Hackable City งานวิจัยปล่อยไวรัสสร้างนักพัฒนาเมือง

สจล. บพท. และภาคีนักขับเคลื่อนพื้นที่สาธารณะ เปิดฟอรั่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างเมืองน่าอยู่ จากกระบวนการ Co-Creation ด้วยแนวคิด “ประชาชนทุกคนเป็นนักพัฒนาเมือง”

วันที่ 30 เม.ย. 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดงาน ASA Hackable City Forum เพื่อนำเสนอกระบวนการการขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองแฮ็คได้ (Hackable City) 6 พื้นที่นำร่องที่ได้ร่วมสร้างกระบวนการ D.I.Y. Urbanism ร่วมออกแบบเมืองโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคาดหวังในการขับเคลื่อนในอนาคตของเมืองทั่วประเทศ

ผศ.สักรินทร์ แซ่ภู่ หัวหน้าโครงการ ศูนย์ปฏิบัติการเชิงปฏิสัมพันธ์เมืองและชุมชน (UCIA) คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า Hackable City เกิดขึ้นด้วยความเชื่อว่าทุกคนสามารถร่วมกันเปลี่ยนแปลงเมืองได้ และไม่ควรอยู่ในอำนาจหรือหน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อเราเดินหน้างานวิจัยทำให้เราได้พบกับกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการออกแบบที่หลากหลาย ใน 6 พื้นที่คือ น่าน สกลนคร ร้อยเอ็ด กรุงเทพมหานคร ระยอง และยะลา ขณะนี้งานวิจัยเดินหน้ามาถึงครึ่งทางแล้ว อยู่ในช่วงของการใส่ชุดความคิดที่ทุกคนเชื่อว่าสามารถพัฒนาเมืองได้โดยไม่ต้องรอใคร และเราสามารถกระจายอำนาจในการออกแบบไปสู่ประชาชนได้

“โจทยสำคัญคือหลังจากที่เราร่วมคิดโปรแกรมกันแล้วเราสามารถครีเอทพื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ผู้คนได้แล้ว เราจะมุ่งไปสู่โครงสร้างของการจัดการ ทั้งการเงิน และการพื้นที่อย่างไร ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องของการร่วมลงทุน การลงทุนอย่างมีส่วนร่วม ระหว่างภาครัฐ เอกชน หรือชุมชน จะเป็นมิติใหม่ของการสร้างพื้นที่สาธารณะแบบไม่ต้องรอใคร เราเชื่อว่าพื้นที่ที่เราทำงาน กระแสความคิดนี้ถูกปล่อยออกไปแล้ว เหมือนไวรัสที่ถูกปล่อยออกไปแล้ว เหลืออย่างเดียวว่าเราจะสร้างภูมิคุ้มกันตรงนี้อย่างไร ในแต่ละเมือง อยากจะชวนทุกคนมาร่วมพัฒนา พื้นที่ใหม่ๆ ของเมือง ในสังคมที่มีความแตกต่าง ไม่ได้มีใครมีความคิดดีกว่ากัน แต่จะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจจุดหมุนจุดเปลี่ยน เพื่อก้าวต่อไปด้วยกันได้”

รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงสร้างการทำงานเพื่อพัฒนาเมืองไม่บูรณาการเท่าที่ควร มีโลกของภาครัฐ โลกของภาคประชาชน โลกของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งหากกลไกเดินไปแบบนี้ เมืองที่เรารักไม่น่าจะรอด เราจึงตั้งคำถามกลับไปว่า เราจะอยู่เฉยๆ หนีจากเมืองเราไป หรือเราจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน แทนที่จะก่นด่าจึงกลับมาดูว่าเราทำอะไรดีกว่า เป็นที่มาของกระบวนการ Hack เมือง เราหากลไกแบบใหม่ที่จะเอามาใช้ในการพัฒนาเมือง นั่นคือการทำงานร่วมกันกับคนหลายๆ คน เพื่อตอบคำถามในสิ่งที่เราไม่รู้ มาร่วมแชร์ข้อมูล แชร์ประสบการณ์ และออกแบบเมืองร่วมกัน ซึ่งกระบวนการ Hack ตั้งคำถามว่าถ้าเราจะจัดการเมืองของเราจะทำอะไรได้บ้างด้วยศักยภาพของพวกเรา มีนักคิด นักขับเคลื่อน ร่วมขบวนการด้วยกัน และทำให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนสามารถเปลี่ยนแปลงเมืองได้

