‘มันนิ’ ชีวิตที่เลือกเอง สู่ข้อเสนอสร้างภูมิคุ้มกัน เปลี่ยนวิถีจากป่า สู่เมือง

บทสรุปหลังชมสารคดี “มันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร” ห่วงวิถีสมัยใหม่ เหมือนดาบสองคม ย้ำต้องให้องค์ความรู้ทุกมิติ เสริมทักษะ รับมือการเปลี่ยนแปลง ตามทางที่เลือก

วานนี้ (7 ส.ค.65) ภายในงาน “ชีวิต สิทธิ ชนเผ่าพื้นเมือง” เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ปี 2565 จัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ได้จัดฉายสารคดี “มันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร” เพื่อสร้างความเข้าใจให้สังคมตระหนักถึงปัญหา เรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่มีต่อความมั่นคงต่อการดำรงวิถีชีวิตของ ชาติพันธุ์มันนิ กลุ่มภูผาเพชร ซึ่งสารคดีได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านชีวิตความเป็นอยู่ การหากิน การพึ่งพิงธรรมชาติ ท่ามกลางปัจจัยภัยคุกคามหลายมิติทั้งจากนโยบายรัฐ และการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ โดยภายในงานมีผู้ร่วมรับชมที่เป็นทั้งคนเมือง และเครือข่ายชาติพันธุ์จากทั่วประเทศ

สารคดี “มันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร” สะท้อนหลากหลายเรื่องราวทั้งการพัฒนาที่ดีขึ้นของชาวมันนิ ในการใช้ชีวิตที่เริ่มปลูกพืช ทำกสิกรรมได้ ปรับเปลี่ยนวิถีการกินอยู่ รวมถึงการใช้ภาษาไทยที่มีความคล่องแคล่วมากกว่าในอดีต แต่ความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นเมืองมากขึ้น โดยไร้ซึ่งองค์ความรู้ ด้านสาธารณสุขรองรับ จึงอาจกลายเป็นดาบสองคม ทำลายความเป็นชาติพันธุ์

โดยสารคดี ยังได้ทิ้งคำถามช่วงท้ายไว้ให้สังคมชวนคิดต่อว่า “กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ ควรเลือกอะไร ระหว่างวิถีชีวิตดั้งเดิมในป่า หรือ ความเจริญของเมือง” สิ่งนี้กลายเป็นประเด็นตั้งต้น สู่การพูดคุยใน Minitalk “ไร้สิทธิ์ ไร้เสียง เพียงเพราะเราเป็นชาติพันธุ์” โดยวิทยากรที่คลุกคลีอยู่กับการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ มาร่วมกันมองปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาติพันธุ์มันนิ

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม.

ทพ.วิรัตน์ เอื้องพูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กทม. หนึ่งในคนที่เคยพาชาวมันนิไปทำบัตรประชาชน และทำทะเบียนราษฎร์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ เริ่มต้นในปี 2564 เมื่อได้มีโอกาสทำงานในเขต 12 จ.สงขลา และได้มีโอกาสมาทำความรู้จักกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ภาคใต้ จึงพบว่าไม่ได้มีแค่ชาวเล แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์มันนิอาศัยอยู่แถบเทือกเขาบรรทัด มากกว่า 500 คน แถบเขาสันกาลาคีรี อีกประมาณ 350 คน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการเห็นคนกลุ่มนี้ ได้รับสวัสดิการที่ดี เพราะส่วนใหญ่แล้วชาวมันนิอยู่ในป่า ซึ่งสิ่งแรกที่อยากผลักดัน คือ การให้ชาวมันนิมีตัวตน มีบัตรประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการสาธารณสุข

“ภาพจำที่เคยลงพื้นที่ กับสิ่งที่เห็นสารคดี ถือว่าชาวมันนิมีพัฒนาการไปไกลพอสมควร เห็นได้จากภาษาพูด ที่ใช้ภาษาใต้กันได้อย่างคล่องแคล่ว ตั้งแต่เด็กเล็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ สะท้อนว่า กลุ่มชาติพันธุ์ที่ป่าภูผาเพชร ติดต่อกับคนเมืองมากพอสมควร”

รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สอดคล้องกับมุมมอง อาจารย์แหวว – รศ.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุหลังชมสารคดีมันนิ ใต้ป่าภูผาเพชร ว่า รู้สึกดีใจที่ได้เห็นพัฒนาการของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กลมกลืนกับเมืองมากขึ้นทั้งวิถีการทำกสิกรรม ภาษาที่ใช้ และการใช้ทักษะหาของป่าแลกเงินต่าง ๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีกลุ่มชาติพันธุ์มันนิบางกลุ่ม ที่เลือกจะอยู่อาศัยในป่า และไม่สนใจที่จะรับสิทธิต่าง ๆ จากรัฐ คนกลุ่มนี้ก็จำเป็นต้องให้พวกเขามีสิทธิได้เลือกวิถีชีวิตของตัวเองเช่นกัน

อาจารย์แหวว บอกว่า ก่อนหน้านี้ชาวมันนิขาดสิทธิหลายอย่าง แต่ปัจจุบันกรมการปกครอง มีกฎหมายชัดเจนให้คนที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น อย่างกลุ่มชาวมันนิ ได้รับบัตรประชาชน โดยไม่ต้องถามว่าเกิดที่ไหน และต้องขอบคุณโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่เวลานี้มีทะเบียนของคนมันนิแล้ว ทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้

ชาวมันนิ มีอยู่ทั้งในมาเลเซีย ลาว กัมพูชา เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้รับความหวงแหนในทางวิชาการอย่างมาก ทั้งภาษา และตัวตนของชาวมันนิใกล้จะสูญพันธุ์ ปัจจุบันนี้ถ้าพิสูจน์ได้ว่าอยู่ในรัฐไทยมา 15 ปี รัฐมีหน้าที่ต้องให้สัญชาติไทย ต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสวัสดิการได้ภายใน 7 วัน แต่ถ้า กลุ่มมันนิ ที่ยังไม่อยากถือบัตรประชาชน ก็ให้มีสิทธิได้เลือกในสิ่งที่อยากจะเป็น อยากจะใช้ชีวิต ดังนั้น มีสิทธิแต่ไม่ใช้สิทธิก็เป็นสิ่งที่ทำได้..”

รศ.พันธุ์ทพิย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สร้างภูมิคุ้มกันทุกมิติ รองรับจุดเปลี่ยนวิถีชีวิต ‘มันนิ’

ทพ.วิรัตน์ ชวนคิดต่อจากสารคดี โดยมองว่า ภาพการใช้ชีวิตแบบคนเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์มันนิ และสิ่งที่สังคมหยิบยื่นให้ เช่น อาหารสำเร็จรูป ขนม แต่กลับไม่มีองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข การดูแลสุขภาพควบคู่ไปกับการใช้วิถีสมัยใหม่ สิ่งนี้อาจจะเป็นดาบ สองคม ที่ทำให้ชาวมันนิ มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ทำลายวิถีชีวิตของตัวเอง จึงมีข้อเสนอให้ เพิ่มความเข้มแข็งก่อนปรับวิถีมันนิสู่ความเป็นเมือง 3 ประการ คือ มิติของคุณภาพชีวิต มิติด้านการศึกษา และมิติด้านสาธารณสุข

โดยเสนอให้ หน่วยงาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) เป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่เข้ามาเชื่อมประสานกับคนในพื้นที่ และกลุ่มชาติพันธุ์ให้มากที่สุด โดยต้องมาพร้อมกับองค์ความรู้ในทุกมิติ เพราะการออกมาสู่ระบบนิเวศน์ของความเป็นเมืองโดยไม่มีภูมิคุ้มกัน จะทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ขาดทักษะ ปกป้องชีวิตของตัวเอง งานด้านสาธารณสุข จึงมีความสำคัญที่จะต้องเข้ามาช่วยดูแลอุดช่องว่างเหล่านี้

วงเสวนา ยังเห็นตรงกันว่า ภาครัฐ และฝ่ายที่ออกกฎหมายก็ควรทำความเข้าใจ และทำความรู้จักกลุ่มชาติพันธุ์ จะได้ช่วยทำให้การใช้ชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ในแต่ละพื้นที่นั้น สอดคล้องกับบริบทของรัฐ และกฎหมายที่มี เพราะต้องไม่ลืมว่า สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งมาก่อนมีกฎหมาย และการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ การมีกฎหมายไล่คนออกจากป่า ทั้งที่อยู่มาก่อนจึงเป็นหลักการที่มองว่าไม่สามารถทำได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน