“พื้นที่สาธารณะ” กับการเคลื่อนเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเมือง

ภาคประชาชน มอง “รัฐ-ประชาชน” ต้องเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ปลดล็อกข้อจำกัดที่มีต่อการดำเนินงาน “Post Election” ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ร่วมสะท้อนความต้องการภาคประชาชน อยากเห็นความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง

13 มิ.ย. 2566 เวทีเสวนา ‘Transformation เปลี่ยนผ่านประเทศไทย ผ่านพื้นที่สาธารณะ’ จัดโดย The Active (Thai PBS) ร่วมกับกลุ่ม we!park และองค์กรเครือข่าย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายพื้นที่สาธารณะร่วมกันอย่างยั่งยืน

ก่อนเริ่มวงเสวนา มีการให้ข้อมูลที่ได้จากการถอดกระบวนการและผลลัพธ์จากการศึกษานโยบายพื้นที่สาธารณะสีเขียวปลดล็อกได้อย่างไร โดย ผศ.ณัฐวุฒิ อัศวโกวิทวงศ์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะการออกแบบและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยกล่าวว่า พื้นที่สาธารณะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตของคนในเมือง เพราะพื้นที่สาธารณะสามารถออกแบบให้ใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งพื้นที่สุขภาวะ พื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างอาชีพของคนเปราะบาง เป็นห้องเรียนของเยาวชนส่งเสริมการศึกษา เป็นที่บริการในกิจกรรมของคนเมือง และเป็นโอกาสในหลากหลายมิติ ซึ่งที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะ โดยการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ประชาสังคม ภาคการศึกษา แต่จะทำอย่างไรเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ ที่มีและทำให้การขับเคลื่อนประเด็นนี้ก้าวหน้าไปมากขึ้น โดยมีข้อเสนอในการปลดล็อก 3 เรื่องหลัก คือ

  1. ที่ดิน ต้องเพิ่มนิยามในกลไกทางผังเมือง Land Use การหาสมดุลหากเอกชนต้องการให้รัฐพัฒนาและใช้ได้ เช่น สิทธิทางภาษีในที่เอกชน และสร้างโอกาสและความเป้นไปได้ของที่ดินรัฐแบบ Mixed Use
  2. การลงทุน ส่งเสริมและผลักดันให้ผู้มีที่ดินได้เปิดโอกาสทำ CSR/ESG เดิมรัฐมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนสร้างสวนและการดูแล จะทำอย่างไรให้สามารถการใช้กลไกตลาดทุน กองทุน REIT โครงสร้างพื้นฐาน หรือการให้เอกชนลงทุนแล้วสามารถลดต้นทุนการเงินเพื่อลงทุนในพื้นที่สาธารณะสีเขียว
  3. การบริหารจัดการ ทั้งเรื่องแผนดำเนินการทางธุรกิจ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีบทบาทในการขับเคลื่อนการศึกษาสาธารณสุข เราจึงอยากจะเห็นนโยบายที่จะช่วยปลดล็อกให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้สะดวกขึ้น การมีพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนาของรัฐ-เอกชน

สำหรับช่วงเสวนา “Green Space นโยบายที่ขับเคลื่อนต่อเนื่องและยั่งยืน” ยศพล บุญสม จาก we!park ยกตัวอย่างการทำงานร่วมกับท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร โดยการทำงานร่วมกับ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่พบจุดเปลี่ยนสำคัญ คือ เมื่อภาคประชาสังคมได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ทำให้สามารถนำแนวคิดไปขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมได้ เช่น สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ ที่เมื่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ เห็นความสำเร็จจากความร่วมมือของภาคประชาสังคมและชุมชน ได้ตั้งคำถามว่าจะสามารถปรับขนาด หรือ scaling up ได้อย่างไร ซึ่งต้องมีการเซตอัปเครื่องมือ อย่างการจัดทำ data และฐานข้อมูล ที่เปลี่ยนไปจากในอดีต โดยต้องดูว่าที่ดินเป็นของใคร รัศมีการให้บริการประชาชนเข้าถึงได้อย่างไร รวมถึงองค์ความรู้ คู่มือ ตัวชี้วัด และเป็นสวนที่มีมาตรฐานที่ดี ไม่ใช่แค่เชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว

ต่อมา คือการที่ภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปร่วมเซตอัปกับ กทม. คือ ระบบการพัฒนาสวน 15 นาทีอย่างมีส่วนร่วม เช่น เริ่มต้นจากการทำงานข้อมูล แล้วฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เขต จากนั้นจัดทำเป็น pop up-park เพื่อทดลองใช้พื้นที่ จากนั้นคือการอบรมบุคลากร เพราะแต่ละเขตมีนักออกแบบอยู่แล้ว ทำให้สามารถขยายผลการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบได้ถึง 50 พื้นที่

