‘แรงงานไทย’ ด่านหน้า โดนวิกฤตภูมิอากาศเล่นงานมากที่สุด

เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ องค์กรสื่อ ร่วมสะท้อน ไทยแทบไม่มีนโยบายปกป้องดูแลคนทำงาน แม้โดนผลกระทบโลกร้อนหนัก ชี้วาระสำคัญ คาดหวังทุกฝ่ายใส่ใจ การทำงานที่ดี อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

“ร้อนเหมือนมีไดร์เป่าผมมาจ่อที่หน้าตลอดเวลา” เสียงสะท้อนจากไรเดอร์ เล่าถึง สภาพการทำงานบนท้องถนนในวันที่อากาศร้อนจัด

ขณะที่พนักงานกวาดถนนต้องล้มป่วย เพราะไม่สามารถย้ายชั่วโมงทำงานเพื่อเลี่ยงแสงแดดอันโหดร้ายได้ คนทำงานกลายเป็นด่านหน้า และกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโลกรวน ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพการทำงานจึงเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 67 Pulitzer Center ร่วมกับ LUKKID และเครือข่ายสหภาพแรงงาน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรสื่อ เปิด Workshop สะท้อนปัญหาของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยไทยเป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดในโลก แต่แทบไม่มีนโยบายปกป้องดูแลคนทำงาน พร้อมร่วมกันหาทางไปต่อว่าคนทำงานจะทำงานภายใต้สภาพอากาศเช่นนี้ได้อย่างไร

รายงานจาก World Academic Forum เผยว่าระยะ 10 ปีต่อจากนี้ งานประมาณ 1.2 พันล้านตำแหน่ง หรือร้อยละ 40 ของแรงงานทั่วโลก จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และแรงงานที่ได้รับผลมากที่สุดคือแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาอย่าง ประเทศไทย ที่ต้องทนทำงานภายใต้ความเครียด ทนกับความร้อนจนไม่อาจทำงานได้ ซ้ำร้ายจะส่งผลต่อระดับผลิตภาพของแรงงาน ส่งผลต่อระดับเศรษฐกิจโดยรวม นี่จึงเป็นวาระสำคัญที่คนต้องหันมาสนใจว่า ‘การทำงานให้ได้ดี’ และ ‘การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม’ เป็นเรื่องที่ต้องผลักดันไปพร้อมกัน

ภัทรมน โตเจริญ พนักงานทั่วไป (กวาด) เขตจอมทอง กทม. เล่าถึงชีวิตการทำงานในท้องถนนอันร้อนระอุของ กทม. เธอต้องตื่นมาทำงานแต่เช้ามืดเพื่อเริ่มตระเตรียมบ้านเมืองให้สะอาด ก่อนที่คนจะหลั่งไหลออกมาทำงาน และพักในช่วงเช้า ก่อนจะเริ่มทำงานอีกครั้งในช่วงสายลากยาวไปจนถึงบ่าย

เธอเคยพยายามต่อรองให้หัวหน้างานช่วยปรับเวลาการทำงานเพื่อเลี่ยงการเผชิญแดดโดยตรง แต่ก็ไม่เป็นผลนัก แม้เธอจะยืนยันว่า เธอสามารถจัดการงานตัวเองให้เรียบร้อยได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ภัทรมน โตเจริญ

ตลอดชีวิตการทำงานมา 6 ปี เธอยอมรับว่าสภาพการงานที่ทำนั้นเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งอากาศร้อนจัด ฝุ่นควันมลภาวะ ขยะที่เกลื่อนกลาด เพื่อนร่วมการทำงานหลายรายต้องประสบกับอุบัติเหตุบนท้องถนน หรือบางคนก็เสียสุขภาพกลายเป็นโรคเรื้อรังทางเดินอากาศ แต่คนทำงานหลายคนก็ยังจำใจเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญเพื่อแลกกับเงินตอบแทนการทำงานที่ได้รับเดือนละไม่ถึงหนึ่งหมื่นบาท

