โต้ ทช. อย่าอ้างเสียงคนนอก หนุนสร้างถ.เลี่ยงเมืองศาลายา-นครชัยศรี จ.นครปฐม

นักวิชาการชาวคลองโยง ชี้อย่าอ้างจำนวนมือนักเก็งกำไรที่ดิน เพื่อทำลายพื้นที่จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สิทธิชุมชนเกษตรกรรม และโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย โดยมองข้ามต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ฐานทรัพยากร

หลังจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ชี้แจงผ่าน The Active ต่อกรณีที่ชาวบ้านชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม ยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาไต่สวน เพื่อทบทวนยุติโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา – นครชัยศรี ซึ่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และสิทธิชุมชนของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง โดยมีใจความสำคัญในการชี้แจง ระบุว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.60 เห็นด้วย กับแนวทางการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีประโยชน์ แก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวม รองรับการเจริญเติบโตของเมือง รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม ให้มีความสมบูรณ์ ประกอบกับแนวสายทางที่ได้รับการคัดเลือกมีผู้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และมีมูลค่าการลงทุนต่ำที่สุด“

รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง นักวิชาการ ในฐานะชาวบ้านชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม โพสผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โต้กลับและตั้งคำถามถึงกรมทางหลวงชนบททันที ว่า

“โปรดอย่าอ้างจำนวนมือส่วนมากของนักค้า-เก็งกำไรที่ดินและปัญหาจราจรของคนในเมือง  เพื่อทำลายพื้นที่จัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สิทธิชุมชนเกษตรกรรม และโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย“

“บริษัทที่ปรึกษาฯ มองความคุ้มทุนเฉพาะต้นทุนการเวนคืนที่ดินของชาวนาและเกษตรกรราคาถูก ๆ โดยมองไม่เห็นต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร แต่มองไม่เห็นวิถีชีวิตการทำมาหากินของอาชีพเกษตรกรและชาวนา ทุนทางสังคมของชุมชนดั้งเดิมที่จะถูกทำลายไป”

ทั้งนี้ ชาวโฉนดชุมชนคลองโยง ขอชี้แจงกลับไปยัง จีระพงษ์ ปิณฑะบุตร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ดังนี้

1.ข้ออ้างเรื่องคนส่วนใหญ่ของประชาชน ร้อยละ 77.6 ว่าเห็นด้วยกับการสร้างถนนสายนี้  “ประชาชน” ที่ระบุก็คือ ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงตามแนวถนน คือประชาชนในตำบลใกล้เคียงและในจังหวัดนครปฐมที่จะได้รับประโยชน์ด้านการจราจร คำถามก็คือ เราควรใช้เสียงส่วนใหญ่เช่นนี้ มาตัดสินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะชุมชนและผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะแสดงความเห็นด้วยอย่างแน่นอน ดังตัวอย่างการก่อสร้างเขื่อนปากมูน ฝายราษีไศล ฝายหัวนา ฯลฯ โรงไฟฟ้าบ้านกรูด-บ่อนอก ฯลฯ  ผู้ดำเนินโครงการปฏิบัติเช่นเดียวกันคือ ระบุ “ประชาชน” ที่เกี่ยวข้องที่ครอบคลุมไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้าในเมือง เกษตรกรในพื้นที่ห่างไกลที่จะมีโอกาสได้ใช้น้ำจากระบบชลประทาน ฯลฯ

การสำรวจความเห็นทุกโครงการจึงได้ผลออกมาว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการทั้งสิ้น ผลที่ตามมาของโครงการที่กล่าวถึงก็คือ การผลิตไฟฟ้าก็ทำได้น้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญต่อระบบไฟฟ้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายมากกว่ามูลค่าของโครงการ ฯลฯ ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการต้องสูญเสียที่ดิน ระบนิเวศของลำน้ำ ชุมชนล่มสลาย ฯลฯ แต่โครงการก็ได้ก่อสร้างไปแล้วโดยอาศัยข้ออ้างเรื่อง “เสียงส่วนใหญ่” ที่ได้จากผลการสำรวจ

