‘แอมเนสตี้’ เผย ‘นักกิจกรรมหญิง-LGBTI’ ถูกกล่าวโจมตี เหยียด ทางดิจิทัล

ขณะที่ นักกิจกรรม วอนสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหา ป้องกันความรุนแรง และการถูกสอดส่องข้อมูลส่วนตัว

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 67 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงข่าวเปิดตัวรายงานเรื่อง “อันตรายเกินไปที่จะเป็นตัวเอง” : ความรุนแรงในโลกดิจิทัล และการปิดปากนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ” ระบุ นักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศไทย กำลังถูกโจมตีบนโลกดิจิทัลด้วยถ้อยคำที่เหยียดหยามและภาษาที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง สร้างความหวาดกลัวต่อผู้หญิง คนรักเพศเดียวกัน เเละคนข้ามเพศ รวมถึงเนื้อหาในโลกดิจิทัลที่ผูกโยงกับประเด็นทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศรูปแบบอื่น ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยี (Technology Facilitated Gender Based Violence – TfGBV)

รายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง” (Being Ourselves is Too Dangerous) ชี้ให้เห็นถึงวิธีการที่นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ถูกสอดส่องติดตามโดยมิชอบด้วยกฎหมายด้วยการเฝ้าติดตามทางดิจิทัล รวมถึงถูกพุ่งเป้าโจมตีด้วยการใช้สปายแวร์เพกาซัสและการคุกคามทางออนไลน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะปิดปากพวกเขา ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยว่า ประเทศไทยวางตัวเป็นผู้นำด้านความเท่าเทียมกันทางเพศมานาน เเละให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ ในระดับนานาชาติว่าจะปกป้องสิทธิผู้หญิงและสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ความเป็นจริงก็คือ ผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในประเทศยังคงต้องเผชิญกับความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศอันแสนสาหัสผ่านการใช้เทคโนโลยีอยู่

หลังการรัฐประหาร ปี 2557 นักกิจกรรมที่ต้องอยู่แนวหน้าของการชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชนท่ามกลางพื้นที่พลเมืองที่หดตัวลง

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้แสดงให้เห็นว่าเครื่องมือดิจิทัลกลับถูกใช้เพื่อคุกคามพวกเขา ทั้งการปล่อยข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศสภาวะ และเผยแพร่ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและมีเนื้อหาที่ผูกโยงกับเพศ อันเป็นการดูถูกและย่ำยีศักดิ์ศรีผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

รายงานฉบับนี้ยังอ้างอิงจากข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวน 40 คน ซึ่งรวมถึงนักกิจกรรมเยาวชนจำนวนมากและผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตนถูกสร้างภาพให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นตัวแทนจากต่างประเทศที่พยายามบ่อนทำลายรัฐบาลไทย โดยปฏิบัติการพุ่งเป้าใส่ร้ายป้ายสีบนโลกออนไลน์ที่มีการประสานงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าสงสัยว่าอาจจะริเริ่มหรือสนับสนุนโดยรัฐหรือบุคคลอื่น ๆ ที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับรัฐ

ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

นักกิจกรรมบางคนเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบของการจงใจเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัว (doxing) ได้แก่ การเปิดเผยเอกสารหรือรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลทางออนไลน์โดยไม่ได้รับความยินยอม

ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ นักเคลื่อนไหวเยาวชนด้านเฟมินิสต์ ที่ระบุตัวตนว่าเป็นนอนไบนารี่ (ผู้ที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบเพศชาย-หญิง) บอกว่า เมื่ออายุ 17 ปี มีบัญชี X (ชื่อเดิมคือ Twitter) ที่ไม่ระบุชื่อ ได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของเขาต่อสาธารณะ รวมถึงหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และข้อกล่าวหาทางอาญาที่เขาต้องเผชิญจากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นการจงใจข่มขู่และกีดกันเขาจากการเคลื่อนไหวต่อไป

นักกิจกรรมผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากในชุมชนมุสลิมต้องเผชิญกับการตอบโต้อย่างรุนแรงทางออนไลนจากการเคลื่อนไหวของพวกเขา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือนักกิจกรรมผู้หญิงข้ามเพศมุสลิมสามคนถูกข่มขู่ว่าจะใช้ความรุนแรง หลังจากพวกเธอให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการต่อต้านกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศภายในชุมชนของตน

เอลิน่า คาสติลโย ฆิเมเนซ (Elina Castillo Jiménez) นักวิจัยด้านการสอดแนมทางดิจิทัลจาก Security Lab ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เป้าหมายสูงสุดของการโจมตีเหล่านี้คือการมุ่งเป้าไปที่ตัวตนของนักกิจกรรม บ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของพวกเขา ลดความชอบธรรมในบทบาทของพวกเขา และแยกพวกเขาออกจากสังคม นี่เป็นกลยุทธ์ที่แพร่หลายซึ่งส่งสารที่ชัดเจนว่า นักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกลงโทษหากพวกเขากล้าที่จะท้าทายสถานภาพปัจจุบัน

เช็ชฐา ดาส (Shreshtha Das) ที่ปรึกษา นักวิจัยด้านเพศวิถีศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เครื่องมือดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิง เด็กหญิง และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยและทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสดงออก การเคลื่อนไหวและส่งเสริมความยุติธรรมทางเพศ แต่ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทำให้พื้นที่ดิจิทัลไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา อีกทั้งยังขัดขวางไม่ให้พวกเขาพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มที่

รัฐบาลไทยปฏิเสธการมีส่วนร่วมใด ๆ กับการพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลและการคุกคามออนไลน์ต่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้แสดงความเต็มใจที่จะสอบสวนกรณีต่าง ๆ ที่ถูกเน้นย้ำในงานวิจัยนี้

การไม่ดำเนินการอย่างแท้จริงในการปกป้องนักกิจกรรมสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบของตนภายใต้สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี รวมถึงการรับประกันสิทธิที่จะมีอิสรภาพจากความรุนแรงบนพื้นฐานเพศ สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมประท้วงโดยสงบและการสมาคม สิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์

ขณะที่ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยต้องให้คำมั่นต่อสาธารณะที่จะไม่กระทำการละเมิด และปกป้องนักกิจกรรมจากการพุ่งเป้าสอดแนมทางดิจิทัลและการคุกคามทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังต้องสอบสวนทุกกรณีของความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีต่อนักกิจกรรมผู้หญิงและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งจัดให้มีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพแก่บุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย

นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ประเทศไทยหยุดการใช้การใช้สปายแวร์ที่มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวสูงและสร้างระบบกำกับดูแลที่สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชนสำหรับสปายแวร์ประเภทอื่นๆ และในช่วงเวลาที่ยังไม่มีระบบดังกล่าวที่ใช้ได้จริง รัฐบาลควรประกาศยุติการขาย การใช้ การส่งออก การถ่ายโอน และการสนับสนุนสปายแวร์รูปแบบอื่นๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ บริษัท NSO Group ยังล้มเหลวในการปฏิบัติตามความรับผิดชอบด้านสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้เขียนจดหมายถึงกลุ่ม NSO และบริษัทในเครือ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการขายซอฟต์แวร์เพกาซัสที่ใช้สอดแนมผู้ให้สัมภาษณ์ 9 คนจาก 40 คน แต่ยังไม่มีบริษัทไหนตอบกลับมา

NSO Group จะต้องยุติการผลิต ขาย ถ่ายโอน ใช้ และสนับสนุนเพกาซัสหรือสปายแวร์ที่มีลักษณะรุกล้ำอย่างสูงชนิดอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งบริษัทยังต้องจัดให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอแก่ผู้เสียหายของการพุ่งเป้าสอดแนมโดยมิชอบด้วยกฎหมายผ่านสปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย

