คนอื่นเป็นได้ แต่ต้องไม่ใช่ครอบครัวตัวเอง ทุกข์ระทมของครอบครัว LGBTQIAN+ ไทย

การศึกษาพบ พ่อ-แม่ ก็สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้เช่นเดียวกัน เสนอสร้างนวัตกรรมการสื่อสารในครอบครัว และนโยบายที่สร้างความเท่าเทียมในสังคม

วันนี้ (20 เม.ย.67) หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 ร่วมกับสถาบันอิศรา จัดสัมนาสาธารณะ  “สื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียม สิทธิของ LGBTQIAN+ กับการเปิดรับของสังคม” เพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้สื่อสารตัวตนสู่สาธารณะ  ผ่านมุมมองและประประสบการณ์ของ LGBTQIAN+ พร้อมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางในการสร้างความเท่าเทียมสังคม

ณชเล บุญญาภิสมการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงการสื่อสารภายในครอบครัวว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากในการทำงานของมูลนิธิฯ พบคือ พ่อแม่รู้สึกว่าตัวเองทำผิดที่มีลูกเป็น LGBTQIAN+ ขณะที่ลูกเองก็รู้สึกว่าตัวเองต้องทำเกินกว่าคนอื่นให้ดีที่สุด เรียนเก่งที่สุด หรือเป็นคนดีที่สุด เพื่อที่จะทำให้พ่อแม่ยอมรับ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะไม่ว่าจะเกิดเป็นเพศไหนคนที่เป็นพ่อแม่ควรจะต้องยอมรับ และการยอมรับเป็นพื้นฐานของความรัก จึงต้องมีทั้งการสื่อสารมีคู่มือสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายทางเพศ เพื่อทำให้พ่อแม่ หรือตัวเองก้าวข้ามความรู้สึกผิดนั้น และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ด้าน รัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดง และเป็น LGBTQIAN+ ที่เติบโตในประเทศสวีเดน สะท้อนว่า ประเทศไทยอาจจะมีความล่าช้าเกี่ยวกับความเท่าเทียม ทั้งเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม และการรับรู้ของคนในสังคมว่ารสนิยมทางเพศเป็นเรื่องส่วนตัว แต่บางคนยังนำเรื่องนี้มาเป็นข้อกำหนดหรือทำให้คน ๆ หนึ่งถูกมองว่าแปลก ซึ่งปัจจุบันรสนิยมทางเพศเปลี่ยนไปและมีความหลากหลาย ดังนั้นหากเราก้าวข้ามไปได้ มองเห็นว่ามนุษย์คือมนุษย์ ควรที่จะมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง จึงสอดรับกับกฎหมายที่ต้องการการเคารพสิทธิความเป็นมนุษย์ เช่น เป็นการข้ามเพศ หรือสมรสเท่าเทียม ซึ่งรัฐบาลสวีเดนให้ความสำคัญกับพลเมืองที่มีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ และมีนโยบายให้การสนับสนุน ตั้งแต่โรงเรียน ที่ทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับซีรีส์ กล่าวว่า 10 ปีที่แล้วตนเองเคยทำภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของพ่อที่เป็นกะเทยซึ่งโดนแบนในเวลานั้น แต่ผ่านมาตอนนี้ประเทศไทยสามารถทำซีรีส์วาย ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นั่นหมายความว่าสังคมเปิดรับเรื่องของความรักของคนเพศหลากหลาย และรับรู้ว่า LGBTQIAN+ อยู่ในทุกสังคม แต่อย่างไรก็ตามการสื่อสารในครอบครัวต้องถามกลับไปถึงคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ถ้าวันหนึ่งพ่อแม่ไม่ได้มีเพศสภาพเหมือนเดิมลูกจะเข้าใจพ่อแม่ได้ไหม ที่สำคัญคือสถาบันการศึกษา ควรเป็นสถานที่บ่มเพาะให้สังคมเข้าใจความเท่าเทียมหรือการเท่ากันของมนุษย์ 

ส่วนประเด็นสื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียม ต้องมาจากฐานคิดที่ว่ากำลังทำเรื่องอะไร เล่าเรื่องแบบไหน แน่นอนว่าเราใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปได้ แต่ต้องตระหนักถึงประเด็นที่จะสื่อสาร คนทำข่าวเองก็ดี การจะอธิบายเพศสภาพ ต้องดูว่าควรไหม หรือสร้างภาพจำอย่างไร ต้องตระหนักให้มากขึ้น

ในเวทียังมีการนำเสนอการศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดรับความหลากหลายทางเพศทั้งด้านกฎหมายและสิทธิ โดยพบว่ายังคงมีการเหลื่อมล้ำอีกหลายอย่าง เช่น การถูกปฏิเสธโอกาสในการทำงาน, การรับการรักษาจากสถานพยาบาลอย่างไม่เหมาะสม และยังคงมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่เปิดรับ LGBTQIAN+ อาจนำไปสู่การเกลียดชังได้ รวมทั้งการพูดคุยถึงความคืบหน้าของกฎหมายสมรสเท่าเทียมซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา หากเสร็จสิ้นทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงหน่วยงานต่าง ๆ ต้องทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active