“ เราเห็นว่า การอ้าง “คนส่วนใหญ่เห็นด้วย” แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการตัดสินใจดำเนินโครงการ เป็นความหลักการ “เสียงส่วนใหญ่” ที่ผิดพลาดอย่างมาก เพราะเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้นับกันที่จำนวนผู้ยกมือ แต่ต้องมีหลักการบรรทัดฐานบางอย่างรองรับด้วย ดังกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ลงคะแนนเสียงเพื่อขอเสียงส่วนใหญ่รับรองว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นญัติแบบหนึ่ง ซึ่งนักกฎหมายชั้นนำของประเทศไทยได้ชี้ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้เพราะขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ยอมรับร่วมกัน “

กรมทางหลวงชนบท จึงไม่สามารถระดมผู้คนใกล้เคียงที่ได้รับประโยชน์จากโครงการ ซึ่งอย่างไรก็ต้องเห็นด้วยกับการสร้างถนนขนาดใหญ่ 4 ช่องจราจร กว้าง 50 เมตร ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ก็พูดในเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งว่า ถนนเส้นนี้จะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นหลายเท่าแน่นอน  จะทำให้เมืองและความเจริญขยายออกมา ทำให้การทำมาค้าขายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง  โครงการบ้านจัดสรร ฯลฯ มีจำนวนมากของผู้ต้องการขายที่ดิน นายหน้าค้าที่ดิน นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ย่อมยกขึ้นสนับสนุนอย่างท่วมทันแน่นอน นั่นไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่เป็นเพียง “จำนวนมือส่วนมาก” ของนักค้า-เก็งกำไรที่ดินและปัญหาจราจรของคนในเมืองที่นับได้เท่านั้น  

2. กรมทางหลวงชนบทต้องเข้าใจเสียใหม่ว่า หลักเสียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ตัวเลข หรือมือที่ยกกันเป็นฝักถั่วแล้วนับจำนวนข้างมากว่าไปในทิศทางไหน แต่ต้องคำถึงนึงหลักการที่รองรับความชอบธรรมของการยกมือด้วย ไม่ใช่อาศัยเสียงส่วนใหญ่แบบนับจำนวนมากที่สุด   เช่น ต้องคำนึงหลักสิทธิชุมชนที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง คำนึงลักษณะการใช้พื้นที่เกษตรกรรมที่จะต้องได้รับความคุ้มครอง พื้นที่โฉนดชุมชนและสหกรณ์ที่ดินคลองโยง เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนของประเทศไทย โดยมีความเป็นมาจากการจัดตั้งเป็นสหกรณ์นิคม ในรูปแบบสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน และพัฒนาการสู่การมอบที่ดินในรูปแบบกรรมสิทธิ์ร่วมแบบโฉนดชุมชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ชาวบ้านถือครองร่วมกันในรูปแบบของสหกรณ์ที่ดินคลองโยงจำกัด ซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยแปลงละ 20 ไร่ 83 แปลง แต่มีครัวเรือนขยายตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้มากกว่า 250 ครัวเรือน และพวกเราอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนชาวนาดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 150 ปีมาแล้ว

“โปรดอย่าใช้มือจำนวนมากที่ไม่มีหลักความชอบธรรมรองรับของบรรดานักค้าและเก็งกำไรที่ดิน ชีวิตของคนเมืองที่ต้องการความสะดวกด้านจราจร เป็นปัจจัยตัดสินใจโครงการที่ทำลายชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องได้รับสิทธิมคุ้มครองปกป้อง“

3.บริษัทที่ปรึกษาซึ่งกรมทางหลวงว่าจ้าง ประเมินความคุ้มทุนมิติเดียวคือ โครงการสามารถเวนคืนที่ดินในราคาถูกเท่านั้น ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่า โครงการไม่ต้องประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ในข้อเท็จจริงพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่เปราะบาง พื้นที่รับน้ำ ฯลฯ ผู้เชี่ยวชาญจากชมรมรักษ์แม่น้ำท่าจีนได้เสนอความเห็นหลายครั้ง การอ้างข้อยกเว้นโดยอาศัยระเบียบและกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงสภาพพื้นที่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะนำมาสู่ความเสียหายเช่นเดียวกับโครงการขนาดใหญ่ที่ได้แสดงตัวอย่างไว้ข้างต้น

