นักวิชาการ หวั่นรัฐบาลลืมสัญญา ยกระดับทักษะแรงงานไม่เกิดขึ้น

ขณะที่ สภาฯ ตีตกร่าง กม. คุ้มครองแรงงาน โดยร่างฯ ฉบับ ก้าวไกล-ภูมิใจไทย ผ่านฉลุย ลุ้นเดินหน้าขยายวันลาคลอด

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 67 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จำนวน 4 ฉบับ ซึ่งมาจากพรรคก้าวไกล 2 ฉบับ, พรรคภูมิใจไทย 1 ฉบับ และกระทรวงแรงงาน อีก 1 ฉบับ โดยฉบับที่ผ่านวาระ 1 ในสภาฯ มีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน คือ

  • ฉบับของ วรรณวิภา ไม้สน สส. พรรคก้าวไกล เสนอแก้ไขให้แรงงานสามารถลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และสิทธิประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน

  • ฉบับของพรรคภูมิใจไทย แก้ไขเฉพาะให้ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน โดยให้รวมวันลาตรวจครรภ์ก่อนลาคลอดด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าแรงเต็มตลอดการลา แต่ไม่เกิน 49 วัน

ขณะที่ร่างกฎหมายที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคมออนไลน์ คือ ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ของ เซีย จำปาทอง สส. พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกตีตกในสภาฯ ด้วยมติเสียงข้างมาก 252 เสียง ต่อ 149 เสียง โดยกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญหลายประการเกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานหลายด้าน ทั้งมิติการทำงาน การพักผ่อน และการใช้ชีวิต ตามสูตร 8:8:8 ของ โรเบริ์ต โอเวน นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ ที่มองว่านอกเหนือจากเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง แรงงานควรได้พักผ่อนครบ 8 ชั่วโมง และใช้ชีวิตหรือไปพัฒนาทักษะอีก 8 ชั่วโมง โดยมีสาระสำคัญกฎหมาย ดังนี้

  • เพิ่มขอบเขตการคุ้มครองสิทธิให้ครอบคลุมแรงงานทุกรูปแบบ เช่น แรงงานจ้างเหมา ฟรีแลนซ์ แรงงานแพลตฟอร์ม ฯลฯ

  • คุ้มครองคนงานในภาครัฐ และหากมีการออกกฎกระทรวง ต้องคุ้มครองสิทธิไม่น้อยกว่ากฎหมายแรงงาน

  • ห้ามเลือกปฏิบัติทุกชนิด เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ ตั้งแต่การคัดเข้าทำงาน

  • กำหนดให้แรงงานมีชั่วโมงทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (5 วัน) และมีวันหยุด 2 วันต่อสัปดาห์

  • ทุกสถานประกอบการที่มีการจ้างทั้งแบบรายเดือนและรายวันต้องปรับการจ้างเป็นแบบรายเดือนทั้งหมด

  • สิทธิลาพักผ่อนได้ 10 วัน/ปี และสะสมได้ไม่เกิน 1 ปี

  • สิทธิลาไปดูแลครอบครัวหรือคนใกล้ชิด 15 วัน/ปี

  • กำหนดให้มีสถานที่ให้แม่ปั๊มนมในที่ทำงาน

  • ค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพิ่มทุกปี ไม่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะอภิปรายในสภาฯ สส. ฟากรัฐบาลส่วนใหญ่มองว่า ร่างของ สส.เซีย นั้นฟังแล้วดูดี เป็นประโยชน์ แต่ยังมีจุดบกพร่อง เพราะจะเป็นการสร้างภาระให้กับ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่ต้องแบกรับต้นทุน วันหยุดของแรงงาน ที่เป็นต้นทุนกว่า 20% จนอาจนำไปสู่การปิดกิจการลง พร้อมระบุว่า กฎหมายแรงงานต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีขึ้น แต่ต้องไม่ซ้ำเติมให้ผู้ประกอบการรายย่อยล้มละลาย

May be an image of 13 people and newsroom
เซีย จำปาทอง สส.พรรคก้าวไกล

ภายหลังสภาฯ ปัดตกร่างกฎหมายดังกล่าว เซีย จำปาทอง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชี้แจงว่า ร่างกฎหมายนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานทุกประเภท เช่น ไรเดอร์, ฟรีแลนซ์, แรงงานอิสระ ให้ได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล การปัดตกร่างดังกล่าว ทำให้ประเทศเสียโอกาสสร้างความเสมอภาคทางสังคม เสียโอกาสที่จะทำให้แรงงานได้พัฒนาทักษะ และนายจ้างก็เสียโอกาสที่จะได้แรงงานคุณภาพอีกด้วย

