หนุนชูบทบาทสตรีชนเผ่าพื้นเมือง นำศักยภาพในวิถีภูมิปัญญาวัฒนธรรมชนเผ่า ร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ
วันนี้ ( 6 ส.ค.2565 ) ในงานกิจกรรม ชีวิตสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง เนื่องใน สัปดาห์วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่จัดขึ้นภายใต้ ”สานพลังคุ้มครองวิถีชีวิต ส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง “ ระหว่างวันที่ 6-9 สิงหาคม 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 5 เริ่มต้นเวทีเสวนาที่น่าสนใจเวทีแรกในหัวข้อ “ ปฏิบัติการที่ดีของสตรีชนเผ่าพื้นเมือง 5 ภาค “
“ ศักยภาพบนวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาชาติพันธุ์ และการจัดการที่ดีของสตรีชนเผ่าพื้นเมืองส่วนร่วมพัฒนาประเทศ “
อำไพ ไพรพนาสัมพันธ์ ชาวกะเหรี่ยงสะกอ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้คนประสบปัญหาจากความเครียด ไม่ว่าจะผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีที่นั่น ประสบปัญหาด้านสุขภาพจากโรคระบาด ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เพราะตอนนั้นโรงพยาบาลจะรับรักษาแค่คนที่มีอาการหนักเท่านั้น กลุ่มสตรีที่นั่นจึงร่วมกันหารือว่าจะจัดการปัญหากันอย่างไร จนกระทั่งได้คำตอบว่าเรามีภูมิปัญญาด้านสมุนไพร จึงใช้ภูมิปัญญาที่มีจากบรรพบุรุษ นำสมุนไพรจากพื้นที่ป่าที่เราช่วยกันรักษา มาต้มดื่ม มาย่าง ซึ่งได้ผลมากๆ คนที่ป่วยโควิดอาการไม่หนักและหายป่วย
“ เมื่อภูมิปัญญาเหล่านี้ถูกนำมาใช้และเห็นผล ก็ทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่นั่นมีความสนใจ อยากศึกษาและรักษาภูมิปัญญานี้ เพราะในช่วงโควิดพวกเขาตกงานจากในเมือง ไม่สามารถทำงานได้ ต้องกลับมาอยู่บ้าน และเป็นโอกาสที่ได้ศึกษาเพื่อรักษาสืบทอดภูมิปัญญา “
กัลยา สร้างถิ่นผา ชาวกะแย จาก จ.แม่ฮ่องสอน บอกว่า เนื่องจากชาวกะแย เป็นชุมชนที่ทำการท่องเที่ยวชุมชน ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19 ชาวบ้านที่นั่นประสบปัญหาความเครียด ขาดรายได้ แกนนำกลุ่มสตรีชาวกะแย ใช้เวลาช่วงนั้นในการเข้าไปศึกษาท่องเที่ยวในป่าชุมชน เก็บหาสมุนไพร และดูว่าจะมีอะไรจากป่าที่เราช่วยกันรักษา มาสร้างประโยชน์ได้บ้าง รวมถึงการจัดการดูแลรักษาป่า เช่นการทำแนวกันไฟ
“ ผู้นำสตรีที่นั่นร่วมกันปลูกฝัง ร่วมรักษาทรัพยากรดูแลป่า ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า ป้องกันทรัพยากรเพื่อส่วนรวม และจัดการกันพื้นที่ให้ชัดเจน เพื่อจะได้ยืนยันกับภาครัฐได้ว่า นี่เป็นพื้นที่ที่เราทำกินมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และมีการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เรานำสิ่งที่ได้จากทรัพยากรที่รักษา วิถีเกษตรดั้งเดิม สร้างรายได้ขึ้นมา ทั้งการแปรรูป งาถั่ว ข้าวไร่ดอย มาเพิ่มมูลค่าขึ้น สร้างรายได้ในชุมชน “
