‘กรมทางหลวงชนบท’ ชี้แจง ข้อกังวลตัดถนนเชื่อม ถ.นครอินทร์ ช่วงศาลายา-นครชัยศรี

ย้ำกระบวนการมีส่วนร่วม รับฟังความเห็นประชาชน ส่วนใหญ่เห็นด้วย มองประโยชน์แก้ปัญหาจราจร รองรับเมืองขยายตัว เตรียมนำข้อเสนอแนะทุกฝ่าย ประกอบผลการศึกษา ก่อนจัดทำสรุปโครงการฯ   

จากกรณีชาวบ้านคลองโยง จ.นครปฐม เคลื่อนไหวคัดค้าน โครงการถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ช่วงศาลายา-นครชัยศรี จ.นครปฐม โดยตั้งข้อสังเกตว่า โครงการดังกล่าว อาจกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ตามยุทธศาสตร์เมืองเกษตรกรรม ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และโครงการฯ ที่มีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน อาจกลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำจนเสี่ยงต่อการเป็นพื้นที่น้ำท่วมในอนาคต นั้น

ล่าสุด จีระพงษ์ ปิณฑะบุตร ผู้อำนวยการสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวงชนบท ส่งหนังสือชี้แจงประเด็นนี้ มายังกองบรรณาธิการ The Active โดยระบุว่า โครงการศึกษาความเหมาะสมถนนต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ ช่วงศาลายา – นครชัยศรี จ.นครปฐม ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ในปีงบประมาณ ปี 2566 โดยมีขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมทั้งด้านวิศวกรรมและจราจร ความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุน ผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จำนวน 4 ครั้ง รวม 16 เวที โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 1,339 คน

ทั้งนี้ ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.60 เห็นด้วย กับแนวทางการพัฒนาโครงการ เนื่องจากมีประโยชน์ แก้ไขปัญหาจราจรในภาพรวม รองรับการเจริญเติบโตของเมือง รวมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งทางถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และนครปฐม ให้มีความสมบูรณ์ ประกอบกับแนวสายทางที่ได้รับการคัดเลือกมีผู้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และมีมูลค่าการลงทุนต่ำที่สุด

ในหนังสือดังกล่าว ยังระบุถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้น พบว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับพื้นที่โบราณสถาน พื้นที่อ่อนไหว และพื้นที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้เก็บข้อมูลคุณภาพน้ำ/อากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน ประกอบการศึกษาร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเท็จจริง วิเคราะห์ผลสำรวจในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

“สำนักสำรวจและออกแบบ ขอขอบคุณในความห่วงใย และความคิดเห็นของประชาชน โดยจะนำข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนมาประกอบผลการศึกษา ก่อนจัดทำการสรุปผลการศึกษาต่อไป”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active