สำรวจ ‘รักในวัยเรียน’ วัยรุ่นไทย เลือกเรียนต่อถ้า ‘ท้องไม่พร้อม’

พบเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ เห็นว่า เฉย ๆ และชื่นชม เพื่อนตั้งท้องมาเรียน มองแจกถุงยางอนามัย ไม่ใช่การสนับสนุน แต่ช่วยป้องกัน อยากเห็นวิชาเพศศึกษา สอนความเข้าใจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วันนี้ (14 ก.พ. 67) ร็อกเกต มีเดีย แล็บ ร่วมกับ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ (p2h) สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ และปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเซ็กส์/ความรัก/ความสัมพันธ์ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา (ม.1-6) และ ปวช. 1-3 ผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ ระหว่างวันที่ 7-12 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,678 คน เพศหญิง 2,181 คน (59.3%) เพศชาย 1,073 คน (29.17%) LGBTQ+ 322 คน (8.75%) และไม่ต้องการระบุ 102 คน (2.77%) โดยผู้ตอบมีอายุระหว่าง 11-20 ปี มีผลการสำรวจ สรุปได้ ดังนี้

เมื่อถามว่าปัจจุบันอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบใด นักเรียนที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ‘เป็นโสด’ มากที่สุด 1,980 คน (53.83%) มีแฟน 1,258 คน (34.20%) มีคนคุย 330 คน (8.97%) Friends with benefits 50 คน (1.36%) One-night stand 25 คน (0.68%) และอื่น ๆ 35 คน (0.95%) เช่น อยู่ใน Friend zone ซื้อ-ขายบริการ และมือที่สาม 

อิทธิพลโซเชียลมีเดียกับการหาคู่ของวัยรุ่น

เมื่อสอบถามว่า นักเรียนที่ตอบแบบสอบถาม 1,717 คน ที่ไม่ได้ตอบว่าโสด เจอกับคู่ของตัวเองได้อย่างไร พบว่า เจอกันที่โรงเรียน 814 คน (47.41%), ผ่านทางเฟซบุ๊ก 311 คน (18.11%), มีเพื่อนแนะนำ 135 คน (7.86%), เจอกันในที่สาธารณะ เช่น สวน ห้าง คอนเสิร์ต ฯลฯ 113 คน (6.58%), ผ่านแอปฯ หาคู่ 105 คน (6.12%), อินสตาแกรม 96 คน (5.59%), เกมออนไลน์/ร้านเกม 50 คน ( 2.91%), เรียนพิเศษ/ค่าย/กิจกรรมต่างโรงเรียน 25 คน (1.46%), ผ่านทางดิสคอร์ด 18 คน (1.05%), ทวิตเตอร์ (X) 10 คน (0.58%), TikTok 8 คน (0.47%) และ อื่น ๆ เช่น คนละแวกบ้าน เจอจาก Omegle, Bigo live, Openchat จำนวน 32 คน (1.86%)

โดยความน่าสนใจของคำตอบในข้อนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนที่ตอบว่า ผ่านทางเฟซบุ๊ก 311 คน พบว่าเป็นนักเรียน ม.ต้น 86 คน ม.ปลาย 128 คน ปวช. 97 คน เจอกันในที่สาธารณะ เช่น สวน ห้าง คอนเสิร์ต ฯลฯ 113 คน พบว่าเป็นนักเรียน ม.ต้น 32 คน ม.ปลาย 57 คน ปวช. 24 คน ผ่านแอปหาคู่ 105 คน พบว่าเป็นนักเรียน ม.ต้น 11 คน ม.ปลาย 56 คน และปวช. 38 คน 

‘เพศสัมพันธ์’ กับรักในวัยเรียน

เมื่อถามว่า คุณเคยมีเพศสัมพันธ์หรือไม่ ? ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 3,678 คน ตอบว่า เคย 1,087 คน (29.55%) และไม่เคย 2,591 คน (70.45%)

เมื่อพิจารณาในกลุ่มที่ตอบว่าเคยมีเพศสัมพันธุ์ พบว่า เป็นเพศหญิง 715 คน (65.78%) รองลงมาก็คือ เพศชาย 240 คน (22.08%) และ LGBTQ+ 102 คน (9.38%) และหากแยกเป็นระดับการศึกษาจะพบว่า เป็นนักเรียน ม.ต้น 153 คน (14.08%) ม.ปลาย 555 คน (51.06%) ปวช. 379 คน (34.87%)

และเมื่อพิจารณาลงไปอีกว่า กลุ่มที่ตอบว่าเคยนั้นปัจจุบันมีความสัมพันธ์ในรูปแบบใด จะพบว่าเป็นแฟนมากที่สุด รองลงมาก็คือโสด และคนคุย นอกจากนี้ยังพบว่าในกลุ่มที่ตอบว่าเคยนั้นเจอคู่ของตัวเองได้อย่างไร พบว่า เจอจากโรงเรียนมากที่สุด รองลงมาก็คือเฟซบุ๊กและเพื่อนแนะนำ

เพศสัมพันธ์วัยรุ่น…เริ่มจากอะไร ?

แล้วอะไรที่ทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก พบว่า มีการตกลงกันทั้งสองฝ่ายมากที่สุด 716 คน (65.87%), บรรยากาศพาไป 255 คน (23.46%), เมา 46 คน (4.23%), ถ้าไม่ให้ กลัวมีปัญหากับความสัมพันธ์ 29 คน (2.67%), ถูกบังคับ 27 คน (2.48%), อยากรู้อยากลอง 11 คน (1.01%) และอื่น ๆ 3 คน (0.28%)

วัยรุ่น กับวิธี ‘คุมกำเนิด’ ป้องกันที่ปลายเหตุ

เมื่อถาว่าเคยคุมกำเนิดด้วยวิธีใดบ้าง ซึ่งสามารถตอบได้มากกว่า 1 ตัวเลือก พบว่า การใช้ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่นักเรียนเลือกมากที่สุด 967 คน (38.63%), ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 436 คน (17.42%), การหลั่งนอก 393 คน (15.70%), ใช้ยาคุมกำเนิดรายเดือน 241 คน (9.63%), เลือกที่จะไม่คุมกำเนิด 118 คน (4.71%), นับวัน หน้า 7 หลัง 7 104 คน (4.16%), เพศสัมพันธ์ภายนอก 95 คน (3.80%), ฝังยาคุม 83 คน (3.32%), ยาคุมแบบฉีด 42 คน (1.68%) อื่น ๆ เช่น ถุงยางอนามัยสตรี ห่วงอนามัย ยาคุมแบบแปะ 24 คน (0.96%)

ตระหนักถึงความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

จากคำถามที่ว่าป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไร พบว่า ใช้ถุงยางอนามัยมากที่สุด 1,026 คน (84.03%), ไม่ป้องกัน 82 คน (6.72%), ยาเพร็พ (PrEP) 40 คน (3.28%), ยาเป็ป (PEP) 29 คน (2.38%) และแผ่นยางอนามัย (dental dam) 23 คน (1.88%)

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของกลุ่มที่ตอบว่าใช้ถุงยางอนามัย 1,026 คน พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด 676 คน รองลงมาก็คือเพศชาย 230 คน และ LGBTQ+ 91 คน ในขณะที่กลุ่มที่ตอบว่าไม่ป้องกัน 82 คน พบว่า เป็นเพศหญิงมากที่สุด 53 คน รองลงมาก็คือ LGBTQ+ 14 คน และเพศชาย 12 คน และยังพบว่าเป็นนักเรียนในระดับชั้นม.ปลายมากที่สุด 42 คน รองลงมาก็คือ ปวช. 23 คน

รู้ว่ารับถุงยางอนามัย/ยาคุม ฟรี แต่ไม่ต้องระบุตัวตน

ส่วนคำถามที่ว่า รู้หรือไม่ว่า สามารถรับถุงยางอนามัย/ยาคุม ได้ฟรี พบว่า มีคนรู้ 2,386 คน (64.87%) และไม่รู้ 1,292 คน (35.13%) และเมื่อถามวว่าคิดอย่างไรกับการต้องให้เลขบัตรประชาชน 13 หลักเพื่อรับอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ตอบว่า เห็นด้วย 2,134 คน (58.02%) ไม่เห็นด้วย แต่ต้องให้เพราะต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี 800 คน (21.75%) และไม่เห็นด้วย ไม่ใช้ช่องทางนี้ 744 คน (20.23%) โดยคนที่ตอบข้อเห็นด้วย แบ่งเป็นคนที่ตอบว่า ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ 1,561 คนและเคยมีเพศสัมพันธ์ 573 คน

