นักกฎหมายสิทธิ เรียกร้องตำรวจ ปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

หลังนักกิจกรรม – นักเคลื่อนไหวทางการเมืองนับร้อยคนถูกดำเนินคดี เหตุ ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และหลักสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (3 พ.ย. 2563) เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางยื่นหนังสือถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่กระทำต่อนักกิจกรรมทางการเมือง ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย นิติรัฐ – นิติธรรม และสิทธิมนุษยชน

โดยมี พันตำรวจเอก ศุภกร ผิวอ่อน รองผู้บังคับการกองอัตรากำลัง เป็นตัวเเทนรับเอกสารไว้เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจเป็นการกลั่นเเกล้งเเกนนำเเละผู้ชุมนุม เพราะกระบวนการสอบสวนเเละเเจ้งข้อกล่าวหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ

และยังมองว่าการแจ้งบางข้อกล่าวหา เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ เช่น การแจ้งข้อหาตามมาตรา 110 และมาตรา 116 เพราะผู้ชุมนุมไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในความผิดดังกล่าว จึงเห็นว่า การทำหน้าที่ของตำรวจ เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ที่ลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งวิธีการบังคับใช้กฎหมาย ด้วยการนำหมายจับเเละหมายเรียกเข้าอายัดตัวต่อเนื่อง ก็เป็นการทำเกินกว่าเหตุเช่นกัน เพราะที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549 ฝ่ายความมั่นคง มักจะใช้วิธีลักษณะนี้ กับคดีความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายเเดนภาคใต้

ทั้งนี้ หนังสือระบุว่า จากการที่มีการจับกุมดำเนินคดีนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชน และนักกิจกรรมประชาธิปไตย นับร้อยคน ในข้อหาต่าง ๆ รวมทั้งข้อหาฝ่าฝืนประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น เครือข่ายองค์กรและทนายความด้านสิทธิมนุษยชน มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งที่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะสิทธิในความเชื่อและความคิดเห็นทางการเมือง การแสดงออก และการชุมนุมสาธารณะ บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ

รวมทั้งยังได้พยายามป้องกันและหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความรุนแรงตลอดมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะกลไกของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรปฏิบัติหน้าที่เพื่อการดังกล่าว แต่กลับปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้มาตรการกล่าวหา ดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมในข้อหาต่าง ๆ ในลักษณะที่มุ่งขัดขวางไม่ให้นักกิจกรรมใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว

เช่น การตั้งข้อหาที่ร้ายแรง มีโทษสูงเกินกว่าพฤติกรรมที่อ้างว่ากระทำผิด เพื่อขอหมายจับจากศาล ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่สามารถออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาได้ การคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว โดยอ้างว่าผู้ต้องหาจะไปร่วมชุมนุมอีก ทั้ง ๆ ที่การชุมนุมเป็นสิทธิอันชอบที่กระทำได้ และศาลยังไม่เคยมีคำพิพากษาว่าการชุมนุมที่กล่าวหานั้นละเมิดต่อกฎหมาย และแม้ศาลจะไม่อนุญาตให้ฝากขังหรือมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อายัดตัวไว้ดำเนินเนินคดีต่อ ๆ ไป ในลักษณะของการอายัดตัวซ้ำซาก รวมทั้งสร้างอุปสรรคและความยากลำบากให้แก่ผู้ต้องหา

การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด.ภาค 1) ปทุมธานี ซึ่งมิใช่ที่ทำการปกติของพนักงานสอบสวน ก่ออุปสรรคและความยกลำบากต่อญาติในการเยี่ยมผู้ต้องหาและการพบและปรึกษาทนายความ การปฏิบัติต่อนักกิจกรรมที่เป็นผู้ต้องหาเสมือนเป็นอาชญากรในคดีร้ายแรง ทั้งๆที่เป็นเพียงการกระทำกิจกรรมในทางการเมือง ไม่ได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าหน้าที่และไม่มีพฤติกรรมที่จะหลบหนี

นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ ในลักษณะสองมาตรฐาน โดยบังคับใช้กฎหมายต่าง ๆ ต่อนักกิจกรรมอย่างเข้มงวดและเกินเลย แต่สำหรับฝ่ายตรงข้ามที่ต่อต้านนักกิจกรรมโดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เช่น การชุมนุมและการทำร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับละเลยไม่ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดดังกล่าว

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active