เปิดวิวาทะ 2 ฝ่าย ผอ.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ฯ กับฝ่ายเลขาเครือข่ายสลัม ๔ ภาค ถกเรื่องโพสต์ “บทบาทหน้าที่บนที่ดินการรถไฟ กับการแก้ปัญหาชุมชนคนจนเมือง”
วันที่ 26 ก.ย. 65 ทีมข่าว The Active ติดตามสถานการณ์ข้อถกเถียงบนสื่อสังคมออนไลน์ สืบเนื่องจากวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ภาพ จากเครือข่ายสลัม ๔ ภาคที่เป็นภาพการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิที่อยู่อาศัยทั่วประเทศรวมตัวกันเคลื่อนไหวในวันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ พร้อมข้อความว่า
”ที่ดินของการรถไฟฯ มีไว้เพื่อประโยชน์ในด้าน? การเดินรถ การคมนาคมขนส่งของประเทศ การรถไฟฯ ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติ โดยขอให้ผู้บุกรุกมาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ให้ถูกต้องตามกฏหมาย”
เพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
หลังข้อความดังกล่าวเผยแพร่ พบว่า มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นจำนวนมากโดยจำนวนมาก ทั้งในทิศทางการต่อว่าชุมชนคนจนเมืองริมทางรถไฟ ว่าเป็นผู้บุกรุก ผู้ทำผิกกฎหมาย ต่อว่าการรถไฟที่ไม่ดูแลพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ของตัวเอง รวมถึงการเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน
ด้าน คมสันต์ จันทร์อ่อน ฝ่ายเลขา เครือข่ายสลัม ๔ ภาค ระบุว่า การโพสต์ของทีมพีอาร์การรถไฟฯ ทำให้ตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงต้องเอาภาพของเครือข่ายไปโพสต์ และประเด็นที่นำเสนอนั้น ทำให้สังคมเข้าใจผิด และไม่เป็นผลดีต่อชาวบ้าน
“ทางทีมพีอาร์กำลังทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ประชาชนเอาที่ดินมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน โพสต์ดังกล่าวให้ข้อมูลไม่รอบด้าน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าชุมชนที่อยู่ในที่ดินการรถไฟมาเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง นี่คือเจตนาของโพสต์นั้นตามที่ได้อ่าน ทำให้คนมาแสดงความคิดเห็นแนวเดียวกันทั้งหมด ซึ่งทำให้ถูกมองในแง่ลบ และทีมพีอาร์ก็ไม่ได้มาชี้แจงเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ถ้าเขาเจตนาดี น่าจะบอกว่า ชาวบ้านสามารถมาให้เช่าที่รถไฟได้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ จะเป็นการให้ข้อมูลสาธารณะ แต่กลับนิ่งเฉย ในเรื่องนี้”
ส่วน เอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เหตุผลว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออกทางความคิดเห็นได้ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ทุกความคิดเห็น แตกต่างกันได้ สิ่งไหนถูกหรือผิด ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินเอง… ในส่วนของโฆษณาที่เครือข่ายสลัมสี่ภาคชักชวนคนมาเดินขบวนเพื่อปฏิรูปที่ดินของการรถไฟฯ ก็เป็นการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มเครือข่ายสลัมสี่ภาค ส่วนกรณีที่ เพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ โฆษณาของเครือข่ายสลัมสี่ภาค และแสดงความคิดเห็นว่า “ที่ดินของการรถไฟฯ มีไว้เพื่อประโยชน์ในด้านการเดินรถ การคมนาคมขนส่งของประเทศ การรถไฟฯ ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และนำนโยบายของรัฐบาลมาปฏิบัติ โดยขอให้ผู้บุกรุกมาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ ให้ถูกต้องตามกฏหมาย” นั้น ก็เป็นการแสดงออกทางความคิดเห็นของเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ
“ผมวิเคราะห์ข้อมูลของเพจทีมพีอาร์การรถไฟฯ ก็เห็นว่า เขาแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกลางด้วยซ้ำ เพจมองว่าที่ดินเป็นเรื่องของการเดินรถ ไม่ได้ว่าเครือข่ายหรือใครเลย เรื่องการเช่าที่ดินก็เช่นกัน เพจไม่ได้ต่อต้าน แต่ให้ผู้บุกรุกมาทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของการรถไฟฯ ให้เป็นผู้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง เครือข่ายโพสต์ปฏิรูปที่ดินของการรถไฟฯ ทีมพีอาร์เขาก็โพสต์ ต่างคนต่างแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นของทั้งสองฝ่าย ข้อดีอีกหนึ่งอย่างก็คือ จะเห็นได้ว่ามีประชาชน เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการรถไฟฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับทราบข้อเท็จจริง และทราบความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ว่าเขาคิดกันอย่างไร”
สำหรับปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมืองบนที่ดินริมทางรถไฟนั้นเป็นปัญหาที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมมานานหลาย 10 ปี จากข้อมูล พบว่า มีผู้ว่าอาศัยอยู่บนที่ดินของการรถไฟฯ ทั้งหมด 27,096 หลังคาเรือน 346 ชุมชน ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ
ด้าน ฝ่ายเลขาเครือข่าวสลัม ๔ ภาคย้ำว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสลัม ๔ ภาคพยายามรณรงค์เพื่อให้การรถไฟฯ แบ่งปันพื้นที่ให้เช่า เพื่อให้ชาวบ้านได้อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่กลับพบว่า การดำเนินงานในส่วนราชการมีความล่าช้า ทั้งที่มีมติคณะรัฐมนตรี ให้การรถไฟเร่งดำเนินการเรื่องนี้แล้ว
“การรถไฟฯ มีที่ดินที่ไม่เกี่ยวกับการเดินรถ 36,302 ไร่ ชาวบ้านขอแบ่งเช่าไม่เกิน 900 ไร่ หรือคิดเพียง 2.5% เท่านั้น ซึ่งกรณีการเช่าที่ดินของการรถไฟ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่าที่ผ่านมามีบริษัท กลุ่มทุนที่มีกำลังทรัพย์สามารถเช่าที่รถไฟได้มากมาย แต่กลับเป็นเรื่องยากสำหรับคนจนเมือง หากปฏิบัติตามธรรมาภิบาล และนโยบายของรัฐจริง ประชาชนต้องมาก่อนผลกำไร”
สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก จัดขึ้นวันที่ 3 ตุลาคมนี้ เริ่มเดินรณรงค์ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภายใต้หัวข้อ “สิทธิที่อยู่อาศัยต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้”