“ท่านมองข้ามการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทำงาน ทั้งที่พวกเขาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และทุกอย่างที่เราเสนอ ล้วนเป็นเรื่องพื้นฐาน แม้กระทั่งในสังคมออนไลน์ เราพบเห็นฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลจำนวนมาก ก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้”

เซีย จำปาทอง

ขณะที่ กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันมีงานรูปแบบใหม่ ที่งานมีความซับซ้อน และยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น แรงงานแพลตฟอร์ม แรงงานอิสระ ฟรีแลนซ์ ไลฟ์สตรีมเมอร์ ฯลฯ ซึ่งมีแนวโน้มว่าแรงงานกลุ่มนี้จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะโจทย์ของโลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งคนทำงานได้หลากหลาย แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานไทยยังล้าหลัง

และมองเห็นแรงงานในลักษณะของ ‘อาชีพ’ หรือ ‘ลูกจ้าง’ ที่มีชั่วโมงทำงานตายตัว ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงมักมีปรากฏการณ์ที่แรงงานออกมาเรียกร้องอยู่บ่อยครั้ง จากการถูกกดขี่ค่าแรงหรือสวัสดิการที่เขาควรได้ และเพราะกฎหมายยังคุ้มครองไม่ถึงแรงงานกลุ่มนั้น จึงเป็นวาระสำคัญที่ภาครัฐต้องออกแบบนโยบายให้ทันระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป ไม่เช่นนั้นแรงงานจะไม่อาจเข้าถึง ‘งานที่ดี’ ได้

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการด้านแรงงาน

“ตอนนี้กฎหมายตามไม่ทันแล้ว ถ้าสังเกตตอนนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานแค่ในภาคอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิม แต่งานใหม่ ๆ ไม่มีการคุ้มครองเพิ่มเติมเลย เราอาจจะต้องร่างกฎหมายคุ้มครองในภาพใหญ่ ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม และถ้ามีงานรูปแบบใหม่ขึ้นมา ก็หันมาใช้กลไกการออกกฎกระทรวงที่มีความรวดเร็วกว่าควบคู่กันไป เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

กฤษฎา ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะมีอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนเพื่อเพิ่มสิทธิแรงงานได้จริงหรือไม่ ทั้งที่นโยบายช่วงหาเสียงสัญญาว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำถึง 600 บาทภายในปี 2570 แต่ตอนนี้ปี 2567 แล้ว ยังไม่พบความคืบหน้าในนโยบายดังกล่าวเท่าที่ควร

โดยเฉพาะครั้งนี้ที่รัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอของก้าวไกล เกี่ยวกับการปรับค่าแรงตามเศรษฐกิจในทุกปี และยังไม่นับรวมคำสัญญาของนายกรัฐมนตรี ที่ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศ สู่ประเทศแรงงานทักษะสูง การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง และการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี แต่ตอนนี้แรงงานไทยยังต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาไปพัฒนาทักษะ ไม่มีระบบ Reskill-Upskill ที่แข็งแรง เพื่อรองรับเศรษฐกิจรูปแบบใหม่อย่างที่ทางรัฐบาลได้กล่าวไว้

“ถ้ามีคนถามว่า ทำไมแรงงานที่ก็รู้ว่าถูกกดขี่ ไม่เปลี่ยนไปทำงานอื่นที่มั่นคงกว่านี้ อย่างอาชีพไรเดอร์ พวกเขาทำงานไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงเพื่อให้อยู่รอด เพราะค่ารอบที่ต่ำมากและไม่มีการคุ้มครอง แล้วเขาจะเอาเวลาไหนไปพัฒนาทักษะตัวเองเพื่อเปลี่ยนไปทำงานที่มีคุณภาพสูงกว่า และตอนนี้เราไม่เห็นภาพเลยว่ากระทรวงไหนจะเข้ามาดูแลการพัฒนาแรงงาน อุตสาหกรรมไหนบ้างที่เราจะมุ่งเน้น ระบบการศึกษายังไม่รู้เลยว่าเราต้องผลิตกำลังคนไปเพื่อตอบโจทย์ใดของประเทศ”

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active