วาระด่วน “สมรสเท่าเทียม” เข้าสู่ชั้นวุฒิสภา 2 เม.ย.นี้

ลุ้นทันใช้ก่อนสิ้นปี ภาคประชาชนยังหวัง “บุพการีลำดับแรก” ถูก สว.ให้ความสำคัญ

วันนี้ (30 มี.ค.67) เว็บไซต์สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เผยแพร่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 2 เมษายน พ.ศ.2567 เกี่ยวกับการพิจารณาวาระด่วน ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือสมรสเท่าเทียม ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว (วุฒิสภาต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 136 นับแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567)

“ด้วยประธานวุฒิสภามีคำสั่งให้บรรจุร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแล้ว เพิ่มเติมเป็นเรื่องด่วนที่ 3 ในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 31 (สมัยสำมัญประจำปีครั้งที่สอง) วันอังคารที่ 2 เมษายน 2567”

ทันทีที่ประกาศดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมา เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (for-sogi) ที่ทำงานขับเคลื่อนประเด็นสมรสเท่าเทียม และเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างฯ สมรสเท่าเทียม ในส่วนของภาคประชาชน ได้โพสต์แสดงความยินดี พร้อมชวนประชาชนติดตามว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียม คู่รักหลากหลายทางเพศจะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ภายในปีนี้หรือไม่ 

สำหรับเส้นทางของสมรสเท่าเทียม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นของวุฒิสภา หาก สว.รับหลักการแล้ว จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษาร่างฯ ฉบับดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนจะเข้าสู่วาระ 2 และวาระ 3 เพื่อเสนอนายกรัฐตรีลงนามเพื่อขึ้นทูลเกล้าฯ  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ใน 120 วัน

ขณะที่ความหวังการบัญญัติ “บุพการีลำดับแรก” ตามข้อเสนอในชั้นกมธ. วิสามัญเสียงข้างน้อย ซึ่งถูกตีตกไปในชั้นสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาแล้วนั้น ยังต้องลุ้นในชั้นวุฒิสภา หนึ่งคือ หากจะเห็นชอบตามมติของ สส. นั่นหมายความความว่า ความหวังการบัญญัติ “บุพการีลำดับแรก” จะถูกตีตกไปทันที  หรือหากมีมติแก้ไขบางมาตราเพิ่มเติม จะส่งกลับไปให้ สส.พิจารณาใหม่ ในกรอบระยะเวลา 180 วัน 

ก่อนหน้านี้ The Active ได้พูดคุยกับ อนุพร อรุณรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ประจำ กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า ตนเองเชื่อว่าในชั้นของวุฒิสภา เปิดกว้างมากโดยเฉพาะ สว.ที่อาวุโส เวลานี้กำลังฟังข้อมูลจากสังคม ดังนั้นต้องขยายความสำคัญ หัวใจของกฎหมายฉบับนี้ให้ชั้นนิติบัญญัติ และสังคม เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ตระหนักรู้ พร้อมเตรียมการที่จะโอบรับกับสิ่งที่เป็นสิ่งใหม่ของสังคมไทย เช่น ต่อไปจะมีครอบครัวเพศเดียวกัน มีสิทธิในครอบครัว สิทธิในมรดก สิทธิในตัวของเด็ก ฯลฯ ที่สังคมจะต้องรับรู้และรับทราบ โดยเฉพาะ ข้อมูลการศึกษา งานวิจัย รวมถึงข้อมูลทางการแพทย์ ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ต้องถูกนำมาเปิดเผยให้มากขึ้น เพื่อสื่อสารสู่สังคมไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ที่สำคัญคือต้องไม่มองว่าคนรุ่นเก่าเป็นคนยึดติด หรือไม่พร้อมปรับเปลี่ยนตามกระแสสังคม

ขณะที่ความกังวลต่อ สว.ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงนั้น วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธาน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา กล่าวว่า แม้ สว.จะหมดวาระแล้ว แต่ยังสามารถรักษาการต่อจนกว่าจะได้ สว.ชุดใหม่ ซึ่ง สว.ชุดปัจจุบันยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงการโหวตผ่านร่างกฎหมาย ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาฯ สมัยถัดไป คือในเดือน ก.ค. 67

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active