เมื่อพิจารณากลุ่มที่ตอบคำถามว่าตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ เคยคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย 967 คน จะพบว่าตอบคำถามในข้อนี้ว่าเห็นด้วยมากที่สุด 513 คน รองลงมาคือไม่เห็นด้วย แต่ต้องให้เพราะต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี 249 คน

กลุ่มที่ตอบคำถามว่าโดยปกติแล้วคุมกำเนิดด้วยการใช้ถุงยางอนามัย 926 คน จะพบว่าตอบคำถามในข้อนี้ว่าเห็นด้วยมากที่สุด 483 คน รองลงมาคือไม่เห็นด้วย แต่ต้องให้เพราะต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี 245 คน

ส่วนกลุ่มที่ตอบคำถามว่าป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย 1,026 คน จะพบว่าตอบคำถามในข้อนี้ว่าเห็นด้วยมากที่สุด 483 คน รองลงมาคือ ไม่เห็นด้วย แต่ต้องให้เพราะต้องการอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี 245 คน

สำหรับคำถามที่ว่าหากสามารถรับอุปกรณ์คุมกำเนิดได้ฟรี อยากรับผ่านช่องทางไหน พบว่า สถานพยาบาล/ร้านขายยา โดยไม่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล มากที่สุด 2,122 คน (57.69%) รองลงมาคือ โรงเรียน 669 คน (18.19%), ช่องทางเดิมที่มีอยู่แล้ว 540 คน (14.68%), สถานที่สาธารณะ เช่น ห้องน้ำสาธารณะ 251 คน (6.82%), ออนไลน์/พัสดุ 37 คน (1.01%) อื่น ๆ เช่น สถานที่ซื้อขายบริการ ตู้ใส่ของเฉพาะอุปกรณ์คุมกำเนิด 24 คน (0.65%), ไม่อยากรับ 13 คน (0.35%), ทุกที่ 7 คน (0.19%), สถานพยาบาล/ร้านขายยา/โรงเรียน 7 คน (0.19%), (ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงเรื่องการให้ข้อมูลส่วนบุคคล) ไม่รู้ 6 คน (0.16%) และสถานพยาบาล/ร้านขายยา โดยให้ข้อมูลส่วนตัว 2 คน (0.05%)

แม้จะมีผู้ตอบว่าอยากรับผ่านสถานพยาบาล/ร้านขายยา โดยไม่ต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคล มากที่สุด 2,122 คน แต่กลับเป็นคำตอบที่ขัดแย้งกับคำตอบส่วนใหญ่ในคำถามข้อก่อนหน้าที่ถามว่า คิดอย่างไรกับการต้องให้เลขบัตรประชาชน 13 หลักเพื่อรับอุปกรณ์คุมกำเนิดฟรี ซึ่งมีผู้ตอบว่า เห็นด้วย 2,134 คน ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจว่าเลขบัตรประชาชนก็คือข้อมูลส่วนบุคคล 

หาก ‘ท้องไม่พร้อม’ ยอมตั้งครรภ์ต่อแต่ไม่ขอลาออก!

ในกรณีที่หากเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจของนักเรียนหรือคู่ จะทำอย่างไร พบคำตอบดังนี้ 

  1. เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยเรียนต่อ 1,807 คน ( 49.13%)

  2. เลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ 1,095 คน (29.77%)

  3. เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยลาออกจากโรงเรียน 537 คน (14.60%)

  4. ไม่รู้ ไม่แน่ใจ ไม่ตอบ 63 คน (1.71%)

  5. ปรึกษาผู้ปกครอง 44 คน (1.20%)

  6. เป็น LGBTQ+ 28 คน (0.76)

  7. ดูความพร้อม 22 คน (0.60%)

  8. เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อ โดยพักการเรียนชั่วคราว 18 คน (0.49%)

  9. อื่นๆ เช่น ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น แล้วแต่ฝ่ายที่ตั้งครรภ์ 64 คน (1.74 %)