“ต่อให้ร้อนแค่ไหนหนูก็ต้องทำงาน ฝนจะตกหนักแค่ไหนหนูก็ต้องทำ เขาบอกให้ทำใจ ก็ต้องทำงานเพื่องาน ไม่ทำก็ไม่มีเงินเดือน …อย่างหนูกวาดถนนอยู่ตรงมุม แต่มีรถขับมากระจกชนแขน แต่ก็ไม่มีการขอโทษ ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุไป เราก็คงเหมือนหมาข้างถนนตัวหนึ่ง”

ภัทรมน โตเจริญ

วิจิตรา ดวงดี ผู้จัดการโครงการ Outreach Southeast Asia Pulitzer Center ให้ความเห็นว่า สื่อทุกวันนี้ยังสื่อสารประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศยังไม่มากพอ มิติของประเด็นสวัสดิภาพแรงงานนั้นมีพอใช้ได้ แต่ยังไม่เกิดการเชื่อมโยงของ 2 เรื่องข้างต้นว่าเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันพร้อมกัน เธอกังวลว่า แรงงานส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า “ไม่ว่าโลกนี้จะแปรปรวนมากแค่ไหน อย่างไรเสียงานก็เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป” แม้ว่าตอนนี้จะมีคนเสียชีวิตจากการทำงานภายใต้สภาพอากาศร้อนจัดเช่นนี้แล้วก็ตามที

วิจิตรา ดวงดี

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงเดือน มี.ค. – เม.ย. 67 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมร้อน (Heatstroke) แล้ว 30 ราย ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า สอดคล้องกับระดับอุณหภูมิประเทศไทยที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าในปีก่อน ๆ ขณะที่ วิจิตรา ระบุว่าแรงงานฐานรากกลายเป็นด่านหน้าในการเผชิญกับภาวะที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งที่พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ากลุ่มทุนทั้งหลาย เช่น

  • ไรเดอร์ส่งอาหารต้องเผชิญกับความร้อนในการขับขี่ยานยนต์ ที่มีผลการศึกษาออกมาแล้วว่า เหมือนกับมีไดร์เป่าผมมาจ่อหน้าอยู่ตลอดเวลา

  • ชาวประมงในหลายประเทศเผชิญกับวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ​ โดยที่พวกเขาไม่สามารถเข้าไปแก้ไขได้ เพราะอยู่เหนือการควบคุม และอาจลงเอยที่พวกเขาต้องสูญเสียเงินและงานไป

  • ฤดูร้อนที่มาถึงเร็วมากขึ้น ตลอดจนโรคระบาดและลมมรสุมที่แปรปรวน เกษตรกรต้องเผชิญความเสี่ยงที่ผลิตผลลดลง จนหลายคนต้องทิ้งไร่นามาทำงานในเมือง และกลายเป็น ‘คนจนเมือง’ ในที่สุด

  • หลายเมืองใหญ่กำลังเผชิญกับระดับน้ำที่สูงขึ้น พื้นที่ของเมืองที่อาจจมอยู่ใต้น้ำมักเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่าพื้นที่อื่น ๆ

“คนจะทำงานได้ ก็ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คนทำงานในห้องแอร์อาจไม่รู้ถึงภัยดังกล่าวเลย แต่แค่ออกมาเดิน 3 – 4 ก้าวก็แทบไม่ไหวแล้ว ถ้าคนที่คุณรัก วันหนึ่งเขาต้องตายเพราะฮีตสโตรก คุณคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ ‘รอได้’ อยู่ไหม? ดังนั้นผู้มีอำนาจทางนโยบายขยับตัวได้แล้ว จัดหาสวัสดิการ คุ้มครองแรงงานได้แล้ว ของแบบนี้มันป้องกันได้ ถ้าคุณเริ่มตั้งแต่วันนี้”

วิจิตรา ดวงดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active