปถามคนแก่ที่อาจฟังภาษาไทยไม่เข้าใจมากนัก เรื่องนี้เกิดขึ้นไปแล้วแก้อะไรไม่ได้ เพราะเขาทำลงไปแล้ว อยากให้มาขอโทษ เพราะเรื่องนี้ทำให้เสียใจ กระทบกับสภาพจิตใจอย่างมาก และขอว่าอย่าให้เกิดขึ้นอีก”

จีรุน ประมงกิจ
หมู่บ้านมอแกน เกาะพยาม จ.ระนอง

รสิตา ซุ่ยยัง ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น จ.ระนอง เล่าว่า ได้เข้าไปในพื้นที่เกาะพยาม กรณีที่เกิดขึ้นกระทบกับความรู้สึกพี่น้องชาวมอแกนอย่างมาก เพราะเกาะกระทะ หรือ เกาะหม้อ เป็นที่ฝังศพของชาวมอแกนมายาวนาน โดยพิธีกรรมของชาวมอแกน เมื่อมีคนเสียชีวิต จะจัดงานภายในชุมชน และมีความเชื่ออยู่ว่า “คนตายไม่ได้ทุกข์” พิธีกรรมจะจัดด้วยความสนุกสนานรื่นเริง กิน ดื่ม เต้นรำ 3 คืน ก่อนขนย้ายศพไปฝังที่เกาะกระทะ มานานนับ 100 ปี 

เมื่อถามว่าที่ดินบริเวณนั้นใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ รสิตา บอกว่า ไม่เคยมีใครเป็นเจ้าของ และการกระทำนี้ ส่งผลต่อความรู้สึก ที่เข้าไปทำกับที่ฝังศพ โดยที่ไม่มีการแจ้งมาก่อน และยืนยันว่าไม่ใช้ศพไร้ญาติ เพราะมีการฝังแบบปักป้ายชื่อและนามสกุลไว้ เพราะชาวมอแกนจะฝังศพคนตายในครอบครัวไว้ใกล้ ๆ กัน เพื่อให้สะดวกต่อการไปเยี่ยมปีละครั้ง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสำหรับชาวมอแกน ที่เกาะพยามเองเคยมีการฝังศพที่หลังหมู่บ้านด้วย แต่มีนายทุนเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และกลายเป็นบาร์ชื่อดังบนเกาะอยู่ในตอนนี้

“พี่น้องมอแกนมาร้องไห้ เรากำลังระดมเงินค่าน้ำมันเรือเพื่อเดินทางไปดูพื้นที่ตอนนี้ว่าเป็นอย่างไรแม้จะมีการชี้แจงว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาจใช้คำผิดว่าเป็นการ “ล้างป่าช้า” และเป็นการทำไปเพื่อเป็นการจัดระเบียบพื้นที่ โดยไม่มีการสอบถามความเห็นของครอบครัวเลย เขาไม่ต้องการให้ทำบุญ เพราะเขาทำให้ตอนตายไปแล้ว หรือ เพราะเห็นว่าเป็นชาติพันธุ์ จะจัดการอะไรก็ทำได้ คือ ขอให้นึกถึงความเป็นคน ว่าจะรู้สึกอย่างไรที่ไปขุดเอาศพ หรือต้องการจะยึดที่ตรงนี้” 

รสิตา ซุ่ยยัง
เอกสารอนุญาตดำเนินการ

ความเห็นอีกด้าน เชื่อมูลนิธิฯ มีความตั้งใจดี ช่วยให้ชาวเลมอแกนมีพื้นที่ฝังศพญาติในอนาคต

จำลอง พงษ์พิทักษ์ สมาชิกสภาจังหวัดระนอง ในฐานะชาวเกาะเหลา ที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวเลมอแกนเกาะเหลามาตั้งแต่เด็ก มองว่า กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะการสื่อสาร ที่ทำให้เกิดความไม่พอใจและเข้าใจผิด โดยใช้ชื่อโครงการว่า “ล้างป่าช้า มหากุศล เก็บศพไร้ญาติ“ ซึ่งในส่วนของสุสานชาวมอแกน บริเวณเกาะเหลา และ เกาะกระทะ เขามีพี่น้องครอบครัว จะใช้คำเหมารวมนี้ไม่ได้ ซึ่งตนได้คุยทำความเข้าใจแล้ว และมูลนิธิระนองสงเคราะห์ พ้งไล้จั๊บอิ๊กเซียวเกาะ เขาก็รีบฝากขอโทษชาวมอแกน และจะเปลี่ยนชื่อป้ายโครงการไปติดที่เกาะ เขียนว่างานกุศล เก็บศพไร้วิญญาณชาวมอแกน เพื่อทำพิธีส่งวิญญาน