ความน่าสนใจของคำตอบในข้อ เลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อโดยเรียนต่อไปด้วย พบว่า เพศที่ตอบในข้อนี้แบ่งเป็น หญิง 1,045 คน (57.83%) ชาย 564 คน (31.21%) LGBTQ+ 163 คน (9.02%) และไม่ระบุเพศ 35 คน(1.94%)

ห้ามโรงเรียนไล่ออก เพราะตั้งครรภ์

ในเรื่องกฎกระทรวงที่ห้ามสถานศึกษาไล่นักเรียนที่ตั้งครรภ์ออก พบว่า รู้ 2,007 คน (54.57%) และไม่รู้ 1,671 คน (45.43%) เมื่อพิจารณาในส่วนของคำตอบที่ว่า รู้ 2,007 คน 

โดยมีการถามด้วยว่า รู้สึกอย่างไรกับคนที่ตั้งครรภ์แล้วยังมาเรียน ? ซึ่งเป็นคำถามปลายเปิด เมื่อนำมาวิเคราะห์และจำแนกเป็นกลุ่มต่าง ๆ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามรู้สึก ดังนี้

  1. เฉย ๆ เป็นกลาง มากที่สุด 1,584 คน (43.07%)

  2. ชื่นชม เช่น เขาต้องแกร่งมากเพราะต้องสู้กับสายตาที่มองเขา รู้จัก รับผิดชอบชีวิตของตัวเอง 1,171 คน (31.84%)

  3. ไม่มีความเห็น เช่น ไม่รู้สึกอะไรเพราะคนเราผิดพลาดกันได้ 348 คน (9.46%)

  4. เห็นใจสงสาร เช่น รู้สึกสงสารคน ๆ นั้นที่ต้องอุ้มเด็กมาเรียนทุกวัน ซึ่งเด็กในท้องนั้นอาจจะมีโดยไม่ได้ประสงค์ 268 คน (7.29%)

  5. ประณาม ไม่ควรมา เช่น หน้าไม่อาย 161 คน (4.38%)

  6. แปลก ตกใจ เช่น คงรู้สึกแปลกเพราะส่วนใหญ่มักจะลาออก 83 คน (2.26%)

  7. กังวล เช่น กลัวว่าถ้ามาโรงเรียนแล้วจะแท้งแบบไม่รู้ตัว 30 คน (0.76%)

  8. เข้าใจ เช่น ส่วนตัวต้องเข้าใจเขานะเพราะมันอาจจะผิดพลาดจริง ๆ เราไม่ควรมองเขาด้วยสายตารังเกียจ 10 คน (0.27%)

  9. อื่น ๆ เช่น รู้สึกว่าเราต้องป้องกันไม่ไห้เกิดขึ้นกับเรา 25 คน (0.68%) นอกจากนี้ยังมีคนที่เขียนเล่าเรื่องในโรงเรียนด้วยว่า “ขอพูดตรงๆ นะคะ คือเพื่อนมาโรงเรียน แต่ว่า คุณครูไล่ออกแบบเงียบ ๆ ค่ะ เลือกออก 1 คน ไม่หญิงก็ชายค่ะ”

เมื่อถามว่ารู้หรือไม่ว่า สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างถูกกฎหมายโดยบุคลากรทางการแพทย์ หากอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ พบว่า ตอบว่า รู้ 2,263 คน (61.53%)เป็นเพศหญิงมากที่สุด 1,509 คน รองลงมาก็คือเพศชาย 454 คน และตอบว่า ไม่รู้ 1,415 คน (38.47%) เป็นเพศหญิงมากที่สุด 672 คน รองลงมาก็คือ เพศชาย 619 คน

วิชาเพศศึกษา สอนอะไรบ้าง ?

สำหรับคำถามที่ว่า คุณได้เรียนอะไรบ้าง ซึ่งสามารถเลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ พบว่า เรื่องที่เรียนคือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการป้องกัน มากที่สุด 19.69% รองลงมาก็คือ การป้องกันการตั้งครรภ์ 19.57%, การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย 18.93%, ความหลากหลายทางเพศ 16.09%, ทักษะในการจัดการความสัมพันธ์ เช่น การต่อรอง การปฏิเสธ การสื่อสาร 15.42% การเข้าถึงบริการสาธารณสุข 9.86% ไม่ได้เรียน 0.44%