เขมจิรา ชุมปัญญา ชาวภูไท จ.สกลนคร กล่าวว่า สตรีชาวภูไท มีศักยภาพและความโดดเด่น เรื่องผ้าที่ย้อมสีจากธรรมชาติ ที่มีคุณค่าทางวิถีวัฒนธรรม สร้างรายได้และมูลค่า และจริงๆแล้วประเทศไทย มีดีในเรื่องผ้าจากธรรมชาติที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษ โดยมีผู้หญิงหรือสตรี ที่รักษาสืบต่อมา และผ้าแต่และผืนที่ได้ ไม่ใช่แค่ปัจจัยสี่ไว้สวมใส่ ไม่ใช่ผ้าธรรมดา เพราะแต่ละผืนได้มาจากป่า มีความเชื่อมโยงสะท้อนการรักษาการอนุรักษ์ผืนป่าของคนในพื้นที่ มีเรื่องเล่า
“ มีเรื่องเล่าต่อกันมา ว่ามียายคนหนึ่งเป็นโรคเรื้อน คนในชุมชนใกล้เคียงหวั่นกลัวจะติดเชื้อ ก็เอายายไปอยู่ป่า โดยลูกหลานไปส่งอาหาร หลายวันเข้าปรากฎว่ายายหาย นั่นสะท้อนว่าป่าเป็นพื้นที่สำคัญ การรักษาทรัพยากรไม่ใช่แค่ได้สีธรรมชาติในผืนผ้า แต่มีประโยชน์อีกหลายอย่างที่ได้จากป่า การรักษาป่าสำคัญ กลุ่มสตรีเราจึงเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการที่รักษาป่าพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หน่วยเล็กๆ คือเมื่อรักษาป่า เรามีรายได้จากย้อมสีธรรมชาติ เมื่อมีรายได้ ชุมชนเข้มแข็ง จังหวัดเข้มแข็ง ประเทศก็เข้มแข็ง “
ขวัญเมือง เรียนผง ชาวไทดำ จ.เพชรบุรี กล่าวถึงศักยภาพของสตรีชาวไทดำที่รักษาศิลปวัฒนธรรม การแสดงและการร่ายรำของชาวไทดำ ไม่ได้เป็นการอนุรักษณ์ไว้เฉยๆ นอกจากการสอนสืบสานภายในประเทศ ยังมีการต่อยอดเอาไปสอนและเผยแพร่ยังต่างประเทศด้วย
นารี วงศาชล ชาวเลอูรักลาโว้ย กล่าวว่า ชาวเลมีบทบาทสำคัญในการยืนยันเขตแดนในประเทศไทย โดยชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ยืนยันแนวเขตว่าพื้นที่ทะเลอันดามันนั้นเป็นดินแดนสยาม ไม่ใช่ของมาเลเซีย วิถีชีวิตชาวเลไม่ใช่แค่ทำกินในทะเล แต่ชาวเลเชี่ยวชาญทะเล เพราะอยู่ทะเลมาทั้งชีวิต เพื่อดำรงชีวิตอยู่รอด มีความรู้เรื่องลม ฝน คลื่น สิ่งเหล่านี้ ผ่านการเรียนรู้จากรุ่นสู่รุ่น โดยเรื่องเหล่านี้ไม่มีบรรจุในหลักสูตรทั่วไป หากไม่มีชาวเลภูมิปัญญาต่างๆที่เป็นประโยชน์ไม่ใช่แต่เฉพาะกับชาวเล แต่เพื่อคนอื่นๆ ในสังคมจะหายไป อย่างเรื่องของบากัส ที่ชาวเลมีการไปสร้างเพิงพักนั้น คือตัวชี้วัดศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากร ศักยภาพวิถีชีวิตที่สำคัญ
“ ที่ชาวเลไปสร้างเพิงพักพิงที่ต่างๆหมุนเวียนไป ไม่ใช่แค่หลบลมมรสุม หรือทำมาหากิน แต่บากัส เป็นศูนย์ป้องกันสาธารณภัยของชาวเลอันดามัน เป็นเรื่องปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ดูแลตนเอง ดูแลผู้คนในอันดามัน เช่นถ้ามีการประสบภาวะปัญหาเรือแตก จะทำไงใครจะให้การช่วยเหลือได้ทัน แต่พี่น้องชาวเลที่ไปตั้งบากัสเกาะแก่งชายหาดต่างๆ จะถึงคนเหล่านี้ก่อน ไม่ใช่แค่พี่น้องชาวเล แต่ดูแลคนไทย และชาวต่างชาติ เราสามารถช่วยเหลือพวกเขาให้รอดจากการเสียชีวิต การเข้าถึงยาเหมือนกัน ตรงนั้นห่างไกล ภูมิปัญญาสมุนไพรช่วยให้รอดได้ แต่ถ้าบากัส พื้นที่หายไป ภูมิปัญญาหายไป เราก็จะหมดศักยภาพ ต้องกลายเป็นคนที่ต้องใช้แรงงาน จึงอยากให้ความสำคัญเรื่องนี้ “