ทั้งนี้ ตนอยากให้มองไปที่เจตนาความตั้งใจของผู้ทำโครงการนี้ที่มีความหวังดี ซึ่งจากจุดเริ่มต้นทำบุญให้ศพไร้ญาติ บนฝั่งคือ ใน ต.ทรายแดง และ ต.บางลิ้น และเมื่อทราบว่าชาวมอแกน ก็ใช้วิธีฝังศพคนในครอบครัวที่เสียชีวิตเหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อชาวมอแกนเสียชีวิต ก็จะมาขอรับบริจาคโลงศพกับมูลนิธิฯ ตลอด และเห็นปัญหาว่าสุสานทั้ง 2 ที่ทั้งเกาะเหลา และเกาะกระทะ มีพื้นที่จำกัดฝังศพกันแน่นแล้ว ขุดทีก็เจอศพ อย่างศพล่าสุดก็ต้องเอาไปฝังบนยอดเขา จึงตั้งใจจะทำพิธีล้างสุสานให้ ซึ่งพิธีดังกล่าวก็มีใช้ค่าใช้จ่ายสูงด้วย หากชาวเลจะทำกันเองก็ยาก พร้อมยังยืนยัน ก่อนตัดสินใจทำทางมูลนิธิฯ ได้เข้าไปบอกถึงความตั้งใจดังกล่าว และทำประชาคมชาวมอแกนในพื้นที่แล้ว

“เขาไปทำประชาคมที่เกาะ ทั้งเกาะเหลา เกาะช้าง ว่าเห็นด้วยไหมที่เขาจะเอาศพไปทำพิธีส่งดวงวิญญาน อยู่ในที่ทุกข์จะพ้นจากทุกข์ อยู่ที่สุขให้สุขขึ้นไป ยืนยันว่าหลังทำชาวมอแกนจะยังเอาศพใหม่เข้าไปฝังที่เดิมได้ จะไม่ต้องซ้อนทับกันแล้ว และจากนั้นก็ให้ชาวมอแกนประชุมพูดคุยกันเอง โดยไม่ไปยุ่ง จนกระทั่งชาวบ้านมาบอกว่าเห็นด้วย แต่เขาขอว่า ต้องให้สามารถเอาศพอื่น ๆ จากนี้ไปฝังตรงนั้นได้ต่อ ซึ่งได้อยู่แล้ว และก็มีที่ฝังด้วย จากเดิมที่แน่นเต็มหมดแล้ว“

จำลอง พงษ์พิทักษ์
จำลอง พงษ์พิทักษ์ สมาชิกสภาจังหวัดระนอง

ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังพร้อมออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่ารถ ค่าเรือ เพื่อให้ชาวมอแกนเดินทางมาร่วมพิธีส่งดวงวิญญาญซึ่งจะจัดใหญ่ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ ซึ่งชาวมอแกนจะได้เห็นพิธีทำบุญยิ่งใหญ่ที่ตั้งใจทำให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งตนมองว่าเป็นเจตนาที่ดี จึงขอสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ

สอดคล้องกับเพจระนอง นิวส์ ที่มีการเผยแพร่เอกสารในเวลาต่อมา ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 เป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้แทนชาวมอแกนจำนวน 2 ฉบับ เรียน มูลนิธิระนองสงเคราะห์ สาระสำคัญระบุว่า พื้นที่ที่ใช้ในการจัดการศพของชาวมอแกนเกาะเหลา ที่เสียชีวิตใกล้จะเต็มพื้นที่ และไม่เพียงพอดำเนินการฝังศพต่อไปได้ ชาวมอแกนเกาะเหลาจึงประสงค์ให้มูลนิธิระนองสงเคราะห์ เข้าดำเนินการขุดศพชาวมอแกน เพื่อนำไปร่วมบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจ อีกทั้งยังได้เผยแพร่คลิปตัวแทนชาวมอแกนเกาะเหลา หนึ่งในผู้ลงลายมือชื่อท้ายเอกสารดังกล่าว โดยเปิดเผยว่า จากปัญหาดังกล่าว ได้หารือกับชาวมอแกนที่เกาะกระทะ แล้วประสานไปที่มูลนิธิฯ ซึ่งเชื่อมโยงกับพี่น้องมอแกนมาโดยตลอด แต่หลายคนไม่เข้าใจว่าการล้างป่าช้าคืออะไร เข้าใจว่าเป็นการนำกระดูกไปทิ้ง จึงประสานให้มูลนิธิชี้แจงให้ชาวมอแกนรับทราบ พร้อมแจ้งว่าหากศพใดไม่ต้องการให้ขุดให้ทำสัญลักษณ์ไว้ โดยกระบวนการที่ทำมาตลอดสามเดือน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 มีประชาคมกันมาตลอด และมีชี้แจงจนเข้าใจทั้งสองเกาะแล้ว และมีการลงลายมือเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ แต่ผู้ที่ตั้งคำถามในโซเชียลมีเดียไม่ได้อยู่ในพื้นที่มาหลายปีแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active