พวกเราเห็นว่า ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกรมฯว่าจ้าง คำนวณต้นทุนของโครงการแต่เพียงด้านการเวนคืนที่ดินราคาถูก แต่ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนที่จะเกิดจากถนนจะตัดผ่านผืนที่ดินเฉพาะในพื้นที่โฉนดชุมชนที่เกษตรกรครอบครองทำกินโดยตรงจำนวนราว 15 แปลง ในแต่ละแปลงจะได้รับผลกระทบคือ จะเหลือที่ดินบางส่วนซึ่งจะทำการเกษตรกรรมไม่ได้ เพราะพื้นที่เหลือจำนวนน้อย และถนนที่ทำให้ที่ดินที่เหลือแยกออกเป็นผืนย่อย ๆ

นอกจากนี้ ยังก่อต้นทุนในการทำมาหากินเพราะจะเกิดอุปสรรคต่อการทำการเกษตรกรรมหลายประการ  ซึ่งจะพบว่า ปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับแปลงที่ดินของพี่น้องที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนตลอดเส้นทาง ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาฯ ไม่ความเข้าใจมีมิติในวิถีชีวิต และการผลิตการทำมาหากินของเกษตรกร ชาวนา และความเป็นชุมชนของผู้คนที่มีมิตสัมพันธ์ทั้งด้านการผลิต วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน ฯลฯ  เพราะมีจินตนาการเห็นแต่ทุ่งโล่งราคาที่จะเวนคืนเท่านั้น

4.สหกรณ์ที่ดินคลองโยงยังเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นต้นแบบของการปฏิรูปที่ดินซึ่งชุมชนถือกรรมสิทธิ์ร่วม พื้นที่แห่งนี้มีความเป็นมาโดยการรวมตัวกันเพื่อซื้อที่ดินจากเจ้าของคือ เจ้านายตระกูลดิสสุกล (เดิมโฉนดเป็นของเจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4) และดำเนินการจัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์นิคม รัฐได้ลงทุนดำเนินการจัดรูปที่ดิน พัฒนาระบบคูคลองเช่นเดียวกับพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งต้องรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่ผ่านการจัดรูปที่ดินไม่เปลี่ยนการใช้ประโยชน์เอาคืนไปสร้างสาธารณูปโภค ถนนเลี่ยงเมืองขนาดใหญ่จนทำให้พื้นที่จัดรูปที่ดินเปลี่ยนแปลงไป

5.โฉนดชุมชนคลองโยงยังต้นแบบเพื่อการรียนรู้การบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชนที่มีผู้คน องค์กร เครือข่าย องค์กรต่าง โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ฯลฯ มาศึกษาเรียนรู้จำนวนมาก  การตัดถนนขนาดใหญ่กว้าง 40 เมตรผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชน จะทำลายระบบนิเวศของชุมชนเกษตรกรรมส่งผลกระทบต่อชีวิตขของผู้คนซึ่งทำเกษตรกรรมด้านอาชีพ รายได้ ฯลฯ ถนนฯ จะสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตผู้คนซึ่งเป็นเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อความเป็นโฉนดชุมชนที่จะล่มสลายไปจากผลของความเปลี่ยนแปลงในที่สุด  ประเด็นสำคัญเหล่านี้ไม่ได้ถูกนับรวมไว้ในต้นทุนที่เสียไปกับความคุ้มค่าของโครงการ

สุดท้ายนี้ เราขออย่าอ้างจำนวนมือเสียงส่วนใหญ่ของนักเก็งกำไร นักค้าที่ดิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และคนในเมืองที่มีปัญหาจราจร เพื่อทำลายพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งรัฐได้ลงทุนจัดรูปที่ดินเช่นเดียวกับโครงการปฏิรูปที่ดินต่าง ๆ ที่ไม่ควรทำลายและเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ อย่าทำลายความเป็นชุมชนเกษตรกรรมชาวนาที่อยู่อาศัยกันมายาวนาน  พวกเรายังมีต้นทุนด้านวิธีชีวิตวัฒนธรรมในหลายมิติ ที่ไม่ถูกนับรวมและมองเห็นแต่อย่างใด
ชาวบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active