เตรียมดัน พ.ร.บ.การศึกษาฯ ฉบับ กมธ. เข้าสภาฯ มุ่งปฏิวัติการศึกษาให้เท่าเทียม ทันยุค

เน้นปรับโครงสร้าง เปิดโอกาสผู้เรียนเลือกเรียนตามที่ถนัดสนใจ ถ่ายโอนอำนาจจัดการศึกษาสู่ท้องถิ่น จัดตั้งกลุ่มโรงเรียนเพิ่มศักยภาพ ปรับปรุงหลักสูตรตอบโจทย์สังคม เศรษฐกิจยุคใหม่

เมื่อวันที่ 6 – 8 ก.ย. 67 คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดประชุม เสวนา การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ โดยลงพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศ และนำข้อมูลมาประมวล ร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ คณะกรรมาธิการ นักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้นำองค์ต่างๆ ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปสู่การผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เข้าสู่การขั้นตอนการออกกฎหมายโดยรัฐสภา

โสภณ ซารัมย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… เผยถึงความคืบหน้าในการร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในทุกภูมิภาคกว่า 10,000 คน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยมีการลงพื้นที่จัดประชุมและเสวนาทั่วประเทศ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับปรุงและพัฒนาร่างกฎหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมในปัจจุบัน

ปฏิรูปการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และทันยุค

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ มุ่งเน้นไปที่การ “ปฏิวัติการศึกษา” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ ความทั่วถึง ความเท่าเทียม และ ความทันยุค

  • ความทั่วถึง: การศึกษาต้องเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เช่น ชุมชนบนดอยหรือหมู่บ้านในชนบท รัฐจะต้องจัดการศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสเท่าเทียมในการศึกษา
  • ความเท่าเทียม: นอกจากการเข้าถึง การศึกษายังต้องมีคุณภาพที่เท่าเทียมกัน ทุกคนต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือการศึกษาสายอาชีพ
  • ความทันยุค: รัฐต้องส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการศึกษา โดยควบคู่กับการส่งเสริมความเป็นไทย เพื่อให้เยาวชนสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพในยุคดิจิทัลได้อย่างสมดุล

“เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ความหมายก็คือ ไม่ว่าอยู่บนดอย หรือที่ไหน ต้องจัด (การศึกษา) ให้ทั่วถึงเท่าเทียม ทั้งคุณภาพ ทั้งปริมาณ ทันยุค ก็คือเทคโนโลยีกับความเป็นไทยต้องสมดุลกัน คอนเซ็ปต์ของประเทศมันมี แค่ทำยังไงเราจะพัฒนาเยาวชนของเราให้เป็นมันสมองของประเทศแล้วส่งออกได้”

โสภณ ซารัมย์

โสภณ ซารัมย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…

สำหรับ การออกแบบระบบการศึกษา ในร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและระบบต่าง ๆ อย่างสำคัญ ได้แก่:

  • การจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ระบบ คือ การศึกษาในระบบ และ การศึกษาตามอัธยาศัย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถศึกษาได้ตามความสามารถและความสนใจของตนเอง โดยไม่มีการจำกัดอายุ
  • การถ่ายโอนภารกิจการศึกษาระดับปฐมวัย จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งจะทำให้การจัดการศึกษามีความใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น อปท. จะมีบทบาทเป็น “พ่อคนที่สอง” ในการดูแลและส่งเสริมการศึกษาของเด็กในพื้นที่
  • การจัดตั้งกลุ่มโรงเรียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ทั้งบุคลากร สื่อ อุปกรณ์ และสถานที่ ให้เกิดความคุ้มค่าและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
  • การปรับปรุงหลักสูตร ครอบคลุมทั้ง 3 ระดับ คือ ปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอาชีวศึกษา เพื่อให้หลักสูตรทันสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. ยังให้ความสำคัญกับ การศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยนักเรียนจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานจริงในสถานประกอบการ ทำให้สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพได้จริง

โสภณ ยังกล่าวถึง ความร่วมมือทางการเมือง ในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ที่ดูแล กระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายค้าน เพื่อให้การผ่านร่างกฎหมายเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ผ่านกระบวนการยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณารายละเอียดต่อไป สำหรับการประชุมยกร่างมีผู้มาเข้าร่วมดังนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active