แล้วเรื่องอะไรที่อยากให้สังคมเข้าใจในเรื่องเซ็กส์/ความรัก/ความสัมพันธ์ของวัยรุ่น โดยยกตัวอย่างความเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้

“เรื่องพกถุงยางค่ะอยากให้ผู้ปกครองเข้าใจส่วนใหญ่ก็จะยังไม่ยอมรับและยังมองเป็นเรื่องน่าเกลียดอยู่ที่เด็กพกถุงยาง โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงก็จะโดนหาว่าเป็นเด็กเกเรเด็กใจแตก มีผัวก่อนวัยอันควร”

หญิง ปวช. ปี 2 ภาคเหนือ 

“คนสมัยนี้ไม่จำเป็นต้องคบแค่เพศตรงข้าม เราสามารถคบกับเพศเดียวกันได้ เรารักคนที่เราอยู่ด้วยแล้วมีความสุขดีกว่า”

ชาย ม.6 อายุ 19 ปี ภาคเหนือ 

“ความรักในวัยเรียนไม่ได้แปลว่าเราไม่มีความสนใจด้านการศึกษาค่ะอย่างน้อยก็ไม่ใช่ทุกคน เราหลาย ๆ คนสามารถแยกแยะได้ค่ะ บางคนเขาอาจจะมีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ จัดแจงได้ค่ะ อยากให้สังคมอย่าพึ่งตัดสินอะไรกับสิ่งที่พึ่งได้เห็นเพียงผ่านๆค่ะ”

หญิง ม.1 อายุ 13 ปี ภาคตะวันออก 

“เด็กที่ออกมาลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไม่จำเป็นจะต้องท้องก่อนทุกคนและไม่จำเป็นเลยที่จะต้องแต่งงานก่อนถึงจะใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้”

หญิง อายุ 18 ปี ปวช.ปี 3 ภาคตะวันตก 

“ไม่ใช่เรื่องที่น่าอาย แต่ต้องรู้จักป้องกันต้องเข้าใจก่อนมีวัยรุ่นมีความยับยั้งชั่งใจน้อยต้องคิดให้รอบคอบก่อน” 

ชาย ม.4 อายุ 15 ปี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ควรสอนให้ป้องกันมากกว่าห้าม”

ชาย ม.4 อายุ 15 ปี ภาคใต้ 

“เป็นเรื่องธรรมชาติและปกติมาก ๆ เพียงแค่ป้องกัน”

ม.3 กรุงเทพฯ อายุ 16 ปี 

เมื่อสอบถามว่าอยากได้การสนับสนุนเรื่องใดมากที่สุดในเรื่องเซ็กส์/ความรัก/ความสัมพันธ์ของวัยรุ่น (คำถามปลายเปิด) ความเห็นที่น่าสนใจ อาทิ

 “แจกถุงยางอนามัย อาจจะไม่ได้เป็นการสนับสนุนแต่ให้คิดว่าเป็นการป้องกัน”

หญิง 18 ปี ปวช. ปี 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 “อยากให้มีการพูดคุยเปิดใจและรับฟังวัยรุ่นในเรื่องนี้ ว่าเรื่องเซ็กส์ ความรัก ความสัมพันธ์ของวัยรุ่น เป็นเรื่องธรรมชาติ อยากให้ผู้ใหญ่คอยสนับสนุนสนุน ไม่ซ้ำเติมหรือพูดทำร้ายจิตใจเด็ก และมีการสอนเด็กให้ป้องกัน”

หญิง 17 ปี ปวช. ปี 1 ภาคตะวันออก

“ความรักแบบไม่จำกัดเพศ”

LGBTQ+ อายุ 16 ปี ม.4 ภาคเหนือ 

“อยากให้โรงเรียนมีการแนะแนวและให้ความรู้ในการเลือกขนาดถุงยางอนามัยแบบ เป็นการอบรม และแจกถุงยาง” 

LGBTQ+ อายุ 17 ปี ม. 4 ภาคใต้

“การเข้าถึงความรู้หรือการให้คำปรึกษาแบบทั่วถึงทุกๆ ที่ในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วทั้งประเทศ”

ชาย อายุ 20 ปี ปวช.ปี 3 ภาคกลาง

อ้างอิงข้อมูลจาก https://rocketmedialab.co/database-student-q2-2024/ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active