นายกรัฐมนตรี ระบุ 1 ในรัฐมนตรีจะบินไปประเทศแถบตะวันออกกลางเร็ว ๆ นี้ เพื่อหารือการช่วยเหลือตัวประกัน ขณะคนไทยในอิสราเอล เปิดพื้นที่ออนไลน์เป็นสื่อกลางช่วยประสานตามหาแรงงานไทยในอิสราเอล เชื่อแรงงานที่ยังติดต่อไม่ได้..ไม่ควรถูกลืม ด้านแรงงานห่างไกลฉนวนกาซา ขออยู่ต่อ รับภาระหนี้สิน เหตุผลหลัก
วันนี้ (29 ต.ค.2566) สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮามาส ยังไม่มีท่าทีจะเบาลง หลังอิสราเอลขยายปฏิบัติการภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซา
กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศว่า กองทัพอิสราเอลเพิ่มปฏิบัติการภาคพื้นดิน บริเวณฉนวนกาซ่าเข้มข้นขึ้น อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต และความปลอดภัย ของชาวไทยในอิสราเอล และเป็นไปได้ว่า การสู้รบจะขยายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเดินทางภายในประเทศ และกระทบต่อการอพยพ อย่างมีนัยสำคัญ
พร้อมระบุว่า เวลานี้มีพี่น้องคนไทยเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบนี้แล้วถึง 32 คน บาดเจ็บ 19 คน และถูกจับไป 19 คน ตัวเลข ณ วันที่ 28 ต.ค.2566 และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันทุกสัญชาติทุกคนในทันที
ท่ามกลางความห่วงใยจากทุกภาคส่วน มีแรงงานไทยในอิสราเอล พยายามใช้ช่องทางออนไลน์ โดยโพสข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ชื่อ ว่า Napaporn Sohasun ขอให้ครอบครัวไทยทุกครอบครัวที่ไม่ได้ติดต่อกับสมาชิกในครอบครัวในอิสราเอลตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ให้ประสานข้อมูลเข้ามา เพื่อที่จะประสานข้อมูลกับ KidnappedFromIsrael เว็บไซด์ที่เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่ต้องการค้นหาผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกันมากกว่า 220 คน และให้ญาติได้มีพื้นที่ตามหาผู้สูญหายที่ยังตามหาไม่เจอ
Napaporn Sohasun เป็นเฟซบุ๊กของ นภาพร ซอหะซัน ล่ามอิสระ ที่อยู่ในอิสราเอล หรือที่แรงงานไทยรู้จักในชื่อ “แม่น้อง” โดยเธอให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสว่า การออกมาทำเรื่องนี้ เพราะเธอเชื่อว่า แรงงานที่ยังติดต่อไม่ได้..ไม่ควรถูกลืม
ขณะที่มีเหล่าญาติพี่น้องชาวไทยหลายคนที่ยังไม่พบญาติได้ส่งข้อมูล และคลิปภาพมาให้ พร้อมเรียกร้องขอให้ทางการช่วยเหลือ และหวังว่านี่จะเป็นจิ๊กซอร์สำคัญที่เชื่อมกลุ่มเพื่อนแรงงานในอิสราเอลติดต่อได้ผ่านญาติพี่น้อง
ขณะที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าช่วยเหลือแรงงานไทยกลับประเทศว่า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ก็นอนไม่หลับ สงครามควรจะให้จำกัดอยู่ในพื้นที่ แต่ตอนนี้ความอันตรายเริ่มจะขยายไปในภาคพื้นดิน ซึ่งไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะมีแรงงานไทยอยู่ในพื้นที่มาก
โดยฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็เป็นห่วงเรื่องนี้ แรงงานของ จ.อุดรธานีก็ทำงานอยู่ในพื้นที่สู้รบมาก หน่วยงานในจังหวัดรวมถึง สส. ช่วยกันกระจายบอกกล่าว หากจะเดินทางกลับมาพร้อมกันแล้วมีขีดจำกัด ซึ่งตอนนี้รับคนกลับมาได้มากสุด 1,000 คนแล้ว หากเกิดสงครามในภาคพื้นดินถนนจะถูกตัดขาด การเดินทางจะยิ่งลำบากมากขึ้น ขณะที่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยังอยู่ที่มาเลเซียและจะมีหนึ่งในคณะรัฐมนตรี เตรียมบินไปประเทศแถบตะวันออกกลางในเร็วๆนี้ เพื่อหารือการช่วยเหลือตัวประกัน
ขณะที่แรงงานบางส่วนที่ยังไม่เดินทางกลับ หนึ่งในนั้นคือ ชุติเดช เดชวิทิตธนากุล ชาวจังหวัดชัยภูมิ เขาพูดคุยกับ TheActive ว่า ขณะนี้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยใกล้กับสนามบินประมาณ 10 กิโลเมตร และยังไม่ประสงค์กลับไทย เพราะจากสถานการณ์ล่าสุด ในพื้นที่บริเวณนี้ยังมีความปกติ แม้จะได้ยินเสียงระเบิดบ้างแต่ก็ยังไม่รุนแรง
“ผมทำงานที่อิสราเอลมาแล้ว 3 ปี เป็นภาคการเกษตรที่ทำสวนดอกไม้ ปัจจุบันยอมรับว่าไม่มีหนี้สินแล้วและมีบ้านที่ไทยเรียบร้อยแล้ว ที่อยากอยู่ต่อเพราะอยากหารายได้ไปก่อนเนื่องจากค่าจ้างค่อนข้างสูง แม้ว่าตอนนี้มีประกาศจากรัฐบาลไทยชวนคนไทยกลับบ้านเพราะเกรงจะเกิดความรุนแรง แต่เท่าที่สังเกตจะเห็นว่าพื้นที่รุนแรงจะอยู่ในฉนวนกาซา มากกว่าอิสราเอล ซึ่งในอิสราเอลก็มีหลายแห่งที่ยังมีจุดโจมตีน้อย ”
ชุติเดช ยังบอกอีกว่า การป้องกันตัวเองสำหรับที่นี้หลายคนมีความตระหนัก ขณะที่นายจ้างจะให้โหลดแอปพลิเคชันป้องกันตัวในการหลบระเบิด คือเวลามีระเบิดที่มีทิศทางพุ่งเข้ามาในพื้นที่ แอปพลิเคชัน ตัวนี้จะแจ้งเตือนก่อน 1 นาที ก่อนที่ไซเรนจะดัง 10-20 วินาที ให้มีเวลาไปหลบในบังเกอร์ แต่ที่ผ่านมาที่นี่ยังปลอดภัย
ส่วนเรื่องรัฐบาลไทยต้องการให้กลับบ้าน มีเพื่อนหลายคนที่นี้สะท้อนว่า ตอนนี้ยังอยู่ในที่ปลอดภัยแต่หลายคนยอมรับไม่อยากกลับเพราะยังคงมีหนี้สิน หลายก้อนที่ต้องชำระ ไม่ว่าจะเป็น การกู้หนี้ยืมสิน มาทำงานที่อิสราเอล ที่ขั้นต่ำบางคนต้องใช้เงิน 6 หมื่นบ้าน ทั้งค่าเครื่องบิน ค่าตรวจสุขภาพ ค่าอื่นๆที่ต้องชำระตามระบบ บางคนมีหนี้สินกู้มาจากประเทศไทยเพื่อมาใช้หนี้ หากกลับตอนนี้ก็ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนชดใช้ แม้รัฐบาลไทยจะช่วยเท่าที่เห็นเหมือน ให้ไปกู้ธนาคารดอกเบี้ยต่ำ แต่ เพื่อนหลายคนที่นี้เห็นว่าเป็นหนี้ต่อ แต่ถ้าอยู่ต่อก็ยังพอมีงานมีเงิน เพื่อลดภาระและหนี้สินได้ และบางคนยอมรับยังไม่มั่นใจกับการเยียวยาของรัฐ
