จี้ นายกฯ – สุริยะ ทบทวนโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา – นครชัยศรี

ชาวบ้านคลองโยง หวั่น กระทบสิทธิชุมชนพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง กระทบวิถีชีวิตความมั่นคงพื้นที่เกษตรกรรมทุ่งนครชัยศรีที่อาจสูญหาย อย่าเอาถนนมาไล่คน  เสนอสร้างการมีส่วนร่วมแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขจราจรแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ   

วันนี้ (6 ก.ย. 66) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม นำโดย บุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์ ที่ดินบ้านคลองโยง เข้ายื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  และ  สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ที่วันนี้มีประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในสัปดาห์หน้า 

โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนยุติโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา – นครชัยศรี ซึ่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรม และสิทธิชุมชนของพื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง โดยมีรายละเอียดสำคัญ ว่า ตามที่กรมทางหลวงชนบทได้มอบให้บริษัทที่ปรึกษาดำเนินโครงการศึกษาความเหมาะสมถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา – นครชัยศรี ซึ่งเป็นถนนขนาดหน้ากว้าง 40 เมตร การจราจร 4 ช่องทางจราจร มีแผงคอนกรีตกั้นกลางถนน โดยอ้างวัตถุประสงค์สำคัญเรื่องการบรรเทาจราจรในกทม. จะเป็นถนน “เลี่ยงเมือง” เส้นใหม่ การรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ทำให้ประชาชนในพื้นที่เดินทางสะดวกปลอดภัย ฯลฯ และมีมูลค่าการก่อสร้างงบประมาณดำเนินการ 5,000 ล้านบาท

ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาชี้แจงว่า การศึกษาความเหมาะสมมีทางเลือกหลายเส้นทาง แต่ได้ตัดสินใจเลือกที่ดีที่สุด ถูกที่สุด ง่ายที่สุดก็คือ ออกแบบเบี่ยงถนนจากบริเวณหน้าสนามกอล์ฟรอยัล เจมส์ ข้ามมายังฝั่งคลองโยง ผ่านทุ่งนาโล่งและพื้นที่เกษตรกรรมตลอดทั้งเส้น 14 กิโลเมเมตรจนถึงนครชัยศรี ด้วยเหตุผลว่า บริเวณที่ถนนผ่านจะไม่ส่งผลกระทบเหมือนเส้นอื่น ๆ  เนื่องจากสภาพเป็นทุ่งนา ไม่มีที่อยู่อาศัยของผู้คนกีดขวาง ไม่มีที่อยู่อาศัยเกือบตลอดเส้นทาง

สมาชิกสหกรณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด ซึ่งเป็นโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 เห็นว่า โครงการดังกล่าวนี้จะส่งผลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศของท้องทุ่งนครชัยศรี และสิทธิชุมชนของชุมชนชาวนาดั้งเดิมดังต่อไปนี้

1.ผลกระทบต่ออาชีพการเกษตรกรรม การทำนา ทำสวน และการเกษตรอื่นๆ เนื่องจากถนนตัดกว้าง 40 เมตรจะตัดผ่านพื้นที่การเกษตรกรรม ตั้งแต่ถนนศาลายา-บางภาษี  ซึ่งทั้งหมดคือ พื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่บุกเบิกการปลูกข้าว “ทุ่งนครชัยศรี” ซึ่งเป็นทุ่งนาข้าวที่พัฒนาขึ้นหลังการลงนามสัญญาเบาริง พ.ศ.2398 และรัฐได้ ทำให้ลงทุนพัฒนาระบบชลประทาน ขุดคูคลองนับแต่คลองมหาสวัสดิ์ และคลองอื่น ๆ ในระยะต่อมา จนกล่าวได้ว่า เป็นท้องทุ่งที่ได้รับการพัฒนาระบบชลประทาน ระบบคูคูคลองจนเป็นทุ่งนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ หล่อเลี้ยงผู้คนในเขตพระนครในอดีต และผู้คนในประเทศในปัจจุบัน และเป็นฐานชีวิตของชุมชนชาวนาการผลิตข้าวเพื่อการส่งออก และพืชผลการเกษตรกรอื่น ๆ

พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม

ปัจจุบันแม้เมืองได้ขยายตัวออกมากแต่ทุ่งซึ่งถนนทั้งเส้นจะตัดผ่านยังมีลักษณะสังคมและพื้นที่เกษตรกรรมที่สืบเนื่อง ยังคงสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนสืบเนื่องตลอดมา ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมของโครงการไม่เห็นหัวและชีวิตผู้คน ชุมชนเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยแห่งนี้ที่ยังมีโลกชีวิตแบบชุมชนเกษตรกรรม มีวิถีการผลิต การทำมาหากินที่สัมพันธ์กับผืนดินทุ่งนครชัยศรีแห่งนี้  ดังนั้น ถนนขนาดหน้ากว้าง 40 เมตรจะทำลายความเป็นชุมชนเกษตรกรรมและส่งผลกระทบต่ออาชีพการเกษตรกรรม ทั้งด้านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำลายระบบชลประทาน ระบบคูคลอง ซึ่งรัฐบาลได้ลงทุนลงไปในพื้นที่การเกษตรกรรมแห่งนี้เช่นเดียวกับพื้นที่การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมอื่น ๆ

วิถีการผลิตการทำมาหากิน การตัดถนนขนาดใหญ่ขวางทุ่งกระทบต่อการขนย้ายเครื่องจักรการผลิต รถเกี่ยวรถไถ การขนย้ายผลผลิต ฯลฯ เพื่อข้ามถนน การก่อสร้างถนน 4 เลนจราจร หน้าถนนกว้าง 40 เมตร และมีแบริเออร์กั้นตรงกลางตลอดเส้นทาง จะทำให้การทำอาชีพการทำนาเป็นไปด้วยความยากลำบาก  ซึ่งการออกแบบถนนไม่มีความสามารถใด ๆ ที่จะทำให้การทำการเกษตรกรรมเดิมเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งด้านผลผลิตและรายได้ของชาวนาและเกษตรกรในพื้นที่ ฯลฯ

2.พื้นที่ซึ่งถนนตัดผ่านโดยส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ “โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย” ที่จัดตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ซึ่งมีพื้นที่ 1,800 ไร่ ชาวบ้านถือครองร่วมกันในรูปแบบของสหกรณ์ที่ดินคลองโยงจำกัด ซึ่งแบ่งเป็นแปลงย่อยแปลงละ 20 ไร่ 83 แปลง แต่มีครัวเรือนขยายตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนี้มากกว่า 250 ครัวเรือน และพวกเราอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนดั้งเดิมที่ตั้งถิ่นฐานร่วมกันมาไม่น้อยกว่า 200 ปีมาแล้ว

ถนนจะตัดผ่านผืนที่ดินเฉพาะในพื้นที่โฉนดชุมชนที่เกษตรกรครอบครองทำกินโดยตรงจำนวนราว 15 แปลง ในแต่ละแปลงจะได้รับผลกระทบคือ จะเหลือที่ดินบางส่วนซึ่งจะทำการเกษตรกรรมไม่ได้ เพราะพื้นที่เหลือจำนวนน้อย และถนนที่ทำให้ที่ดินที่เหลือแยกออกเป็นผืนย่อย ๆ ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำการเกษตรกรรมหลายประการ  ซึ่งจะพบว่า ปัญหาเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับแปลงที่ดินของพี่น้องที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนตลอดเส้นทางซึ่งคณะผู้การศึกษาความเหมาะสมไม่มีมิติในความเข้าใจวิถีชีวิต และการผลิตการทำมาหากินของเกษตรกรชาวนา และความเป็นชุมชนของผู้คนที่มีมิตรสัมพันธ์ทั้งด้านการผลิต วิถีชีวิต ความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนฯลฯ  เพราะมีจินตนาการเห็นแต่ทุ่งโล่งราคาที่จะเวนคืนเท่านั้น

สหกรณ์ที่ดินคลองโยงยังเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย นับเป็นต้นแบบของการปฏิรูปที่ดินซึ่งชุมชนถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต้นแบบเพื่อการรียนรู้การบริหารจัดการที่ดินโดยชุมชนที่มีผู้คน องค์กร เครือข่ายองค์กรต่าง โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน รวมทั้งสถาบันการศึกษา ฯลฯ มาศึกษาเรียนรู้จำนวนมาก  การตัดถนนขนาดใหญ่กว้าง 40 เมตรผ่านกลางพื้นที่โฉนดชุมชน จะทำลายระบบนิเวศของชุมชนเกษตรกรรมส่งผลกระทบต่อชีวิตขของผู้คนซึ่งทำเกษตรกรรมด้านอาชีพ รายได้ ฯลฯ ถนนฯ จะสร้างความยากลำบากให้กับชีวิตผู้คนซึ่งเป็นเกษตรกร และส่งผลกระทบต่อความเป็นโฉนดชุมชนที่จะล่มสลายไปจากผลของความเปลี่ยนแปลงในที่สุด

