องค์กรผู้บริโภค ย้ำ ผู้ประสบเหตุ ‘รถทัวร์ชนตอม่อ’ ต้องได้สิทธิชดเชยเป็นธรรม

เรียกร้อง คปภ. กำกับจ่ายค่าสินไหมทดแทน ผู้ประสบเหตุอย่างเท่าเทียม ไร้เงื่อนไขประนีประนอมยอมความ วอน ก.คมนาคม ลงโทษขั้นสุด ผู้ประกอบการขนส่ง ละเลยความปลอดภัยผู้บริโภค

จากกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารประจำทางสองชั้นของ บริษัท สหพันธ์ร้อยเอ็ดทัวร์ จำกัด สายกรุงเทพ-สุวรรณภูมิ เสียหลักพุ่งชนตอม่อสะพานต่างระดับ ในพื้นที่ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา จนทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 8 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมากนั้น  

          วานนี้ (15 มี.ค.65) ปฐมพร กัณหา ประธานสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.สระบุรีบอกว่า อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะ เป็นประเด็นที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคติดตามมาอย่างต่อเนื่อง หลายเหตุการณ์มักเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคกลาง เช่น จ.สระบุรี ที่มักเป็นจุดเกิดอุบัติเหตุรุนแรงหลายครั้ง อีกทั้งในเหตุการณ์นี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น การใช้ยาเสพติด ‘เมทแอมเฟตามีน’ ของพนักงานขับรถโดยสาร และสภาพรถที่ไม่มั่นคงปลอดภัย

ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลต้องเร่งสร้างความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารตลอดการเดินทาง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการควรต้องเข้มงวดกับมาตรการความปลอดภัย เพื่อเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้อีก

          และเนื่องในวันที่ 15 มี.ค.ของทุกปี ตรงกับ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” (World Consumer Rights Day) ชลดา บุญเกษม กรรมการนโยบายเขตพื้นที่ภาคกลาง สภาองค์กรของผู้บริโภค และประธานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางเห็นว่า ต้องกระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภค ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเคารพและปกป้องสิทธิของผู้บริโภคอย่างทั่วถึง ดังนั้น ผู้โดยสารที่บาดเจ็บ และญาติของผู้เสียชีวิตทุกคน ต้องได้รับการชดเชยค่าสินไหมทดแทนที่เหมาะสม จนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ เนื่องจากผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง จึงมีข้อเสนอร่วมกัน ดังนี้

          1. ขอให้กระทรวงคมนาคม เร่งทบทวนมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ โดยขอให้กำกับเรื่องคุณภาพมาตรการให้บริการ มาตรการกำกับความเร็ว คนขับระยะทางไกล 2 คน ซึ่งขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างชัดเจน

          2. ขอให้กระทรวงคมนาคม กำหนดมาตรการและบทลงโทษขั้นสูงสุด ให้กับผู้ประกอบการขนส่ง และบริษัทขนส่งจำกัด ในฐานะผู้ให้สัมปทานเส้นทางเดินรถ กรณีละเลยความปลอดภัยต่อผู้บริโภคโดยทันที

          3. ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำกับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบเหตุอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยเฉพาะการไม่นำข้อความจำกัดสิทธิในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค

          4. ขอให้หน่วยงานกำกับดูแลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและระบบขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสูงสุด ทั้งนี้จะต้องจัดให้มีตัวแทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการการจัดทำข้อเสนอด้วย

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง ในฐานะสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เปิดช่องทางให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุที่ได้รับบาดเจ็บ และทายาทของผู้เสียชีวิตทุกคน เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย และเจ้าของบริษัทรถโดยสาร ทั้งนี้ สามารถมาติดต่อมาได้ที่ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.สระบุรี โทร. 06-4539-6922

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active