ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศไม่ดีขึ้น เหยื่ออายุน้อยสุด 8 เดือน

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลชี้ ถึงเวลาปฏิรูปตำรวจ เยียวยาอย่างเป็นระบบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ยอมรับ ทั่วประเทศยังขาดความเข้าใจ เตรียมเสนอรับพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่ม บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน

เมื่อวันที่ 25 พ.ค.65 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ: ปกป้องคุ้มครองสิทธิผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างไร?”  โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมสะท้อนและแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อหาแนวทางในการดูแลช่วยเหลือ กลไกคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรรมและการเยียวยาที่เหมาะสม และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล

จากรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ปี 2564 โดย กสม. พบว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 มีสถิติสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศเพิ่มสูงขึ้น และยังมีกรณีการคุกคามทางเพศปรากฏอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการแก้ไขปัญหานั้น ล่าสุดจากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิสตรีของประเทศไทยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ปัจจุบันมีกลไกของหน่วยงานรัฐ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ช่องทางสายด่วนต่าง ๆ หรือสถานที่ในการให้ความดูแลชั่วคราวอยู่ รวมทั้งมีความพยายามในการร่างกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดซ้ำในคดีที่เกี่ยวกับเพศ

อย่างไรก็ดี ยังพบรายงานเหตุการณ์คุกคามทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งมีอุปสรรคที่ผู้หญิงต้องประสบจากการถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งในเรื่องของความกล้าที่จะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ช่องทาง/กลไกในการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ และการฟื้นฟูเยียวยาผู้ถูกกระทำอย่างเหมาะสม ตลอดจนการดูแลช่วยเหลือให้ผู้หญิงเหล่านั้นสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงทางเพศ เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของผู้หญิงในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามข่มขืน หรือข่มขืนจนสำเร็จ การทำอนาจาร การคุกคามโดยกริยาท่าทาง วาจา หรือโทรศัทพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้กระทำคือคนรู้จักคุ้นเคยใกล้ชิดซึ่งไม่ต่างจากสังคมอื่น แต่น่าตกใจคือ ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้เสียหายอายุต่ำสุดคือประมาณ 8 เดือน สูงสุดคือ 105 ปี ขณะที่ผู้กระทำอายุต่ำสุดคือ 7 ขวบ และ สูงสุดคือ 82 ปี ที่น่าสลด คือ กรณีรุมโทรมมีผู้ร่วมกระทำในครั้งเดียวกันสูงสุดถึง 30 คน

ขณะที่ปัญหาการกระทำความรุนแรงทางเพศ ยังเกี่ยวพันกับความรุนแรงทางวัฒนธรรม ที่ส่งผลไปถึงโครงสร้างทางสังคม หล่อเลี้ยงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่หลายกรณีผู้ถูกกระทำต้องต่อสู้ด้วยตัวคนเดียวทำให้ตัวเลขรับแจ้งความไม่ตรงกับจำนวนเรื่องร้องเรียนกับศูนย์ร้องเรียนของภาคประชาชน ที่มีจำนวนมากกว่ามาก

“วัฒนธรรมตีตราผู้เสียหาย ตั้งคำถามกับผู้เสียหายก่อนว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเหตุ เช่น คุณแต่งตัวโป๊หรือเปล่า ไปในที่เปลี่ยวหรือเปล่า หรือต้องการเรียกผลประโยชน์จากฝ่ายชายหรือเปล่า สิ่งนี้เป็นความรุนแรงมากที่สุดเพราะเรามองไม่เห็น รวมถึงวัฒนธรรมเงียบ การปกปิดนิ่งเฉย ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด ย่ามใจ และทำซ้ำอย่างเช่นกรณีนักการเมืองที่เราเห็นในสื่อปัจจุบัน”

ขณะที่ ข้อเสนอในเชิงนโยบาย เสนอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเข้าใจรากเหง้าความสัมพันเชิงอำนาจสอนให้เข้าเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เข้าใจเพศสัมพันธ์ต้องอยู่บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจดังนี้

1 มีคู่มือเรียนรู้แก้ปัญหาของผู้ถูกกระทำ

2.พัฒนาสื่อการเรียนรู้ เรื่อง sexual consent

3.พัฒนาระบบการทำงานช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกล่วงละเมิด

4.สนับสนุนให้องค์กรรัฐและองค์กรอิสระ มีนโยบายป้องกันความรุนแรงทางเพศทุกรูปแบบเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน (open door policy )