การศึกษาความเหมาะสมที่คำนึงถึงความเป็นชุมชนดั้งเดิมจึงไม่ได้นับและนำต้นทุนเหล่านี้เข้ามาพิจารณาว่าได้ทำลายคุณค่าและมูลค่าเหล่านี้ไปเท่าใด และเป็นคุณค่าที่ไม่สามารถชดเชยและทดแทนได้ด้วยเงินเวนคืนที่ดิน

พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม

3.โครงการอ้างประโยชน์จากการสร้างถนนทั้งทางตรงและทางอ้อม สำหรับพื้นที่โฉนดชุมชนในพื้นที่มีถนนจำนวนหลายเส้นและมีจำนวนมากเพียงพออยู่แล้ว (โครงการถนนตัดใหม่นี้อยู่ห่างจากทางด่วนบางใหญ่-กาญจนบุรีเพียงราว 2 ก.ม.) และยังมีถนนชนบทอีกหลายสาย การสร้างถนนจึงไม่เกิดประโยชน์แก่ชุมชนในการเพิ่มความสะดวกแก่การสัญจร

ผู้ดำเนินโครงการระบุว่า ถนนใหม่จะทำให้การขนส่งสินค้าเกษตรในชุมชนทำได้มากขึ้น จะสร้างรายได้เพิ่มฯลฯ พวกเราขอเรียนว่า ถนนที่มีอยู่ได้พัฒนาอย่างเพียงพอแล้วสำหรับการขนส่งสินค้า  เขายังอ้างเรื่องผลพลอยได้ด้านการตั้งร้านค้าพาณิชน์ริมทาง ธรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ร้านกาแฟ ฯลฯ และอ้างว่าการตัดถนนจะเป็นผลราคาที่ดินที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลซึ่งเป็นประโยชน์ทางอ้อมแก่คนในพื้นที่ แต่สำหรับโฉนดชุมชนเราไม่ได้มองที่ดินเป็นสินค้า และกลับเห็นว่า ถนนเส้นใหม่นี้จะทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การพานิชย์ ฯลฯ จะผุดตามมา และผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านระบบนิเวศที่ส่งผลกระทบจนทำให้การทำนาและเกษตรกรรมต่าง ๆ อย่างสาหัสดังบทเรียนที่เกิดขึ้นมากมายในพื้นที่ต่าง ๆ ข้ออ้างที่ว่าจะเกิดขึ้นแก่ชุมชนเกษรกรรมในพื้นที่ทุ่งนครชัยศรีที่สมบูรณ์ที่ยังเหลืออยู่นี้จึงไม่เป็นจริงแต่อย่างใด แต่จะเป็นประโยชน์ต่อนักเก็งกำไรที่ดิน ผู้ลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ที่สำคัญคือ ถนนในโครงการฯ จะไม่สร้างประโยชน์แก่ผู้คนที่อยู่ในชุมชนเกษตรกรรมโฉนดชุมชนคลองโยงเพราะเจตนารมณ์และระเบียบของสหกรณ์ที่ดินบ้านคลองโยงห้ามเปลี่ยนแปลงการดำเนินการกิจกรรมเช่นเดียวกับหลักการจัดที่ดินในรูปแบบ ส.ป.ก. ห้ามเปลี่ยนแปลงพื้นที่เกษตรกรรม ห้ามการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ การตั้งโรงงงาน ฯลฯ ข้อผู้ดำเนินโครงการว่าว่า เมื่อสร้างถนนแล้วจะได้ประโยชน์จากการค้า การลงทุน การตั้งร้านค้าพาณิชย์ริมถนน และเชื่อมโยงไปสู่เศรษฐกิจ ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริง

“การเวนคืนที่ดินไม่สามารถชดเชยความมั่นคงวิถีชีวิตที่หายไป เอาเงินจ่ายค่ารื้อถอนชดเชยสิ่งปลูกสร้าง แล้วที่ดินทำกินทั้งชีวิต และอนาคตลูกหลานจะหาได้จากไหน ที่สำคัญไม่ได้กระทบแค่ 15 แปลง ประมาณ 30 ครัวเรือที่โดนเต็ม ๆ  และที่อ้างว่าจะพัฒนาข้างทาง คุณจะไปสร้างร้านค้า สร้างตึกแถว เช่าในพื้นที่ไม่ได้เลย กติกาวางไว้ทำเกษตร แต่ถ้าจะเข้ามาจริง ก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนขนาดใหญ่ ชุดชนจะล่มเลย ถามว่าจะเอาชุมชนแบบนี้ไว้ หรือจะเอาถนนไว้ ก็ต้องฝากรัฐด้วย อย่าเอาถนนมาไล่คน“ 

