ชวนทำความรู้จัก 3 ตัวแทนภาคประชาชน เข้าชี้แจงสาระสำคัญกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อวุฒิสภา ลุ้นโอกาส ‘บุพการีลำดับแรก’ หลังถูก สส. ตีตก
วันที่ 2 เม.ย. 67 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) หรือ สมรสเท่าเทียม เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา วาระที่หนึ่ง ภายหลังผ่านวาระสามของสภาผู้แทนราษฎร ไปแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
อ่านเพิ่ม : วาระด่วน “สมรสเท่าเทียม” เข้าสู่ชั้นวุฒิสภา 2 เม.ย.นี้
โดยระเบียบวาระการประชุม สว. มีวาระเร่งด่วน สมรสเท่าเทียม อยู่ในลำดับที่ 3 ซึ่งตามลำดับจะมีผู้ลุกขึ้นชี้แจง รวมถึงตัวแทนภาคประชาชน ก่อนจะให้ สว. โหวตเพื่อรับร่างหลักการในวาระแรก หาก สว. รับหลักการแล้ว จะตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่างฯ ฉบับดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่วาระ 2 และวาระ 3 เพื่อเสนอนายกรัฐตรีลงนามกฎหมายเพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน และประเทศไทยจะถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
ขณะที่ความหวังการบัญญัติ ‘บุพการีลำดับแรก‘ ตามข้อเสนอในชั้น กมธ. วิสามัญเสียงข้างน้อย ซึ่งถูกตีตกไปในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ที่ผ่านมาแล้วนั้น ยังมีโอกาสลุ้นในชั้นวุฒิสภา
- หาก สว. เห็นชอบตามมติของ สส. นั่นหมายความความว่า ความหวังการบัญญัติ บุพการีลำดับแรก จะถูกตีตกไปทันที
- หาก สว. มีมติแก้ไขบางมาตราเพิ่มเติม จะส่งกลับไปให้ สส.พิจารณาใหม่ ในกรอบระยะเวลา 180 วัน
3 ตัวแทนภาคประชาชน ย้ำหลักการ ‘สร้างครอบครัวเพศหลากหลาย’ ในชั้นวุฒิสภา
อรรณว์ ชุมาพร หรือ วาดดาว ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) หรือร่างสมรสเท่าเทียม ภาคประชาชน จากการรวบรวมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,611 รายชื่อ และยังเป็นนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก และหัวหน้าพรรคสามัญชน ในการเลือกตั้งปี 2562 นำเสนอนโยบายสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ยกเลิก ม.112, นำเสนอนโบายที่รักษาสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน ,พาคนธรรมดาที่เป็นนักต่อสู้ทางการเมืองเข้าสู่สภาฯ และยกเลิกวัฒนธรรมครอบงำ อำนาจนิยม สู่วัฒนธรรมการเมืองแบบมีส่วนร่วมที่แท้จริง
วาดดาว และสมาชิกกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ยังเคยถูกตั้งข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ โดยวาดดาวได้ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มอีก 1 ข้อหา จากเหตุชุมนุม #ขบวนกี3 ในปี 2564 ก่อนศาลพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566
ในช่วงเวลาเดียวกัน วาดดาว ได้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด ดำเนินงานด้วยรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social enterprise) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มนักกิจกรรม, นักการศึกษา, นักธุรกิจ, นักภาพยนตร์, ศิลปิน, แฟชั่นดีไซน์เนอร์ เพื่อสร้างการยอมรับถึงความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและต้องการสร้างพื้นที่ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน LGBTQIAN+ ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี โดยมีกิจกรรมที่เป็นที่รู้จัก เช่น
บางกอกนฤมิตไพรด์ | Pride Month 2022
“บางกอกไพรด์ 2023” สร้างสังคมที่เป็นมิตรกับคนทุกเพศ
นัยนา สุภาพึ่ง Feminist Activist อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักกฎหมายผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศของผู้หญิง และ LGBTQIAN+ ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชน ผลักดันสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่หล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพื่อสังคมที่มีความยุติธรรมทางเพศกับทุกคน
ปัจจุบันยังเป็นปรึกษา มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือ LGBTQIAN+ ที่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแตกต่างจากวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ เช่น การก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศหลากหลาย, คำนำหน้านาม, การเกณฑ์ทหารของคนข้ามเพศ, ระบบบริการสุขภาพ ฯลฯ ซึ่งในการพิจารณาร่างฯ สมรสเท่าเทียม ฉบับปัจจุบัน ยังได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในกรรมาธิการวิสามัญ สัดส่วนภาคประชาชน และลุกขึ้นชี้แจงในชั้นสภาผู้แทนราษฎร ทุกครั้งที่ผ่านมา รวมถึงในชั้นวุฒิสภาครั้งนี้ด้วย
ชัญญา รัตนธาดา หรือ ปาหนัน เป็นที่รู้จักในสังคมจากการถือป้ายอยากจะเป็น นายกฯ กะเทยคนแรกของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในคนที่ถูกหมายเรียกจากม็อบสมรสเท่าเทียม ฉบับประชาชน ในช่วงที่มีการรวบรวมรายชื่อกันอยู่ และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Young Pride Club กลุ่มเยาวชนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ถือเป็นเยาวชนผู้ร่วมเคลื่อนไหวสมรสเท่าเทียมตั้งแต่กลุ่ม 1448 For All จนถึงปัจจุบัน
ด้านผลงาน ปาหนัน เป็นผู้จัดงาน Chiang Mai Pride 3 ปีซ้อน ผลักดันให้ยกเลิกแต่งกายตามเพศกำเนิด ในเอกสารสำคัญทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเป็นนักเรียน ‘โรงเรียนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (OHCHR) UN Human Rights – Asia
โดยในการพิจารณาร่างฯ ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร รอบที่ผ่านมา ปาหนัน ลุกขึ้นชี้แจง และย้ำในฐานะของเยาวชน ถึง สส.ในสภาฯ ที่บางคนอาจจะเป็นพ่อแม่มือใหม่ และภาคภูมิใจในลูกหลานของตัวเองที่เติบโต เรียนจบ หรือส่งเสียตัวเองได้ ซึ่งครอบครัวเพศหลากหลายก็ภูมิใจในบุตรหลานของเขาเช่นเดียวกัน จึงต้องการให้ สส. ให้โอกาสสิทธิการจัดตั้งครอบครัวของคู่สมรสเพศหลากหลาย เพื่อยืนยันการมีอยู่ของคู่สมรสเพศหลากหลายทุกคน และมีความหมายต่อชุมชน LGBTQIAN+ เพราะคือการที่ประชาชนนั้นขึ้นมาสื่อสารกับสภานิติบัญญัติโดยตรง
ขณะที่ความกังวลต่อ สว.ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงนั้น วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า แม้ สว. จะหมดวาระแล้ว แต่ยังสามารถรักษาการต่อจนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่ ซึ่ง สว.ชุดปัจจุบันยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโหวตผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาฯ สมัยถัดไป คือในเดือน ก.ค. 67