5.ยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม ทนาย ตำรวจ อัยการ และศาล เปิดพื้นที่ให้มีพนักงานสอบสวนหญิงเพิ่มเติม

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ด้าน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จะกลับไปหารือกับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการรับพนักงานสอบสวนหญิงที่มาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนหญิง มีความสามารถเท่ากับผู้ชาย ตั้งใจ แต่อาจมีความละเอียดอ่อนกว่าในบางอย่าง อีกเรื่องคือการอบรมให้ความรู้ในคดีค้ามนุษย์ ล่วงละเมิดทางเพศ สิ่งสำคัญค่อการบูรณาการระดับท้องถิ่น ที่ต้องยอมรับว่าท้องถิ่นขาดความเข้าใจอยู่มาก ซึ่งขณะนี้เปิดอบรมไปชุดเดียวประมาณร้อยละ 10  คาดว่าจะครบทั้งหมดประมาณ 7 เดือน โดยมีเป้าหมายเป็นพนักงานสอบสวน อัยการ กระทรวงแรงงาน ฯลฯ ในทุกจังหวัด เพื่อให้รู้จัก เข้าใจไปในทางเดียวกัน 

“ยอมรับว่าพนักงานสอบสวนมีความเข้าใจเรื่องนี้น้อย ตอนนี้พยายามให้ท้องถิ่นมีล่ามสำหรับคนพิการที่ถูกกระทำ คัดแยกเหยื่อ ใช้เวลาเกือบปีถ่ายทอดลงไปให้เขาจนจบ แทนที่จะรอให้ส่วนกลางต้องไปเองทั้งหมด รวมถึงเรื่องพฤติกรรม มารยาท ต้องเป็นมิตร นอกจากการอบรมคือการเน้นการบูรณาการป้องกันปราบปรามเด็ดขาด ทั้งการดำเนินคดียึดทรัพย์กับผู้มีอิทธพลที่ค้ามนุษย์ มาตรการคุ้มครองเหยื่อ การจ่ายเงินเยียวยาอย่างรวดเร็ว เหมาะสม”

ขณะที่รูปแบบของการล่วงละเมิดทางเพศในปัจจุบัน โดยเฉพาะพฤติกรรมที่กระทำต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและผลกระทบของการล่วงละเมิดทางเพศในสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ผู้กระทำผิด 1 คนสามารถเข้าถึงตัวเด็กได้เป็นร้อยคน ตำรวจจึงต้องปรับรูปแบบใหม่ไม่ใช่แค่ครอบครองสื่อลามก แต่วันนี้จะพยายามพิสูจน์ตัวตนเด็กช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ออกมา ฟื้นฟู เยียวยาด้วย

ด้าน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงสถานการณ์กระทำความรุนแรงทางเพศต่อเด็กและเยาวชนไม่เปลี่ยน  สะท้อนว่าการต่อรองของเด็กน้อยมาก เช่น ในครอบครัว โรงเรียน แต่สิ่งที่ห่วงคือสถานศึกษาสูงพบจำนวนสูงมากหลายเคสไม่กล้าแจ้งความ ภาคประชาชนเคยพยายามกดดันกระทรวงศึกษาธิการ ให้เปิดเผยตัวเลข การทำงานของศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ในโรงเรียนตัวเลขเป็นอย่างไร หลักสูตรในโรงเรียนไปถึงไหน การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบายจึงเป็นเรื่องใหญ่

“เรื่องใหญ่คือกระบวนการยุติธรรมไม่เอื้อให้ผู้ถูกกระทำได้รับการคุ้มครอง ทางออกนอกจากมีพนักงานสอบสวนหญิง คือการปฎิรูปกฎหมาย โทษต่างๆ รวมถึงกฎระเบียบการป้องกันการคุกคามหรือการละเมิดทางเพศ ที่กรมกิจการเด็กและเยาวชน ดำเนินการอยู่ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งจะทำไม่ได้หากขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจ เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการต่าง ๆ”

หรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังได้กล่าวถึงมิติสิทธิมนุษยชนกับการคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ หน้าที่ของรัฐตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับการกระทำรุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับเพศ กลไกทางกฎหมายและนโยบายในการคุ้มครองผู้ถูกคุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญานี้และมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม ซึ่งจะรวบรวมข้อเสนอในครั้งนี้ เสนอให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน