ภาคประชาสังคม ชี้ หากรัฐไทยจะให้ความสำคัญกับเรื่อง “สวัสดิการผ้าอนามัย” ต้องเข้าใจและวางนโยบายบนฐานความเป็นธรรมด้านอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง
8 มี.ค. 2565 วันสตรีสากล มีการนำเสนอและขับเคลื่อนประเด็นสิทธิสตรีหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้น คือ พรรคเพื่อไทย จัดวงเสวนา “สิทธิ เพศ และ ผู้มีประจำเดือน” หัวข้อ “สวัสดิการผ่าอนามัย คือสิทธิมนุษยชน” เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด และนำไปสู่นโยบายสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี
อ่านเพิ่ม
- ‘หญิงท้องต้องมีงานทำ’ 1 ใน 9 ข้อเรียกร้อง วันสตรีสากล
- ‘พ่อแก่ แม่ป่วย ลูกเล็ก’ ปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี
- ชายยังเป็นใหญ่ ในสังคมการเมือง?
จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สสส. มองว่า สวัสดิการผ้าอนามัย จะเกิดขึ้นได้ ในสังคมที่มองเห็นประเด็นเรื่องสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงเป็นเรื่องสำคัญ หากสังคมหรือรัฐจะมีนโยบายเรื่องนี้ การคำนึงถึงว่าผู้หญิงมีเงื่อนไขด้านร่างกายและสุขภาพอย่างไร เรื่องเหล่านี้ก็อาจถูกให้ความสำคัญจากภาครัฐ
“เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำการศึกษาเชิงระบบ เรื่องการเงิน งบประมาณ และการจัดการภาษี เพื่อนำมาใช้สำหรับเรื่องสวัสดิการ ว่ามันจะจัดสรรอย่างไร คิดว่าจุดเริ่มต้นสำคัญในเรื่องนี้ คือเราจะต้องออกนโยบายจากฐานคิด แล้วก็มุมมองที่ให้ความสำคัญกับความเป็นธรรมในเรื่องสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิง”
จิตติมา ยังระบุว่า หากเปรียบเทียบระหว่างผ้าอนามัย กับการแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัย ที่ผ่านมาการวางนโยบายของไทย อยู่บนฐานเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดและป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ยังไม่มีนโยบายที่เข้าใจเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์อย่างแท้จริง
โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน, เจ้าของเพจ ‘เจ้าแม่’ และ Host รายการ ‘Sex is More’ ระบุว่า นโยบายสวัสดิการ ต้องทำเพื่อทุกคน จะทำเพื่อคนเฉพาะกลุ่มไม่ได้ สิ่งสำคัญคือมนุษย์ควรจะเข้าถึงสิทธิ์การดูแลรักษาสุขอนามัยเจริญพันธุ์ของตัวเอง ดูแลสุขภาพตัวเอง แต่ผู้หญิงผู้มีประจำเดือนอีกจำนวนมากกำลังขาดแคลน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น
“point ที่ว่า My Body, My Choice ใช่ แต่ประจำเดือนมันคือ Choice หรือเปล่า เราเลือกได้หรือเปล่า ว่าวันนี้จะกลั้นประจำเดือนเดือน เดือนนี้เราจะไม่มีประจำเดือน มันเลือกไม่ได้… มันเป็นกลไกทางชีววิทยา นี่คือสุขอนามัยเจริญพันธุ์ขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับการดูแล และถูกต้องแล้วที่จะต้องเป็นสวัสดิการฟรี”
โชติรส ยังบอกอีกว่า ประชาชนมีความต้องการที่หลากหลาย มีความต้องการที่ต่างกัน นี่จึงเป็นสิ่งที่รัฐและพรรคการเมืองควรทำนโยบายเพื่อสนับสนุนสิ่งนี้
ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวเสริมว่า หากนโยบายตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่องความเป็นธรรมทางอนามัยเจริญพันธุ์ เรื่องสวัสดิการผ้าอนามัย จะไม่ถูกละเลยแน่นอน และถึงเวลาที่เสียงของผู้หญิงจะต้องพูดว่าเราต้องการอะไรในมุมของเนื้อตัวร่างกาย ขณะที่หลายประเทศเมื่อพูดเรื่องความเป็นธรรมด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ จะไม่ใช่เพียงเรื่องของเนื้อตัวร่างกาย แต่พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม หรือความยากจนด้วย