ผนึกกำลัง อว. และ ศธ. เร่งอบรมครู เตรียมความพร้อม หวังยกระดับคะแนน PISA 2025 นักวิชาการท้วง แค่อบรมครูติว PISA อาจไม่ตอบโจทย์ ชี้ ‘การเพิ่มคะแนนสอบ อาจไม่ใช่คำตอบของการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ‘
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งทุกหน่วยงานยกระดับผลการประเมิน PISA โดยเน้นความสำคัญของการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในบริบทสิ่งแวดล้อม ด้าน สพฐ. ได้พัฒนาครูแกนนำ 1,400 คนในแผนการส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ของนักเรียนตามแนวทาง PISA เพื่อขยายผลไปสู่ครูใน 245 เขตพื้นที่และ 9,214 โรงเรียน โดยมีนักเรียนเข้าสู่ระบบการทดสอบแบบ Computer Based Testing (PISA Style) จำนวน 208,268 คน
สพฐ. ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จของโรงเรียนบ้านหลังเขา สังกัด สพป.กาญจนบุรี เขต 4 พบว่าผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และการพัฒนาครูที่เน้นการคิดวิเคราะห์ ส่งผลให้คะแนนการสอบสูงกว่ามาตรฐาน OECD การ “เน้น ซ้ำ ย้ำ ทวน” ของครูมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความฉลาดรู้ของนักเรียน
ทั้งนี้ สสวท. ร่วมกับ สพฐ. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง PISA ให้กับครูจากโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ 408 คน เพื่อสามารถนำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การอบรมดังกล่าวยังขยายไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันพัฒนาการศึกษาไทยให้มีคุณภาพและยั่งยืน
“สร้างเด็ก เยาวชน และครูให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เพื่อสะท้อนผลการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย สิ่งที่สำคัญคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ มีการสื่อสาร สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ”
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ตามแนวทางการประเมิน PISA มีครูและอาจารย์จากโรงเรียนสาธิตทั่วประเทศเข้าร่วม โดยศุภมาสกล่าวว่า การอบรมนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการสอนของครู เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมิน PISA ในปี 2025 ซึ่งมีความสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาการเรียนการสอน
ขณะที่ ศาสตราจารย์ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่ากระทรวงมีภารกิจในการพัฒนาการศึกษาและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผ่านโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาเป็นพี่เลี้ยงในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยการอบรมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับผลการประเมิน PISA ของประเทศไทยในปี 2025
นักวิชาการท้วง แค่ติวไม่พอ แต่ต้องวางรากฐานการศึกษาไทยกันใหม่
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยอิสระ และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและการเรียนรู้ ระบุว่า การติวข้อสอบ PISA นั้นอาจไม่แก้ไขปัญหาได้จริง เพราะข้อสอบ PISA ไม่ได้วัดผลแค่ ‘ความรู้ความเข้าใจ’ ของนักเรียนต่อรายวิชานั้น ๆ แต่ PISA คือข้อสอบวัด ‘คุณภาพการศึกษา’ โดยรวมทั้งหมด ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลตั้งแต่สภาพแวดล้อมของโรงเรียน เศรษฐานะของนักเรียน จำนวนครู ปัจจัยด้านทุน ทรัพยากรทางการศึกษา ตลอดจนสุขภาพกายและใจของผู้เรียน ดังนั้นการติวเข้มนักเรียนเพื่อหวังเพิ่มคะแนน อาจไม่ช่วยให้ระดับคะแนน PISA นั้นดีขึ้น
ณิชา เสนอว่า หากต้องการจะเพิ่มระดับคะแนน PISA จริง ควรจะต้องกลับมาวางรากฐานการศึกษากันใหม่แต่ต้น เริ่มตั้งโจทย์กันใหม่ว่าจะมีการศึกษาไปเพื่อสิ่งใด แล้วต้องใช้เครื่องมือทางนโยบายใดบ้างช่วยทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้น เช่น ถ้าอยากสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอนนี้ประเทศไทยมีแหล่งการเรียนรู้ที่ฟรีมีคุณภาพอย่างทั่วถึงแล้วหรือยัง หรือถ้าอยากสร้างแรงงานอนาคตที่มีคุณภาพ ตอนนี้ประเทศได้เพิ่มสวัสดิการอุดหนุนเด็กเล็กให้เพียงพอต่อการเติบโตมาอย่างแข็งแรงแล้วหรือยัง
อย่างไรก็ตาม ณิชาย้ำว่า ‘การเพิ่มคะแนนสอบ อาจไม่ใช่คำตอบของการศึกษาที่ประสบความสำเร็จ’ เพราะถึงติวเข้มจนคะแนนของเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้น แต่ถ้าระบบยังไม่เอื้อให้เด็กได้คิดนอกกรอบ หรือได้รู้จักประยุกต์ทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาใช้แก้ไขปัญหาจริงในชุมชนที่เขาเกิดมา สักวันหนึ่งคะแนนก็จะกลับไปตกเหมือนเดิม หนำซ้ำ สังคมยังไม่ได้ประโยชน์จากการศึกษาเลย และตัวเลขอันดับก็ไม่ได้ช่วยทำให้สังคมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น การศึกษาไทยจึงต้องกลับมาทบทวนตัวเองเสียก่อน ทั้งนี้ ไม่ว่ารัฐจะพร้อมหรือไม่ การแก้ไขปัญหาการศึกษาต้องเริ่มทันที
“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เราจะ ‘เพิ่มคะแนน’ ทันหรือไม่ทันการวัดผลรอบหน้า เพราะถ้าอยากแค่ให้คะแนนมันขึ้น ก็แค่ไปติวอย่างเดียวก็ได้ แต่เป้าหมายการศึกษาคือการสร้างรากฐานที่ดี ถึงทำไม่ทันก็ต้องเริ่มทำแล้ว ท่าน (รัฐบาล) ยังมีเวลา ทำอะไรได้อีกเยอะ สุดท้ายตัวคะแนน PISA ที่เราเห็นมาจากผลงานของรัฐบาลชุดก่อน ถ้าเราเริ่มต้นใหม่วันนี้ เราอาจเห็นแนวโน้มการศึกษาที่ดีขึ้น”
ณิชา พิทยาพงศกร