องค์กรสตรีฯ ชี้มายาคติ “ตำแหน่งใหญ่ – สถานะทางสังคมดี” ปล่อยคนผิด ละเมิดทางเพศ ‘ลอยนวล’

เชื่ออคติสังคมไทยตัวการทำเหยื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่กล้าเปิดตัว กระบวนการยุติธรรมหวังพึ่งไม่ได้ ไม่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เหยื่อ ทำเรื่องเงียบ วอนคนรอบข้าง – ครอบครัว ลุกขึ้นมาปกป้อง อยู่เคียงข้างผู้ถูกกระทำ

วันนี้ (15 เม.ย.65) จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยกับ TheActive ถึงกรณี ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถูกกล่าวหากระทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิงนั้น พบว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะผู้คนที่มีสถานะทางสังคม มีตำแหน่ง เป็นนักการเมือง ครู ข้าราชการ มักก่อเหตุในลักษณะนี้บ่อย แทบทั้งหมดใช้ภาพลักษณ์ และอำนาจทำให้ผู้ถูกกระทำ ไม่กล้าที่จะเอาผิด ซึ่งมูลนิธิฯ รับเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะครู ที่กระทำกับลูกศิษย์ และ ข้าราชการ ที่กระทำกับผู้ใต้บังคับบัญชา และแทบทุกกรณีผู้ก่อนเหตุไม่ได้กระทำกับเหยื่อแค่คนเดียว บางกรณีเกิดขึ้นซ้ำ ๆ ต่อเนื่องนับ 10 คน

“คนที่มีอำนาจเหนือกว่า เป็นครู เป็น ผู้บังคับบัญชา จะใช้อำนาจกระทำการล่วงละเมิดทางเพศไปเรื่อย ๆ หรือแม้แต่ในครอบครัว คนเป็นพ่อ เป็นญาติ กระทำกับลูกหลาน ก็ใช้วิธีการเดียวกัน คืออ้างถึงอำนาจเข้ามาคุกคาม สิ่งเหล่านี้คือมายาคติที่ทำให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อเงียบมาตลอด เหมือนอย่างกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดกับนักการเมืองคนดัง ถ้าไม่มีเหยื่อที่กล้าเปิดโปง สังคมก็คงไม่รู้ว่ามีเหยื่อที่ถูกกระทำอีกหลายคน มูลนิธิฯ จึงอยากสนับสนุนให้เหยื่อความรุนแรงทางเพศลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรม ที่สำคัญคือครอบครัว คนรอบข้าง ต้องยืนเคียงข้าง และออกมาปกป้องผู้ถูกระทำอย่างถึงที่สุด”

จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

เรียกร้องพรรคการเมือง ปฏิเสธคนมีประวัติใช้ความรุนแรงทางเพศร่วมงาน

ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังเรียกร้องถึงพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะเท่าที่มูลนิธิฯ ติดตามเรื่องนี้พบว่า นักการเมืองคนดังกล่าว เคยได้รับมอบหมายจากพรรคให้ร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อสตรีและเพศวิถี เมื่อหลายปีก่อน หากเรื่องราวต่าง ๆ เป็นไปตามข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น ก็นับได้ว่านักการเมืองคนนี้ กระทำการที่ขัดต่อภาพลักษณ์ และบทบาทหน้าที่ของตัวเอง พร้อมทั้งยังเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรค ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประวัติของสมาชิกพรรค แม้จะอ้างว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่กรณีการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และองค์กรการเมืองต้องปฏิเสธผู้ที่มีประวัติกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเพศสภาพอื่น ๆ ทุกรูปแบบ เพราะถือเป็นผลกระทบทางจิตใจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่เคลียร์กันได้ง่าย ๆ

ขณะที่ วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา อธิบายว่า ประเด็นนี้เกิดขึ้นบ่อยในสังคมไทย ตั้งแต่ผู้มีอำนาจ คนใหญ่คนโต ผู้มีอำนาจทางการเมือง ข้าราชการ ไปจนถึงบุคคลในครอบครัว คนใกล้ชิด สะท้อนว่า สังคมยังมีปัจจัยเอื้อให้เกิดความรุนแรงทางเพศได้ โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำ ที่มีสถานะทางสังคม มีความสัมพันธ์เป็นผู้ใหญ่ มีอำนาจ ครอบงำ ข่มขู่ กดดัน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ทำผิดแล้วไม่ผิด ยังลอยนวลอยู่ได้ เป็นปัจจัยสำคัญมาก ๆ เพราะทำแล้วเหยื่อไม่กล้าเอาผิด

