ดันนโยบายเด็กและครอบครัว รับมือการเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต

เปิดตัวคิด for คิดส์ ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว​ รับมือความท้าทายจากวิกฤตโควิด-19 – ความเหลื่อมล้ำ ​เสนอเร่งแก้ความรู้ถดถอย ​ เยียวยากลุ่มเปราะบาง ขยายช่องทางการมีส่วนร่วมทางการเมืองทำให้เด็กเข้าถึง บริการสุขภาพจิตได้ง่ายที่สุด

จากข้อมูล​ในปี 2564-2565 เด็กและครอบครัวต้องเผชิญกับโควิด-19 ที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 4.6 ล้านคน (ศคบ. 2565) และได้มีการประกาศใช้มาตราการพิเศษ และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินนานกว่า 2 ปี 4 เดือน และยังพบวิกฤตความเหลื่อมล้ำและพัฒนาการกว่า 61.4 % ของเด็กและเยาวชนที่อายุไม่เกิน 21 ปี อาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูโดยเฉลี่ย ทั้งนี้มีข้อมูลจาก Mob Data Thailand และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปี 2565 พบว่าวิกฤตสังคมและการเมืองที่ช่วงที่ผ่านมามีเด็กและเยาวชนจัดชุมชุม 193 ครั้งในปี 2563 และมีส่วนร่วมในการชุมนุม 1,838 ครั้ง และถูกดำเนินคดีแล้วกว่า 279 ราย

ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ​ร่วมกับศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง (101 Public Policy Think Tank หรือ 101 PUB) จัดเสวนาสาธารณะ “เด็กและครอบครัวไทยใน 3 วิกฤต : รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2565” เปิดตัว ศูนย์ความรู้นโยบายเด็กและครอบครัว หรือ “คิด for คิดส์”

โดย ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การจัดตั้ง ‘คิด for คิดส์’ เป็นหมุดหมายสำคัญที่ สสส. ต้องการขับเคลื่อนงานเด็ก เยาวชน และครอบครัวสู่อนาคต บนฐานของความรู้ที่มีคุณภาพ ไม่แปลกแยกจากโลกใหม่ เน้นการทำงานความรู้และสื่อสารกับสังคม โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นคนรุ่นใหม่ทุกกลุ่ม และภาคีเครือข่ายของ สสส. ให้เข้ามาช่วยกันส่งเสียง ตั้งโจทย์ และทำงานร่วมกัน เพื่อจุดประกายและสร้างสังคมที่มีประโยชน์กับเด็กและเยาวชน

ทั้งนี้ พบว่า 3 วิกฤตส่งผลต่อชีวิตเด็กและครอบครัวไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งมองเห็น 7 แน้วโน้มพร้อมกับข้อเสนอที่เป็นนโยบาย

หนึ่ง เด็กและเยาวชนเผชิญการภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย(Learning Loss) พัฒนาการหยุดชะงัก ทำให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสีย ถดถอย หรือล่าช้าไป ส่งผลต่อพัฒนาการหลายด้าน เช่น ด้านวิชาการโดยเฉพาะทักษะอ่าน-เขียน และการคํานวณด้านพัฒนาการทักษะทางร่างกาย ความสามารถในการจดจําและอารมณ์และสังคม เด็กเกิดความเครียดขาดทักษะการสื่อสาร ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น ข้อมูลจาก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ UNICEF ระบุว่า เด็กและเยาวชน 1.6 พันล้านคนทั่วโลก เผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ เผยตัวเลข ในปี 2564 มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา 2.3 แสนคน ซึ่งมีตัวเลขเปอร์เซนต์นักเรียนยากจนพิเศษ ถึง 14.6 % ไม่กลับไปเรียนต่อ นำมาสู่ข้อเสนอที่ให้ ทบทวนและตั้งหลักระบบการศึกษาใหม่ เพื่อชดเชยช่วงเวลาที่สูญหาย  ดึงเด็กที่หลุดออกจากระบบ รองรับสถานะแหล่งเรียนรู้นอกระบบ ชดเชยความรู้ ทบทวนหลักสูตรใหม่ และพัฒนาระบบระบบนิเวศ และเติมการเรียนรู้แบบใหม่

สอง เด็กและครอบครัวเข้าถึงการบริการของรัฐได้ยากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ​กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือแม่และเด็ก จึงนำไปสู่ข้อเสนอนโยบายที่ว่า บริการรัฐต้องต่อเนื่องทั่วถึง ยืดหยุ่น และพร้อมรับมือวิกฤต เร่งเยียวยาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ ปรับปรุงประสิทธิภาพกำลังบุคลากรและทรัพยากร พร้อมกับการถอดบทเรียนปรับโครงสร้างให้พร้อมรับมือวิกฤต

