นักวิชาการ ชี้ ของแพงกระทบแรงงาน เสนอค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรน้อยกว่า 723 บาทต่อวัน

ประธาน กมธ.แรงงาน เร่งเดินหน้า แก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พร้อมเสนอรัฐต้องอุ้มแรงงานให้มีค่าใช้จ่ายน้อยลง และทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ พร้อมโรดแมประบบสวัสดิการยั่งยืน

วันนี้ (27 เม.ย. 2565 ) คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการสัมมนา เรื่อง “การแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” ครั้งที่ 2 แนวทางการยกระดับอัตราค่าจ้างเพื่อสร้างมาตรฐานการดำรงชีวิตแรงงานที่มีคุณค่า

กฤษฎา ธีรโกศลพงษ์ อ.ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ระบุว่า การศึกษาและเก็บข้อมูลด้านประชากรณ์ศาสตร์ และค่าครองชีพของแรงงานกว่า 1,200 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า แรงงาน 78.9% ย้ายถิ่นมาจากที่อื่น เกือบครึ่งมาจากภาคอีสาน และมักมีสมาชิกพึ่งพิงอย่างน้อย 2 คน ที่ต้องดูแลทำให้แรงงานต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และลดทอนเวลาในการนอนพักผ่อน แต่ก็ยังมีราายได้ไม่เพียงพอต่อการเก็บออม โดย 45.5% ไม่มีเงินออม เมื่อสอบถามความคิดเห็นเพิ่มเติมพบว่า ส่วนใหญ่หรือ 36.3% ต้องการมากกว่า 700 บาทต่อวัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าและบริการที่ปรับสูงขึ้น

คณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาค่าจ้างแรงงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อเสนอในการพัฒนาระบบค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิตและมาตรฐานการดำรงชีวิตที่มีคุณค่า ดังนี้

  1. ทบทวนนิยามหรือคำจำกัดความค่าจ้างขั้นต่ำให้ยกระดับเป็นค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิต โดยใช้มุมมองแบบแรงงาน ไม่ใช่แบบทุนที่มองว่ามนุษย์เป็นต้นทุนหนึ่งในเศรษฐศาสตร์ ควรพิจารณา สามปัจจัยร่วมกัน คือ ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ และค่าจ้างเพื่อดำรงชีวิต
  2. จำลองค่าครอบชีพของครัวเรือนที่ไม่มีสมาชิกพึ่งพิง และมีสมาชิกพึ่งพิง 2-3 คน พบว่า กรณีที่ครัวเรือนที่มีสมาชิกพึ่งพิง รวมค่าครองชีพประมาณ 30,118-32,117 บาท จึงควรมีรายได้ไม่น้อยกว่า 1,003-1070.50 บาทต่อวัน ส่วนกรณีไม่มีสมาชิกพึ่งพิง ค่าครองชีพประมาณ 21,688-23,687 ต่อเดือน จึงควรมีรายได้ไม่น้อยกว่า 723-789 บาทต่อวัน
  3. การสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานและปฏิรูประบบไตรภาคี โดยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 เป็นความสำคัญสูงสุด รับรองสิทธิพื้นฐานการทำงานตามสิทธิมนุษยชน การประกันสิทธิแรงงานและหน่วยงานภาครัฐให้เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนคนทำงาน การลดอำนาจฝ่ายการเมืองในการแทรกแซงนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำให้การตัดสินใจทางนโยบายเป็นไปตามกระบวนการเจรจาต่อรองสอดคล้องกับสภาพปัญหาจริงทางสังคม

“ต้องมีการปรับค่าจ้างที่ชัดเจน บางคนทำงานถึงเกษียณอายุ ได้รับการปรับค่าจ้างแค่ตามนโยบายของรัฐกำหนดเท่านั้น เราจึงต้องมาศึกษาว่าในความเป็นจริงแล้วแรงงานควรมีรายได้ขั้นต่ำเท่าไหร่ที่จะสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้ แต่ไม่ใช่แค่การปรับขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่รัฐควรที่จะมีแนวทางในการลดค่าครองชีพที่สูงขึ้นด้วย เพื่อให้แรงงานมีค่าใช้จ่ายที่น้อยลง“

ด้าน สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการเสนอตัวเลขของค่าจ้างขั้นต่ำที่ควรขึ้นราคาจากการพิจารณาของหลายพรรคการเมืองและหลายกลุ่มทางสังคม คณะกรรมาธิการจึงได้ศึกษารายละเอียดเรื่องนี้เพื่อให้มีข้อมูลในการสนับสนุน และจะนำไปหารือในสภาผู้แทนราษฎร ให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อภิปรายและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยย้ำว่าต้องปรับค่าจ้างแรงงานให้สอดรับกับสถานการณ์ โดยอาจจะเป็นการขึ้นค่าจ้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผู้ประกอบการจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นระบบของภาครัฐต้องเข้ามาจุนเจือในจุดนี้

“การขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทำให้แรงงานต้องแบกรับค่าใช้จ่าย และทำให้มีหนี้มากขึ้นกว่าเดิมเกือบ 10 เท่า ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องนี้ นอกจากข้อมูลการสำรวจ เรายังผลักดัน การแก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่ระบุเรื่องการขึ้นค่าจ้างแรงงาน สิทธิ์การลาคลอดบุตรเพิ่มเติม รวมถึงกรณีการจ้างงานที่ไม่เลือกปฏิบัติ และการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ในเรื่องอนุสัญญา ILO ที่ 87 และ 98 ซึ่งในตอนนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้