สุนีย์ บุญชูเชิด ชาวกะเหรี่ยงสะกอ จ.เพชรบุรี กล่าวว่า กลุ่มสตรีและชาวบ้านในพื้นที่ มีการจัดการที่ดิน มีการดูแลรักษาป่า หมุนเวียนใช้ประโยชน์และอนุรักษ์มาโดยตลอด แต่ภาครัฐกลับออกกฎหมายอุทยานฯ และป่าสงวน มากล่าวหาว่าเราทำลายป่า ออกกฎหมายทับที่ทำกินเรา กลุ่มเราเลยพูดคุยกัน เพื่อปกป้องสิทธิตนเอง จัดทำแผนข้อมูลพื้นที่ โดยพื้นที่ทำกินเป็นรูปแบบแปลงไม่ใช่ปัจเจก หรือเอกสิทธิ์ของคนใดคนหนึ่ง เคยนำเสนอให้รัฐมารังวัด แต่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มาดำเนินการและให้มีการวัดเป็นรายแปลง ซึ่งขัดกับวิถี ทำให้วิถีการทำไร่หมุนเวียนเปลี่ยนไป ทำแบบเดิมไม่ได้ และสุดท้ายกลายเป็นว่าพวกเราเป็นคนผิด เป็นคนบุกรุก ทั้งที่เราอยู่มาก่อน อย่างกรณีล่าสุดของนางวันเสาร์ ภุงาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านท่าเสลา จ.เพชรบุรี ที่เพิ่งถูกตัดสินจำคุกไป จึงหวังว่า หากทุกฝ่ายเข้าใจวิถีวัฒนธรรม มองศักยภาพที่เป็นทุนสำคัญ จะช่วยลดความขัดแย้งและลดทอนศักยภาพชาติพันธุ์ลงไปได้
“ กลุ่มสตรีชนเผ่าพื้นเมือง กับความหวัง รัฐเร่งดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิวิถีชาติพันธุ์ หนุนศักยภาพชาติพันธุ์ ร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญพัฒนาประเทศ”
กลุ่มสตรีชนเผ่าพื้นเมือง เป็นพลังเสียงสำคัญในการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พวกเขาต่างหวังว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงร่างกฎหมายอีก 4 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นำโดยพรรคก้าวไกล ,ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ,ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ของกระทรวงวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ….. ที่เสนอโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ และเครือข่ายชาติพันธุ์ จะได้รับการผลักดันมีผลบังคับใช้
ซึ่งหากผ่านการพิจารณา จะถือเป็นความหวัง เพราะศักยภาพต่างๆที่ได้กล่าวมาบนวิถีชีวิต วัฒนธรรม จะได้รับการหนุนเสริม และเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยกฎหมาย จะสิ่งสำคัญทำให้ผู้หญิง ได้นำเอาปัญหาและทุนการจัดการที่ดีต่างๆ ของชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มชาติพันธุ์ เข้าสู่กลไกกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย จะมีขบวนการเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และพัฒนาศัยภาพต่างๆ เพื่อเป็นหุ้นส่วนการบริหารพัฒนาประเทศ