สาม เด็กและเยาวชนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดฐานที่จำเป็น การปิดสถานที่เพื่อชะลอการแพร่ระบาดส่งผลให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กส่วนใหญ่เริ่มใช้สื่อดิจิตอล และใช้เป็นเวลานานถึง 12 ชั่วโมง ซึ่งก็พบว่าเด็กและชนต้องเข้าสู่โลกออนไลน์โดยขาดทักษะ การรู้เท่าทันสื่อสาระสนเทศและดิจิตอล(MIDL) ขณะที่หลายคนถูกผลักเข้าสู่โลกออนไลน์โดยไม่มีแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ต กว่า 2.1 % ของเด็กและเยาวชนอายุ 6 ถึง 24 ปี โดยมีข้อเสนอนโยบาย คือ ฟื้นฟูผลกระทบ ด้วยการเน้นกิจกรรมที่เน้นปฏิสัมพันธ์ แหล่งเรียนรู้และนันทนาการ ที่มีคุณภาพ,สร้างฐานที่จำเป็น – เท่าเทียม ทั้งด้านทักษะและอุปกรณ์ เตรียมรับวิกฤตใหม่

สี่ เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ภาครัฐสกัดกั้นด้วยความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีข้อเสนอนโยบายให้ หยุดกดปราบและขยายช่องทางการมีส่วนร่วมที่มีความหมาย ขยายช่องทางในระบบการเมืองระดับชาติ-ท้องถิ่น, ปรับปรุงกลไกสภาเด็กและเยาวชน, ขยายช่องทางในระดับชุมชนและสถานศึกษา

ห้า โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบรูณ์ ครอบครัวมีขนาดเล็กและเปราะบางยิ่งขึ้น ข้อเสนอนโยบาย คุ้มครองเยียวยาดูแลเด็กเปราะบางที่รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก แก้ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ลดครัวเรือนข้ามรุ่น วางแผนดูแลเด็กกำพร้าจากโควิดโดยคำนึงถึงสภาวะจิตใจ

หก เด็กและเยาวชนเครียดและมีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ข้อเสนอนโยบาย คือการทำให้เด็กเข้าถึง บริการสุขภาพจิตได้ง่ายที่สุด, เพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตและวัยรุ่นให้เพียงพอ, รณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต

และ เจ็ด ความไม่ลงรอยระหว่างรุ่นรุนแรงขึ้น บั่นทอนความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยมีข้อเสนอคือ สร้างทักษะในการอยู่ร่วมกันลดความเหลื่อมล้ำพร้อมรับสถานการณ์ที่เลวร้ายเสริมสร้างความเข้าใจลดความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจเพื่อลดความขัดแย้งจัดกลไกป้องกันและเยียวยาผลจากความรุนแรง

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและครบครัว เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองในโลกใหม่อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยเสาหลัก 3 อย่าง

หนึ่ง จัดหาทรัพยากรที่เพียงพอสําหรับการดูแลและพัฒนาเด็กเยาวชนและครอบครัว อย่างเช่น สวัสดิการพื้นฐานที่ครอบคลุมและเข้าถึงได้จริงโดยเฉพาะครอบครัวเปราะบางสิทธิแรงงาน โดยเฉพาะโอกาสของพ่อแม่ในการดูแล และพัฒนาเด็กแรกเกิด ขยายสิทธิ์เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้ถ้วนหน้า(ตัดปัญหาเด็กยากจนตกหล่น),เพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเป็น1,200-1,500 บาท/เดือน(ครอบคลุมค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง),ขยายความมั่นคงทางการเงินสู่เด็กและเยาวชนอายุมากกว่า 6 ปีเพิ่มสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ,ขยายสวัสดิการแรงงานและการว่างงาน

สอง เพิ่มทางเลือกและคุณภาพของบริการสาธารณะ โดยบริการสาธารณะด้านสุขภาพและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเสมอหน้ากันตั้งแต่แรกเกิด

และ สาม ส่งเสริมสิทธิเด็กและการมีส่วนร่วมของเด็กตลอดกระบวนการนโยบาย ลดอายุขั้นต่ำ และเพิ่มความสะดวกในการมีส่วนร่วมทางการเมือง พัฒนาสภาเด็กและเยาวชนเพื่อสะท้อนเสียงและขับเคลื่อนสังคมที่เยาวชนต้องการเห็น เคารพสิทธิเด็กในฐานะพลเมืองส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายอย่างมี ความหมาย ให้เด็กมีสิทธิตัดสินใจในชีวิตของตนเอง และร่วมสร้างสังคมที่ต้องการอยู่ใน อนาคต

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