จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา อานนท์ นำภา คดี 112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ศาลอาญาพิพากษา ‘ทนายอานนท์’ จากการปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63 ลงโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา ด้าน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ ขอศาลคำนึงข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ เรื่องสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว

วันนี้ (26 ก.ย. 2566) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางการเมือง ในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาอื่น ๆ รวม 9 ข้อหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.51 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ความคืบหน้าผลการพิจารณาคดีว่า ศาลอาญามีคำพิพากษาให้ อานนท์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ส่วนอีก 7 ข้อหา ศาลยกฟ้อง โดยพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ปรับเป็นเงิน 20,000 บาท ไม่รอลงอาญา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์

นักกฎหมายสิทธิฯ ออกแถลงการณ์ ขอสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว

ขณะที่วานนี้ (25 ก.ย. 2566) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) ได้ออกแถลงการณ์ถึง ผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ตลอดจนผู้พิพากษาที่มีหน้าที่สั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว นายอานนท์ นำภา ผู้ต้องหาและจำเลยในคดีการเมือง โดยกล่าวถึงข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อ 24

“กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ แม้จำเลยยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลที่มีอำนาจอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขหรือมาตรการอย่างเดียวกับศาลล่างหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้”

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าข้อบังคับฯ ดังกล่าวก็ไม่ถูกบังคับใช้ในคดีมาตรา 112 ทั้งที่ข้อบังคับดังกล่าวถือได้ว่าเป็นพัฒนาการในการคุ้มครองสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลย และการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาพึงผูกพันกับหลักการแห่งกฎหมายและข้อบังคับคับประธานศาลฎีกาดังกล่าว การไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ อาจก่อให้เกิดความลักลั่นและกระทบหลักประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของจำเลยได้

นอกจากนี้ แถลงการณ์ ยังระบุเหตุผลว่า อานนท์ นำภา ปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้ความช่วยเหลือประชาชนให้สามารถเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ที่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมและยินดีจะพิสูจน์ความคิดความเชื่อของตนเองผ่านกระบวนการยุติธรรมในฐานะจำเลย ตลอดเวลาที่ผ่านมา อานนท์ นำภา ไม่เคยมีพฤติการณ์จะหลบหนี แม้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหลายต่อหลายครั้งในหลายคดี แต่ทุกครั้งที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว อานนท์ นำภา ไม่เคยมีพฤติการณ์ใดที่เป็นเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากได้รับการปล่อยชั่วคราวแล้วจะหลบหนี กระทั่งครั้งสุดท้ายที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อานนท์ นำภา ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพกว่า 7 เดือน ต่อมาเมื่อได้รับการปล่อยชั่วคราวก็ไม่ได้หลบหนีจนถึงปัจจุบัน และยังคงปฏิบัติหน้าที่ทนายความให้ความช่วยเหลือคดีแก่ประชาชนอย่างเต็มความสามารถและยังคงต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในฐานะจำเลยเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองต่อหน้ากระบวนการยุติธรรมเสมอมา

ซึ่งท้ายแถลงการณ์ ได้แนบรายชื่อบุคคลและองค์กรรวม 137 รายชื่อ ขอให้ท่านโปรดคำนึงถึงข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ หลักการแห่งกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยพึงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ งดเว้นการกระทำหรือการปฏิบัติเสมือนว่าอานนท์ นำภา รวมทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองอื่นๆ เป็นผู้กระทำความผิดทั้งที่ยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ขอให้ท่านสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ ข้อ 24 และ 25 โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่แท้จริงของจำเลยโดยปราศจากอคติ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active