แนะ ‘ครู’ ปรับหลักสูตรรองรับกับการเปลี่ยนแปลง

เครือข่าย ‘ก่อการครู’ มองเห็น ‘โอกาส’ การศึกษาไทยหลังวิกฤตโควิด แนะพัฒนาทักษะชีวิตนอกหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิตได้จริง ผ่านสิ่งรอบตัว มองอนาคตที่เปลี่ยนแปลงห้องเรียนต้องไม่ใช่ที่ให้เด็กมานั่งเรียนแบบเดิมอีกต่อไป

การระบาดของ โควิด-19 ทั้ง ไม่ได้ส่งผลแค่ทำให้การศึกษาไทยต้องหยุดชะงัก แต่อีกมุมหนึ่ง โควิด-19 ยังถือเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา นำไปสู่ภาวะการเรียนรู้ถดถอย เกิดปัญหาเชิงคุณภาพ โดยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าการปิดโรงเรียนทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงเหลือเพียง 1-2 % จากการเรียนรู้ 100% ในการเปิดเรียนปกติ

ครูตู้ สราวุฒิ พลตื้อ โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าว ในการเสวนาหัวข้อ “บทบาทครูแห่งโลกอนาคต จากห้องเรียน โรงเรียน สู่ชุมชนแห่งการเรียนรู้” ในกิจกรรม ครูในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูปล่อยแสง สำแดงพลัง ก่อการครู รุ่นที่ 3 เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ว่า ในช่วงเปิดเทอมทางโรงเรียนเน้นไปทดสอบเรื่องของ leaning loss มุ่งไปที่ความรู้ของเด็กเกินไป จนไม่รู้ว่าในช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาเด็ก ๆ เขามีทักษะชีวิตที่เพิ่มขึ้นมากมาย เสียดายที่ว่าเราไม่ได้มองว่าช่วงโควิดที่ผ่านมาเขาเติบโต มากมาย หลายคนมีทักษะที่เพิ่มขึ้นสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญ

“ผมมองว่าเรื่องของอาชีพ เด็ก ๆ เขาบอกได้เลย ว่าช่วงที่โรงเรียนปิดไป ครอบครัวเขาค่อนข้างที่จะมีรายได้น้อย และรายได้หายาก เขาเข้าใจผู้ปกครองมากขึ้นว่า รายได้นี่มาจากไหน ก็ขยับตัวเอง ทำอาชีพ อะไรช่วยได้ก็ช่วย จนเขารู้สึกว่า อ๋อ…มันเหมือนกับเขาเป็นผู้ใหญ่ ในร่างเด็ก ในยุคของโควิด-19”

สราวุฒิ พลตื้อ โรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย

ครูตู้ ยังมองว่า สถานการณ์ โควิด-19 ที่การเรียนการสอนไม่ปกติ ครูกลัวที่จะออกพื้นที่ แต่สถานการนี้เป็นวิกฤต ที่ยังมีโอกาส เราเลยใช้หลักการง่าย ๆ คือเปลี่ยนบทบาทเข้าไปหาเด็กในชุมชนแทน สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวก็สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่า ทุกพื้นที่สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้

ด้าน ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ โรงเรียนทุ่งแฝกพิทยาคม อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามา การเรียนรู้ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน การที่เราจะสอนแบบเดิมมันเหมือนเป็นสิ่งที่ยากและลำบากมาก

“ในช่วงโควิด เราจะเห็นนักเรียน ไม่ได้อยู่บ้านเฉย ๆ แต่เขามีวิถีชีวิต พบว่าเด็กเวลาที่เราไป เยี่ยมบ้านก็ไม่เจอนักเรียน เพราะว่าพวกเขาจะไปเกาะกลุ่มตกปลากัน ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นในชุมชนจริง ๆ เลยทำให้เรากลับมานั่งคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้วิถีชีวิตพวกเขาสามารถเกิดการเรียนรู้ได้มากกว่าในหลักสูตรด้วยแล้วก็สามารถพัฒนาทักษะบางอย่างที่ตอบโจทย์ชีวิตเขาได้จริง ๆ”

ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ โรงเรียนทุ่งแฝกพิทยาคม

ณัฐพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครูอาจจะต้องเห็นการเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดขึ้นร่วมกับตัวหลักสูตรไปพร้อมกับชุมชน และบริบทสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงในวิถีชีวิตของชุมชน มีเทคนิคทักษะบางอย่างที่ครูสามารถลื่นไหลไปกับหลักสูตรได้ โดยที่ไม่ต้องกอดตัวชี้วัดทุกตัวเอาไว้แต่อาจจะต้องผ่อนปรนตัวชี้วัดบางอย่างให้มันเบาบางลงแต่สามารถที่จะไปหยิบเอาแก่นของการเรียนรู้บางอย่างที่สำคัญได้ และมองเด็กให้รอบด้านมากขึ้น

“พอสถานการณ์โควิดเข้ามา เราต้องคุยกับฝ่ายวิชาการให้เขาเข้าใจว่าเป็นไปได้ไหมว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่าพึ่งให้ 0 หรือให้ ร. เพราะว่าเราเองเป็นที่ปรึกษาไปเยี่ยมบ้านและได้เห็นว่าเขามีวิถีชีวิตที่เขาสามารถพัฒนาทักษะบางอย่างที่บ้านของเขาได้ถ้าเรามาออกแบบการวัดและประเมินผลโดยใช้ทักษะชีวิตที่บ้านเขาเป็นฐาน โดยมาคุยร่วมกัน จะเป็นไปได้ไหมมันก็เกิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างคุณครูและทีมฝ่ายบริหารเกิดขึ้น

ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ โรงเรียนทุ่งแฝกพิทยาคม

นอกจากการเห็นโอกาส พัฒนาเด็กในช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 แล้ว ชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ยังได้กล่าวถึงบทบาทของครูและหลักสูตรการเรียนในอนาคตด้วยว่า ตนเคยเป็นครูมาก่อนจะเป็นผู้บริหาร จริง ๆ ครูต้องการเพื่อนร่วมทาง เพื่อนคู่คิดที่จะร่วมออกแบบไปด้วยกัน

สถานการณ์โควิด-19 ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าโรงเรียนจะต้องไม่ใช่โรงเรียนเหมือนเดิมแล้ว ไม่ใช่สถานที่ ที่จะรวมเด็กมานั่งในห้องเรียนแบบเดิมแล้ว โรงเรียนจะต้องสอนทักษะอะไรบางอย่างที่ทำให้เด็ก ๆ ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แบบนี้

ชุตินธร หัตถพนม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู

สอดคล้องกับ ณัฐพงศ์ แนะว่าครูจะต้องมองเห็นไปข้างหน้าได้เร็ว ในสภาวะการที่เกิดขึ้น ครูต้องสามารถที่จะหยิบเอาประเด็นอะไรมาเรียนรู้ได้บ้าง หรือมองเห็นว่าอะไรที่เราสามารถที่จะเตรียมผู้เรียน ได้ตั้งแต่วันนี้ก่อนที่จะไปถึงสถานการณ์นั้น   

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