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

ด้าน พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ในฐานะผู้บริหารท้องถิ่นที่มีตัวอย่างการจัดการพื้นที่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น กล่าวว่า เทศบาลให้ความสำคัญกับนโยบายพื้นที่สีเขียวอย่างมาก ในช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบ เทศบาลได้คิดที่จะปรับภูมิทัศน์ใหม่ ปรับพื้นที่ทางเท้า จัดให้มีที่นั่ง ให้ผู้คนกล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน จากนั้นมีการยกระดับการพัฒนาสวนสาธารณะเพื่อเอื้อต่อการทำกิจกรรมของคนเมือง ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว 17 ตร.ม. ต่อคน สูงกว่าค่าเฉลี่ยของมาตรฐานองค์การอนามัยโลก นอกจากพัฒนาในพื้นที่แล้ว ยังชวนเทศบาลใกล้เคียงอีก 5 แห่ง เพื่อลงนามการพัฒนาพื้นที่สีเขียวร่วมกัน ทั้งการเสาะหาพื้นที่และใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดทำพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้คนได้ใช้ประโยชน์ มีคนใช้เดือนละ 20,000 กว่าคน มีพื้นที่สวนเล็ก ๆ กระจายตัวอยู่ด้วย ชวนคนมาทำกิจกรรม เช่น การเรียนรู้นอกห้องเรียน การล้อมวงสนทนา

“สิ่งที่ต้องคิดต่อคือ ในอนาคต การมีเมือง มีการขยายตัว พื้นที่ป่าจะน้อยลง วันนี้เทศบาลจะซื้อที่นอกเขต เพื่อทำเป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพื่อเป็นพื้นที่ร่มเงาให้กับคนเมือง แต่การที่เทศบาลจะใช้เงินรัฐไปซื้อพื้นที่นอกเมือง หน่วยงานตรวจสอบจะต้องถามหาความคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนเรื่องการจัดซื้อที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ ก็เป็นอุปสรรค เพราะกรรมการจัดซื้อที่ดินหายากมาก เนื่องจากกังวลเรื่องการตรวจสอบ ทั้งที่ซื้อระหว่างรัฐกับรัฐ และซื้อมาทำพิพิธภัณฑ์ พื้นที่เรียนรู้ แล้วยังมีเงื่อนไขอีกจำนวนมากที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยาก”

ศนิวาร บัวบาน ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้จะไม่มีนโยบายเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะโดยตรง แต่พรรคก้าวไกลมีหลายนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนให้พื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพราะที่ดินทั้งประเทศสามารถแบ่งออกเป็นที่ดินของรัฐและเอกชน ที่ดินของรัฐมีนโยบายปฏิรูปกองทัพ ลดขนาดกองทัพ ทำให้เหลือพื้นที่ที่อาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ของกองทัพ เรียกคืนที่ดินมาสู่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง คืนประโยชน์ให้ประชาชนได้นำมาใช้เป็นสวนสาธารณะ ตลาด หรือการเพิ่มมูลค่าที่ดิน อีกส่วนคือที่ดินของเอกชน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนด้านสิทธิประโยชน์ที่จะได้ หากเอกชนนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การปฏิรูประบบภาษีที่ดิน คิดแบบรวมแปลง ตามรายบุคคล ถ้าใครมีที่ดินรวมกันมากกว่า 300 ล้านบาท จะคิดในอัตราก้าวหน้า รวมถึงนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ให้สามารถบริหารจัดการตนเองได้มากขึ้น สามารถพัฒนาสาธารณูปโภค มีอำนาจในการตัดสินใจพัฒนาพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น

“แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ท้องถิ่นจะรู้ดีว่าในชุมชนตนเองนั้นต้องการอะไร เป็นการดีที่จะให้ท้องถิ่นได้มีอำนาจตัดสินใจด้วยตัวของเขา นอกจากนี้ เรายังมีนโยบายพื้นที่สีเขียว นโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จะมาช่วยสนับสนุนพื้นที่สาธารณะ เพราะเราต้องพัฒนาเมืองให้พร้อมรับ ปรับตัวให้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต้องมีต้นไม้ มีพื้นที่สีเขียว นอกจากเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์แล้ว ยังสามารถดูดซับคาร์บอน และอุณหภูมิเกาะความร้อนบนพื้นดิน”

ดวงฤทธิ์ บุนนาค กลุ่มแคร์ คิด เคลื่อน ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีพื้นที่อาคารของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่น่าลงทุนกับธุรกิจขนาดเล็กที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่สาธารณะสามารถเชื่อมโยงกับโครงสร้างของเมืองได้ ประเทศไทยทุกจังหวัดมีศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งเป็นผลประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย หากรัฐจะเปลี่ยนจากพื้นที่ว่าง เปลี่ยนมาสนับสนุนในเรื่องนี้ เมื่อมีธุรกิจของชุมชนเกิดขึ้น ก็จะเกิดการขับเคลื่อนในระดับของชุมชน ลักษณะของการสนับสนุนแบบนี้ไม่ใช่สวัสดิการ แต่คือการลงทุนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและจะกลับมาจ่ายเป็นภาษีให้รัฐ ดังนั้น จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของสวัสดิการแต่เป็นการลงทุนในทางอ้อม ในต่างประเทศเมืองที่ร่ำรวยมีการลงทุนในรูปแบบนี้จำนวนมาก เช่น มิวเซียม แกลเลอรี ตลาดนัด อาจจะให้ฟรีก่อน แล้วถ้าทำแล้วมีกำไรก็แบ่งเปอร์เซ็นต์ให้รัฐก็ได้ เกิดประโยชน์ทั้งประชาชนและรัฐ

