บางกลอยคืนถิ่น-ภาคีเซฟบางกลอย แถลงเรียกร้องอัยการทบทวนสั่งไม่ฟ้อง

คืนความเป็นธรรมชาวบ้านบางกลอย 28 คนที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา​ ด้านคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย มีกำหนดประชุม 10 พ.ค.นี้ 

วันนี้ (5 พ.ค.2566 ) ที่บ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กลุ่ม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ออกแถลงการณ์ ขอความเป็นธรรม เรียกร้องอัยการสูงสุดทบทวนหนังสือขอความเป็นธรรมคดีบางกลอย โดยข้อความแถลงการณ์ ระบุว่ากลุ่ม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย  ผู้ประสงค์กลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ขอส่งเสียงเรียกร้อง ถึงอัยการสูงสุดและถึงผู้คนในสังคม ในวันที่ชาวบางกลอยอยู่ห่างไกลความเป็นธรรมเข้าไปทุกที

โดยหลังเมื่อกลางปี 2564 ที่ชาวบางกลอยได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้พิจารณาสั่งไม่ฟ้องชาวบ้าน  28 คน ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างต่อสู้เพื่อกลับไปยังผืนดินบรรพบุรุษ จนเมื่อวันที่2 พฤษภาคม 2566 กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นได้รับหนังสือจากสำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นผลเชิงลบในทางคดีและกำลังนำไปสู่การเดินหน้าดำเนินคดี ของพนักงานอัยการเอง แม้กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นจะยืนยันเหตุผลและความจำเป็น ในการกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ความเดือดร้อนของเราในระหว่างการต่อสู้คดีแต่ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

ที่ผ่านมาเราไม่เคยหยุดต่อสู้ ภาระทางคดีความคือความทุกข์ซ้ำเติมปัญหาที่พวกเราต้องพบเจอมาเกือบ 30 ปี หลังถูกบังคับ​อพยพโยกย้ายชุมชน โดยหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ได้ยืนยันตรงกันว่าพวกเราคือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม การจับกุมพวกเราคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงควรยุติการดำเนินคดีพวกเรารวมถึงหาแนวทางให้พวกเราสามารถกลับไปทำกินบนผืนดินดั้งเดิมของเราได้เหมือนที่บรรพบุรุษเคยทำมา

​เสียงของเราในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ได้รับการรับฟังจากหลายหน่วยงาน องค์กร เครือข่าย ภาคีต่าง ๆ เราขอขอบคุณความมุ่งมั่นที่ช่วยพวกเราส่งเสียงและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาจนเกิดเป็นทิศทางที่ดี แต่จนถึงวันนี้กระบวนการยุติธรรมยังไม่รับฟังและเห็นถึงความเดือดร้อนของเราแม้จะมีช่องทางให้อัยการสั่งไม่ฟ้องเราได้ 

“พวกเราบางกลอยคืนถิ่นจึงขอเรียกร้องให้อัยการสูงสุดได้ทบทวนและพิจารณาความเห็นดังกล่าวโดยเร็วที่สุดเพราะการเดินหน้าสั่งฟ้องพวกเรา 28 คน จะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาอาจจะล่าช้าและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจและต่อการดำเนินชีวิตของพวกเรา“ 

แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ทางภาคีเซฟบางกลอย ได้ออกแถลงการณ์ต่อเรื่องนี้ เรียกร้องให้อัยการทบทวนความเห็น

1.ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 อัยการ มีอิสระในการพิจารณาและสามารถมีคำสั่งในการไม่ฟ้องดำเนินคดีกับพี่น้องบางกลอยได้ การเดินหน้าฟ้องคดีจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาและสร้างภาระในการต่อสู้คดีในชั้นศาล ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าอาหาร และพี่น้องอาจต้องสูญเสียอิสรภาพ เท่ากับเป็นการเพิ่มความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิต

2. การดำเนินการจับกุมพี่น้องบางกลอย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 นั้น มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอย จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า  2.1 มีการเก็บ DNA โดยแจ้งว่าเป็นการตรวจโรค ในกระบวนการไม่มีล่ามแปลทำให้ชาวบ้านที่ถูกจับกุมเกือบทั้งหมด ซึ่งสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ในการดำเนินการดังกล่าว 

2.2 การดำเนินการสอบสวน มีการใช้ล่ามแปลภาษาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อุทยาน  ที่เป็นคู่กรณีโดยตรง และทนายความที่เจ้าหน้าที่จัดหามาไม่ได้มีการให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือใด ๆ 

2.3  ไม่มีการอธิบายหรือแปลบันทึกการสอบสวนให้ฟังก่อนพิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งทำให้ทราบภายหลังว่า บันทึกการสอบสวนระบุ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

และในวันดังกล่าว ก่อนนำตัวชาวบ้านลงมาจากบางกลอยบน เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าหากยอมลงมากับเจ้าหน้าที่จะมีการจัดพื้นที่ทำกินให้กับทุกครัวเรือน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่พาพี่น้องมาถึงสำนักงานอุทยานแห่งชาติ กลับมีการควบคุมตัวส่งดำเนินคดี และส่งไปฝากขังยังศาลจังหวัดเพชรบุรีทันที ถูกควบคุมตัวที่เรือนจำ  และปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการจัดสรรพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่ชาวบ้านตามที่รับปากแต่อย่างใด

ยิ่งเวลาผ่านไป กระแสความสนใจต่อประเด็นนี้ในสังคม ยิ่งน้อยลงเรื่อยๆ ทางภาคีเซฟบางกลอย หวังให้คนในสังคม ร่วมกันติดตาม เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านบางกลอย จนกว่าจะได้เดินทางกลับบางกลอยบน-ใจแผ่นดินต่อไป 

ด้านคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จะมีการประชุมในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จึงต้องติดตามว่า จะมีความคืบหน้าต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active