รับมือ ‘ภาวะเครียด – ป่วยใจ’ จัดการได้ ด้วยคิดบวก

ก้าวข้ามปัญหาชีวิต หลังวิกฤตโควิด ‘นักจิตวิทยา’ ชวนสำรวจตัวเอง หาทางปรับสภาพจิตใจ ถนอมความสัมพันธ์ เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรอบข้าง

วันนี้ (3 ก.ย.65) ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “กลวิธีจัดการความเครียดในยุคโควิด” ในกิจกรรม Chula Sustainability Fest 2022 เพื่อความยั่งยืนทางกาย ใจ และสังคม

ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ความเครียดไม่ได้อยู่ดี ๆ เกิดขึ้น แต่มาจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามากระทบจิตใจ และ ร่างกาย แต่ละคนตอบสนองต่อความเครียดต่างกัน ซึ่งมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ด้านบวก เช่น บางคนใกล้สอบแล้วเครียด แต่ความเครียดทำให้มีสมาธิมีความตั้งใจในการอ่านทบทวนวิชามากขึ้น ความเครียดในระดับที่รู้ว่าจัดการได้ บางครั้งเป็นผลดี ทำให้ทำอะไรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นอย่ามองความเครียดในแง่ลบเสมอไป สิ่งสำคัญคือการตัดสินใจว่า รับมือได้หรือไม่ ถ้ามองดี ๆ ความเครียดอาจบอกให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วอะไรสำคัญต่อตัวเอง

คณบดีคณะจิตวิทยา บอกอีกว่า ความเครียดในช่วงโควิด-19 เกิดขึ้นกับทุกคน เป็นระยะเรื้อรัง เพราะอยู่กันมาต่อเนื่องราว ๆ 3 ปีแล้ว มีงานวิจัยศึกษาผลกระทบด้านจิตใจของผู้คนช่วงโควิด -19 พบว่า ช่วงแรก ๆ ของการระบาด มีความเครียดที่เกิดจากความไม่รู้ หวาดกลัว ต่อมาเมื่อรับรู้เรื่องการเว้นระยะห่าง มาตรการสาธารณสุขก็ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปจากเดิม หลายคนต้องอยู่บ้าน ทำให้เส้นแบ่งของชีวิตการทำงาน การเรียน และการพักผ่อนหายไป

“บางคนคิดว่าช่วงโควิด อยู่บ้านชิว ๆ แต่ก็มีผลกระทบ เพราะรู้สึกปั่นป่วน เช่น บ้าน กลายเป็นพื้นที่ที่ต้องรับบทบาททุกอย่าง ทั้ง บทบาทครู บทบาทแม่ บทบาทภรรยา ไม่เหมือนก่อน ที่พื้นที่มีส่วนแบ่งปันชัดเจน เมื่อต้องทำทุกอย่างบางคนอาจรู้สึกว่า ไม่สามารถทำทุกอย่างให้ได้ดี เด็กที่กลับไปเรียนออนไลน์ พบว่า บางครั้งครอบครัวก็ทำให้เกิดความเครียด จากก่อนที่เคยมีพื้นที่แบ่งเบาทางจิตใจ เช่น โรงเรียน สนามเด็กเล่น ก็หายไป ถึงทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมกระตุ้นความเครียดตลอดเวลา ทำให้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูง เทียบได้กับช่วงต้มยำกุ้ง”

ผศ.ณัฐสุดา บอกอีกว่า ตัวกระตุ้นความเครียดมีลักษณะเฉพาะตามแต่ละคน จำเป็นต้องสำรวจตัวเองว่ามีอะไรเป็นตัวกระตุ้นความเครียด เช่น ความเครียดที่เกิดจากความคาดหวัง ความเครียดจากความสัมพันธ์ หรือเรื่องเงิน จำเป็นต้องรู้เพื่อทำความเข้าใจ ตั้งรับ เพื่อไม่ให้ตัวกระตุ้นความเครียดส่งผลกระทบ หลักคิดหนึ่งคือ “เราเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกไม่ได้” แม้จะเปลี่ยนไม่ได้แต่ต้องเตรียมควบคุมตัวกระตุ้นความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

การประเมินความเครียดในใจ เช่น พิจารณาว่าสิ่งนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง จะส่งผลอะไรกับตัวเอง เกิดความเครียดเชิงบวก หรือเชิงลบ ถ้าเชิงลบ แล้วจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร เช่น ฝนตกในระหว่างเดินทาง เครียดว่าคนที่บ้านก็รออยู่ สิ่งสำคัญคือต้องคิดว่า แล้วฉันจะต้องทำยังไงเพื่อจัดการกับเรื่องนี้ได้บ้าง จะได้คำตอบที่ทำให้ออกจากความเครียดตรงนั้นได้ ตามทฤษฎี ถ้ามีวิธีที่หลากหลายยิ่งดี

“วิธีที่ดีที่สุดอย่างแรกคือการเผชิญกับปัญหาโดยตรง วิธีนี้จะช่วยให้ออกจากปัญหาได้จริง แต่มันต้องใช้พลังงาน ถ้าเราพร้อมใช้วิธีนี้ดีที่สุด ซึ่งต้องวางแผนจัดการเรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าบางครั้งเรายังไม่พร้อมประเมินแล้วยังไม่ได้ต้องใช้วิธีอื่น อย่างที่สองคือการแสวงหาความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว หรือระบบให้ความช่วยเหลือ”

ผศ.ณัฐสุดา กล่าวเสริมว่า ความสัมพันธ์ที่ดีคือสิ่งที่ควรลงทุนที่สุด ดังนั้นต้องรู้ว่าทำยังไง เมื่อทุกคนต้องการความใส่ใจ เข้าใจ แล้วเข้าใจคนที่อยู่รอบตัวเราแค่ไหน เราให้คุณค่ามากน้อยแค่ไหน ดังนั้นกลับไปต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ความสัมพันธ์ยังคงอยู่และดีขึ้น

“สถานการณ์ที่เราอยู่เหมือนถูกรุมล้อม เป็นภาวะเครียดระดับกลุ่ม เราสามารถนำแนวทางเชิงจิตวิทยามาใช้จัดการกับความเครียดเหล่านี้ได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้