อีกประเด็น ที่เพื่อนชาวไทยฝากแจ้งขณะนี้ยังมีหลายคนที่ประสบปัญหาเรื่องเงินค่าใช้จ่าย เรื่องหนี้สิน เพราะเหมือนกำลังจะได้เดินทางมาทำงานที่อิสราเอล จ่ายเงินค่าต่างๆแล้วทั้งกระทรวงแรงงาน และกู้ยืมหนี้สินมา ปรากฏว่าเกิดสงครามพอดี จึงทำให้พี่น้องเพื่อนๆกลุ่มนี้กระทบหนัก อยากให้รัฐบาลช่วยดูแลและพอจะมีทางออกอย่างไรได้บ้างเนื่องจากยังมีอีกหลาย 100 คนที่ยังคงมีปัญหากับเรื่องนี้อยู่
ด้านปฐวี ไพรธารทอง ผู้ที่เดินทางไปทำงานในอิสราเอล เผยแพร่ผ่านทาง TikToK เพื่อให้คนไทย ได้เห็นการทำงาน และชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวัน เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้อิสราเอลจะไม่ปลอดภัย 100 % แต่แรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในโมชาฟ
ห่างจากฉนวนกาซาราว 30 กิโลเมตร ยังคงใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติ หลังคลิปนี้เผยแพร่ออกไป ก็มีทั้งคนแสดงความห่วงใยให้กำลังใจ และไม่เห็นด้วยที่เขายังอยู่ทำงานต่อ
ก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ได้พูดคุยกับนายปฐวี เขาเล่าว่า เป็นช่วงรับจ้างเก็บทับทิม รายได้ดีหากในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ได้มากถึง 4,500 บาท ต่อวัน และเขาเคยสร้างรายได้มากถึง 7-8 หมื่นบาท
แรงงานไทยยังบอกอีกว่า หลังเกิดสงคราม ทำให้แรงงานขาดแคลน โดยเฉพาะในพื้นที่ฉนวนกาซา ส่งผลให้นายจ้างในอิสราเอล สร้างแรงจูงใจ หากมาทำงาน จะให้เงินค่าทำขวัญ 20,000 บาท และสร้างหลุมหลบภัยเพิ่มขึ้น มีทหารคอยดูแล เนื่องจากว่าอิสราเอลยังจำเป็น ต้องส่งผลผลิต ทางการเกษตรออกไปยุโรป โดยระบุว่า ขอให้สังคมอย่าดรามา เพราะทุกคนมีเหตุผลและความจำเป็น โดยยอมรับความเห็นต่าง แต่ย้ำว่า หากสถานการณ์เลวร้ายเหมือน ยูเครนและรัซเซีย เขาติดตามข่าวสารจากสื่อท้องถิ่นของอิสราเอลทุกวัน เตรียมแผนฉุกเฉิน สามารถเรียก Taxi ไปสนามบินได้ภายใน 30 นาที หากเกิดการสู้รบใกล้ กับแคมป์งาน
รัฐบาลเร่งเจรจาช่วยเหลือคนไทยที่เป็นตัวประกัน
ขณะที่ วันมูหะหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการมอบหมายให้คณะทำงานเดินทางไปประเทศอิหร่าน ว่า ขณะนี้ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ อยู่ที่กรุงเตหะราน แจ้งมาว่า ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และวันนี้จะพบกับที่ปรึกษาของประธานาธิบดีอิหร่าน กับประธานของกลุ่มปาเลสไตน์ แนวโน้มสัญญาณเป็นไปในแนวทางที่ดี เบื้องต้นยังยืนยันว่าตัวประกันคนไทย ที่อยู่ทั้งหมด 19 คนยังมีชีวิตอยู่
เร่งหาทางช่วยและชดเชยเยียวยา
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งไปแต่ละจังหวัดให้ญาติของแรงงานไทยในอิสราเอลชวนแรงงานให้กลับประเทศ หลังนายกรัฐมนตรี ห่วงใยและกังวลถึงความปลอดภัย และก็ขอให้เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือสำรวจมีครอบครัวผู้ใช้แรงงานอิสราเอลจำนวนเท่าไหร่ แล้วรัฐบาลจะเยียวยาช่วยเหลือให้มากที่สุด