“ทุกอย่างถ้ามีประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โลกจะเคลื่อนไปได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าจะเกิดการแก้ปัญหา รัฐต้องอย่าขวาง ต้องให้การสนับสนุน แนวคิดจากล่างขึ้นบน จากภาคประชาชน อยากให้มองว่าพื้นที่สาธารณะที่รัฐถือไว้สามารถร่วมลงทุนกับ SME ได้ เมื่อธุรกิจขับเคลื่อน รัฐก็ได้ประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เรื่องนี้เจ้าของที่ดินต้องมีส่วนร่วม เช่น กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ใช่การเอาที่เขามา แต่เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เจ้าของพื้นที่ต้องเอานโยบายนี้ไปคิดแล้วทำ”

ศ.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้พื้นที่สาธารณะเอื้อประโยชน์ต่อการทำธุรกิจขนาดจิ๋วมีความสำคัญ และเป็นการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากที่ต่อยอดไปยังเศรษฐกิจของเมือง นั่นคือหาบเร่แผงลอย เรามักจะมองว่าการให้พื้นที่กับคนกลุ่มนี้เป็นการช่วยคนจน ไม่พูดถึงภาษีหรือค่าธรรมเนียมในการจ่ายพื้นที่ แต่จริง ๆ ต้องมองแบบผสมกัน ทั้งเรื่องของการให้โอกาสในการการบ่มเพาะผู้ประกอบการ ให้โอกาสในการมีพื้นที่การค้าของผู้สูงอายุ หรือคนที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี

“ต้องมองเรื่องการจัดการพื้นที่ ทั้งในมิติของธุรกิจ สวัสดิการ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม ถ้าเราพยายามมองเรื่องการจัดการพื้นที่แบบนี้ แปลว่าไม่ควรจะอยู่ในมือของหน่วยงานใดเพียงหน่วยเดียว อาจจะไม่ใช่การมีพื้นที่ปิดที่จัดไว้รวมกันเท่านั้น แต่อาจจะเป็นทางเท้าที่จัดการวางรูปแบบไม่ให้กระทบคนเดินเท้า แต่ยังสามารถค้าขายได้ด้วย เรียกว่า มินิฮอกเกอร์เซ็นเตอร์ อย่างนี้คือทางเลือก ที่สำคัญคือต้องมองว่าเป็นการใช้ประโยชน์หลากหลาย คือการทำ mixed use ที่มองเรื่องโอกาสในการลดความเหลื่อมล้ำ”

ศ.นฤมล นิราทร
รศ.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ

รศ.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำพื้นที่สาธารณะ มีองค์ประกอบทั้งเรื่องพื้นที่ ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ สถาบัน กฎระเบียบข้อตกลงต่าง ๆ ที่ชุมชนตกลงร่วมกัน 3 ส่วนนี้ควรจะต้องพัฒนาไปด้วยกัน ในหลายประเทศ การมีกติกาท้องถิ่นคนในชุมชนร่วมพัฒนาด้วยกัน ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ เป็นกระบวนการที่ให้คนมาคุยกันและตกลงกัน ตอนนี้อาจมุ่งไปเสาะหาในพื้นที่กรรมสิทธิ์ของรัฐ เอกชน และการจัดตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไร โมเดลสุดท้ายน่าสนใจเพราะยังไม่ค่อยเกิดขึ้นในไทย แต่ในต่างประเทศการมีองค์กรนี้จะช่วยรัฐในการระดมทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะตามเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่ เรียกว่า กองทุนที่ดินชุมชน

“องค์กรแบบนี้จะช่วยปลดล็อกกฎระเบียบของราชการ และสามารถยกระดับการพัฒนาได้มากกว่าเชิงพื้นที่ท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่ง การพัฒนาโดยชุมชนที่สนใจในกองทุน ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ได้ ในเรื่องของพื้นที่สีเขียวสาธารณะเดิมอาจถูกมองถึงประโยชน์ในการบริการและบริโภค แต่จริง ๆ สามารถเป็นพื้นที่ผลิตร่วมกันได้ และช่วยกันดูแล เป็นทรัพย์สินสาธารณะ สิ่งที่ต้องหารือคือจะประสานประโยชน์กันอย่างไร เช่น คนเดินเท้า กับคนขายของ สุดท้ายเรื่องบทบาทท้องถิ่น ทรัพย์สินพื้นที่สาธารณะควรถูกพัฒนาไปกับที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ถ้าสามารถพัฒนาไปพร้อมกันได้ จะเป็นประโยชน์ในเชิงออกแบบ และการใช้งาน”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active