“ประชาชนในที่นี้แปลว่า คนที่ไม่ยี่หระกับบ้านของเรา กับเมืองของเรา คนที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา คนที่ทุกข์และสุขกับเมืองของเรา กระบวนการ Hack จึงเป็นกระบวนการที่ทำโดยประชาชน เพื่อประชาชน เราทำเพื่อบ้านเรา ถ้าเราชอบพื้นที่ไหน แต่เราปล่อยให้การพัฒนาเป็นความรับผิดชอบของใครฝ่ายเดียว เราก็เห็นว่า โอกาสที่จะทำให้เป็นเมืองน่าอยู่มันยากมาก ดังนั้นที่เราตั้งคำถามกลับมาว่า เราจะทำอย่างไร ถ้าเป็นคนเดียวอาจจะมีอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องกระบวนการ ทั้งเรื่องงบประมาณ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ และสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ซึ่งวันนี้สิ่งที่เราพบคือประชาชนเก่งมาก ท้องถิ่นเก่งมาก ความรู้ชุดนี้ไม่ได้อยู่ที่เรา แต่อยู่ที่ทุกคนจึงอยากชวนกันไปต่อด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นในบ้านของเรา จะถูกเปลี่ยนแปลงด้วยพวกเรา”

นนท์ อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (เดป้า) กล่าวว่า ถ้ามีซอฟต์แวร์ที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างระบบ ของการพูดคุยระดมสมองของคนในเมืองได้ สองเรื่องการสร้างคนให้สามารถใช้ซอฟต์แวร์ เข้าถึงการใช้ข้อมูลได้ ต้องมีการทำหลักสูตรการพัฒนาให้คนสนุกสร้างทักษะ และความตั้งใจของผู้นำ อย่างเป็นเหมือนพ่อแม่รังแกฉัน ที่ทำอันนั้นอันนี้ให้เพราะหวังดี แต่จริงๆ แล้วลูกอยากบอกจะตายว่าตัวเองอยากได้อะไร ตรงนี้คือ สิ่งที่เมืองต้องพัฒนาด้วย เราจึงต้องเอาทั้งซอฟต์แวร์ การพัฒนาเชิงเทคโนโลยี มาประกอบกับศักยภาพของผู้คน และความพร้อมของเมือง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนา ต้องจัดการทั้งเรื่องของงบประมานที่จะใช้อย่างคุ้มค่า การจัดการงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส

“คำว่าสมาร์ทซิตี้คือเมืองที่ชาญฉลาด คือกระบวนการพัฒนาเมืองต่อเนื่องและสม่ำเสมอ พัฒนาอย่างรอบด้านทั้งเรื่องการพัฒนาเมือง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การบริหารจัดการภาครัฐ และอื่นๆ ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน ทุกเมืองเริ่มสมาร์ทแล้วแต่จะมากหรือน้อยต่างกันไป ตามแต่ละบริบทของเมือง หากเมืองพัฒนาให้น่าอยู่ตอบโจทย์ความต้องการ คนก็จะอยู่ในเมืองไม่สมองไหล และความสมาร์ทมันก็อยู่ที่การตอบคำถามด้วยว่า พัฒนาอย่างสม่ำเสมอแค่ไหน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในบริบทของกรุงเทพมหานคร สิ่งที่เราร่วมมือหรือ ร่วม Hack ได้คือการทำโครงการทดลอง หรือที่เรียกว่า sand box ทำให้เราลืมข้อจำกัดต่างๆ ที่สำคัญคือต้องมีการวัดประเมินผลด้วย เพื่อจะทำให้เห็นว่าสิ่งที่เรานำไปทดลองแล้วเป็นอย่างไร หัวใจสำคัญคือการเดินต่อ สิ่งที่เราพยายามทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุข การศึกษา หรือแม้แต่โปรเจคส์ Hack Bkk ที่ได้ทำไปเมื่อปีที่แล้ว หลายเรื่องก็เดินหน้าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการจองพื้นที่ แพลตฟอร์มไลฟ์แชตสนับสนุนงานคนพิการ หรือการพัฒนาดาต้าฐานข้อมูลเมือง ก็กำลังเดินหน้าอยู่”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active