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา

อคติโทษเหยื่อ ทำคนผิดละเมิดทางเพศลอยนวล

วราภรณ์ บอกด้วยว่า สิ่งที่ทำให้ผู้กระทำยังลอยนวล ปัจจัยที่เอื้อมากที่สุด คือ มายาคติของสังคม คนใกล้ชิด คนในครอบครัว ที่มีอคติต่อผู้ถูกกระทำ กลายเป็นว่าผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิด แทนที่จะเป็นฝ่ายเสียหาย แต่สังคมไทยกลับตั้งคำถาม ว่า “ทำไมจึงยอมเขา” “ไปกับเขาทำไม” ถ้าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ก็จะมีการตั้งคำถามว่า “พ่อแม่ปล่อยลูกไปทำไม” กลายเป็นว่าสังคมมีอคติ มองว่าการล่วงละเมิด ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิด และตั้งคำถามที่พุ่งไปที่เหยื่อราวกับว่าเหยื่อคือต้นตอของปัญหา

“อคติต่อเหยื่อ ทำให้พวกเขาต้องคิดหนักในการออกมาพูด เปิดเผยเรื่องราว ไม่ต้องมองไปถึงการเอาผิด เรื่องแบบนี้เหยื่อไม่ใช่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ ร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีราคาทางสังคมที่ต้องจ่าย เพราะสังคมมักตั้งคำถาม ถึงการถูกกระทำ โดยเฉพาะถ้าหากผู้กระทำมีสถานะทางสังคม เหยื่อบางคนไม่กล้าพูด เพราะกลัวคนอื่นไม่เชื่อ”

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา


กระบวนการยุติธรรม กระทำซ้ำความรุนแรง

ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศฯ อธิบายถึง ปัจจัยที่เอื้อให้ผู้กระทำล่วงละเมิดทางเพศยังลอยนวลในสังคมได้ โดยชี้เป้าไปที่ระบบการตรวจสอบ เอาผิด เพราะเมื่อเกิดกรณีล่วงละเมิดทางเพศในไทย ส่วนใหญ่ผู้ถูกกระทำ ต้องดิ้นรนด้วยตัวเอง ต้องไปหาแหล่งบริการตรวจร่างกายเอง แทบไม่มีใครจะช่วยดูแล และไม่รู้ว่าต้องทำยังไง หากคิดจะแจ้งความตำรวจ ก็อาจต้องเผชิญกับการตั้งคำถาม เสมือนถูกข่มขืนซ้ำ และบางครั้งอาจต้องไปดิ้นรนหาหลักฐานด้วยตัวเอง เพราะกระบวนยุติธรรมในไทย ให้ความสำคัญกับผู้ถูกกระทำน้อยมาก

“ตำรวจไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำหน้าที่ในคดีล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนี้เราพูดกันบ่อยในสังคม เพราะเมื่อเกิดเหตุที เหยื่อจะเจอกับคำถามที่ทำให้รู้สึกอึดอัดในกระบวนการสอบสวน และยิ่งต้องมาเจอกับผู้กระทำที่มีสถานะทางสังคม ก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการเอาผิดได้ ถ้าไม่เป็นข่าวจริง ๆ ยากมากกับการเรียกร้องความยุติธรรม เพราะรู้อยู่ว่า สังคมไทยยอมรับผู้มีอำนาจ ว่าอาจเป็นฝ่ายถูก เพราะมีคนพร้อมเชื่อถือมากกว่า แค่คิดว่าจะดำเนินการไปจนสุดกระบวนการยุติธรรมนั้นยากมาก”

วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา

วราภรณ์ บอกด้วยว่า จากกรณีของนักการเมืองดังที่เป็นข่าว บทบาทของทนายความ และสื่อ ทำให้ผู้เสียหายคนอื่น ๆ พร้อมเปิดเผยตัวกลายเป็นว่า ท่ามกลางสังคมมีอคติคิดเข้าข้างผู้ชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่ง มีคนนับหน้าถือตา แต่พอมีผู้เสียหายมากขึ้น ก็ช่วยคานน้ำหนักกับอคติสังคมที่มองเรื่องนี้ได้มากขึ้น ดังนั้นส่วนตัวคิดว่า หากกระบวนการยุติธรรมดี ในเรื่องความรุนแรงทางเพศ เหยื่ออาจไม่จำเป็นต้องไปหาสื่อ ไปหาทนายคนดังเพื่อกระจายข่าวให้เป็นเรื่องราวก่อน แต่เมื่อเป็นแบบนี้ ก็สะท้อนชัดเจนว่า กระบวนการยุติธรรมยังไม่เป็นที่ไว้วางใจ ในกรณีความรุนแรงทางเพศ ยังไม่เห็นประจักษ์ว่ากระบวนการยุติธรรมจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร



Author

AUTHOR