“ประเทศไทยจะไม่มีวันเป็นสวรรค์ของความเท่าเทียมทางเพศอย่างที่กล่าวอ้างกัน เว้นแต่รัฐบาลและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจะเร่งดำเนินการยุติความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศผ่านการใช้เทคโนโลยีทันที”

ชนาธิป ตติการุณวงศ์

ขณะเดียวกันยังมีเวทีเสวนาเปิดตัวรายงาน “อันตรายเกินกว่าจะเป็นตัวเอง” โดยการเล่าประสบการณ์การถูกคุกคาม และความรุนแรงที่เคยเจอของ นักกิจกรรม นักวิชาการ

อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจของสหประชาชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวเคยถูกคุกคามทางออนไลน์ตั้งแต่ปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิฯ เนื่องจากมีการแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียตลอดเวลา มองว่า การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวไม่ควรถูกปิดกั้นเสรีภาพ ซึ่งในความเป็นผู้หญิงเรื่องเพศจะถูกหยิบยกขึ้นมาทำลายความเป็นตัวตน

“คนที่มาคุกคามไม่ได้ต้องการอะไร นอกจากทำให้เสียเกียรติ มันเป็นเหมือนชัยชนะของคนที่กลั่นแกล้งผู้อื่น รู้สึกว่าถ้ากรรมการสิทธิฯ ไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นั่นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้”

อังคณา นีละไพจิตร

นาดา ไชยจิตต์ อาจารย์สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกว่า การคุกคามทางเพศ มักถูกฝั่งตรงข้ามหรือคนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกันนำสถานการณ์ของตนไปโจมตีทางการเมือง และยังถูกเลือกปฏิบัติในศาสนา ถูกด่าทอในโซเชียลมีเดียอีกด้วย

ไม่ต่างจาก สิรภพ อัตโตหิ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อยู่ในแวดวงนักกิจกรรม เล่าว่า ตั้งแต่การเคลื่อนไหวในปี 2563 ช่วงแรกที่ออกมาเคลื่อนไหวทั้งประเด็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางเพศ โดนถ่ายรูป และนำไปพูดให้เกิดความเสียหายในทำนองว่าเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน 

อีกทั้งถูกมองข้ามประเด็นที่สื่อสาร ถูกมองอันลักษณ์ของตนว่าทำให้การเคลื่อนไหวเป็นเรื่องไม่จริงจัง ในพื้นที่ออนไลน์มีการ hate speech ด้วยถ้อยคำรุนแรง ซึ่งผู้หญิง และ LGBTQ จะถูกโจมเรื่องรูปร่าง และอัตลักษณ์ ความรุนแรงเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานเรื่องเพศ แต่ก็ยังขึ้นซ้ำๆ นำไปสู่การทำลายสุขภาพจิต พร้อมมองว่า เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงเปิดใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย โดยพื้นที่ออนไลน์ที่กลายเป็นสังคมขนาดใหญ่ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ

ขณะที่ บุศรินทร์ แปแนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ซึ่งได้รับผลกระทบจาก สปายแวร์ (spyware) การสอดส่องข้อมูลส่วนตัวในโทรศัพท์และโซเชียลมีเดีย เหตุเกิดจากการที่ต้องลงพื้นที่เพื่อสังเกตการณ์การละเมิดสิทธิในที่ชุมนุม และนำมาทำข้อมูล จนตนเองตกเป็นเป้าหมายของสปายแวร์

“ทำให้รู้สึกว่ายืนอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มั่นคงแล้ว เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์ทั้งสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น และการถูกโจมตีจากสปายแวร์ จึงมีข้อเสนอต่อรัฐ คือ ต้องเปิดเผยสัญญากับสปายแวร์ เปิดข้อเท็จจริงออกมา อยากให้นำเงินมาอุดหนุนเกี่ยวกับการผลักประชาธิปไตยจริง ๆ  แทนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายเพื่อสอดส่องข้อมูลประชาชน”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active