 4.พวกเราเห็นว่า การสร้างถนนไม่ได้เท่ากับความเจริญตามที่บริษัทที่ปรึกษาพยายามชี้แจง และทางเลือกในการแก้ไขปัญหาการจราจรของเมืองมหานครกรุงเทพก็ไม่ได้มีทางเลือกเดียวคือการสร้างถนน ทางเลือกเดียวที่จะแสวงหาเส้นทางที่ถูกที่สุดเพื่อสร้างถนนเส้นใหม่ ถนนเลี่ยงเมือง ฯลฯ พวกเราจึงเห็นว่า ควรยกเลิกโครงการถนนนี้ที่จะทำลายทุ่งนครชัยซึ่งพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังอุดมสมบูรณ์และเหลืออยู่ไม่มาก ทำลายชุมชนชาวนาดั้งเดิมในพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแห่งของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในระดับนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรศึกษาเพื่อหาทางเลือกความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ และควรศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ไม่ใช่ให้บริษัทที่ปรึกษามาหาเส้นทางที่ถูกที่สุดเพื่อสร้างถนนที่มองความคุ้มค่าในเชิงการใช้งบประมาณถูกที่สุด เพราะการแก้ไขปัญหาจราจรและความแออัดเมืองมหานครกรุงเทพมหานคร ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่น การพัฒนาการคมนาคมโดยระบบราง การพัฒนาคูคลองซึ่งทุ่งตะวันตกมีระบบคูคอลงที่พัฒนาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และ 5 ที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ฯลฯ ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายควรมีวิสัยทัศน์และจินตนาการใหม่ในการมองภาพรวมปัญหาของเมืองมหานครและปริมณฑล สำหรับกรมทางหลวงชนบทควรพิจารณราทางเลือกอื่น ๆ โดยนำงบประมาณจำนวน 5,000 บาทไปพัฒนาขยายและซ่อมสร้างถนนที่มีอยู่อย่างมากมายอยู่แล้วให้สามารถใช้งานได้ดีขึ้น ฯลฯ แทนที่จะนำเงินจำนวนมหาศาลมาลงทุน

และ 5.โครงการอ้างว่าถนนดังกล่าวนี้จะสร้าง “ความเจริญ” ให้กับจังหวัดนครปฐม แต่การตัดถนนผ่านทุ่งนครชัยศรีพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังคงเหลืออยู่ และพื้นที่โฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดนครปฐมที่ประกาศเป็นจังหวัดครัวของประเทศ เป็นแหล่งอาหารสำหรับคนในเมืองและเพื่อการส่งออก ดังปรากฏวิสัยทัศน์จังหวัดนครปฐมซึ่งระบุว่า เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่ปลอดภัยได้มาตรฐานสากล  การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และจังหวัดต้องการดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้คืนความอุดมสมบูรณ์ การดูแลรักษาคุณภาพ สิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน และสร้างภูมิคุ้มกันรองรับ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ โครงการดังกล่าวนี้เนื่องจากขัดแย้งกับวิสัยทัศน์จังหวัดนครปฐมอย่างสิ้นเชิง  

พื้นที่โฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม

สหกณ์ที่ดินคลองโยง จำกัด จึงขอเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาไตร่สวนข้อเท็จจริง และเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติโครงการถนนดังกล่าวนี้ ด้วยความไม่คุ้มการลงทุนด้วยงบประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่ทำลายชีวิตชุมชนชาวนาดั้งเดิม พื้นที่โฉนดชุมชน และหายนะด้านความเปลี่ยนแปลงเชิงนินเวศที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่เกษตรกรรมทุ่งนครชัยศรีแห่งนี้ และเสนอแนะให้กรมทางหลวงชนบทและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสวงหาทางเลือกในการแก้ไขจราจรแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ พื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ เช่น การพัฒนาการคมนาคมและขนส่งระบบราง การพัฒนาซ่อมแซมหรือขยายถนนทางหลวงชนบทที่มีอยู่แล้ว การพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำด้วยการพัฒนาระบบคูคลองที่มีอยู่ในพื้นที่ฯลฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active