16 ปี รักแห่งสยาม สู่ความเท่าเทียมทางเพศในอุตฯ แรงงานสร้างสรรค์ 

‘มะเดี่ยว ชูเกียรติ’ ผู้กำกับฯ เผย 16 ปีก่อน รักแห่งสยามท้าทายตั้งแต่การโพรโมตจนถึงหลังฉาย ความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย แต่ปัจจุบันหนังแนวนี้กลายเป็นจุดขายของไทยในฐานะซีรีส์วาย “ธัญวัจน์” ย้ำ ผลักดันนโยบายกฎหมายความเท่าเทียม สนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็น Soft Power ภายใต้งบฯ กระทรวงวัฒนธรรม

26 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวานนี้ (25 มิ.ย.) ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เซ็นทรัลเวิลด์ มีกิจกรรมฉายหนังรักแห่งสยาม และเสวนา หัวข้อ ‘Empower Your Pride’ พูดคุยเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม, ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา ตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ และธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล 

ชูเกียรติ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องรักแห่งสยาม กล่าวถึงความแตกต่างของสังคมกับบทภาพยนตร์แนวที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยยกกรณีของรักแห่งสยามว่า เมื่อ 16 ปีก่อน การวางแผนการโพรโมตหนังรักแห่งสยามจะต้องหลบซ่อน ขณะที่หลังจากภาพยนตร์ออกฉาย ความเห็นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย จนทำให้ตนเองรู้สึกไม่ดี 

“คิดกันหัวแตกว่าเราจะทำหนังเรื่องนี้ให้คนไปดูให้เยอะที่สุดได้อย่างไร เราใช้วิธีการทำให้หนังน่าดูสำหรับวัยรุ่นมากที่สุด เพราะจุดเด่นของหนังคือน้อง ๆ (นักแสดง) ส่วนผู้ใหญ่ จุดขายจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ตัวหนังไม่ได้พูดถึงเลยว่าจะมีความเป็น LGBTQ+ ในยุคนั้นการทำการตลาดพยายามเอาประเด็นนี้หลบซ่อน”

เขาบอกอีกว่า ปัจจุบันความคิดเห็นของคนในสังคมเปลี่ยนไปมาก เพราะหนังประเภทรักแห่งสยาม กลายเป็นจุดขายของไทยในฐานะ Soft Power ซีรีส์วายมากขึ้น และมีการพยายามทำให้เนื้อหาของหนังประเภทนี้หลากหลายขึ้น 

ขณะที่ ธัญวัจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล มองว่า รักแห่งสยามได้สะท้อนภาพของความนิยมของซีรีส์วายปัจจุบันสามารถมองได้ 2 มิติ คือซีรีส์วายได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจากการตระหนักรู้ LGBTQ+ ถูกยอมรับจริง ๆ และในมุมสตรีนิยมอาจบอกได้ว่า การดูซีรีส์วายของผู้หญิง มีสาเหตุจากการถูกกดทับจากสังคมในแง่ของการแสดงออกทางเพศ

“ในแง่สตรีนิยม ซีรีส์วายมองว่าคนที่มาเสพส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง มันคิดได้ 2 แบบ คือ แบบแรก LGBTQ+ ถูกยอมรับจริง ๆ แบบที่ 2 ผู้หญิงถูกกดทับมาก จนผู้หญิงไม่สามารถจินตนาการร่างกายผู้หญิง ในกิริยาที่ผู้ชายอยู่ด้วยกันออก อย่างเช่น ในซีรีส์วาย ผู้ชายเช็ดเหงื่อกัน ปีนต้นไม้ หรือเตะบอลแล้วกอดกัน ซึ่งผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะถ้าทำจะดูเป็นมารยาริษยา แต่ในแง่สตรีนิยมถ้าอยากให้ก้าวหน้า คงต้องมีมิติด้านอื่น ๆ และทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์”

ธัญวรัตม์ ตัวแทนจากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ กล่าวว่า ความหลากหลายทางเพศถูกทำให้กลายเป็นสินค้ารูปแบบหนึ่ง ข้อดีคือการนำเสนอความหลากหลายทางเพศผ่านหน้าจอ แต่ขณะเดียวกันมีคำถามว่า วิธีการนำเสนอ และสังคมของคนที่มีความหลากหลายทางเพศเขามองเห็นตัวเองไหมในภาพแทนเหล่านั้นจริงหรือไม่ 

นอกจากมิติของหนังกับสังคมแล้วด้านหนึ่ง ธัญวรัตม์ ให้ความเห็นเรื่องของแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมแรงงานสร้างสรรค์ว่า ในกองถ่ายมีพื้นที่ให้กับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศและผู้หญิงอยู่ แต่มักเห็นคนกลุ่มนี้อยู่ในตำแหน่งเฉพาะอยู่ อย่าง คอสตูม หรือช่างแต่งหน้า หรือตำแหน่งจัดการต่าง ๆ เสียส่วนมาก แต่บางตำแหน่งยังเข้าถึงยากอยู่ เช่น ตำแหน่งครีเอทีฟ 

อีกทั้งวัฒนธรรมในกองถ่ายที่ให้คุณค่าความเป็นชายยังคงมีพื้นที่อยู่มาก อย่างกรณีที่ผ่านมา ตนผลักดันเรื่องชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานหรือการทำงานที่ไม่มีความปลอดภัย รวมถึงความรุนแรงในการทำงาน ส่วนหนึ่งผูกโยงกับอุตสาหกรรมนี้ให้คุณค่ากับความเป็นชายมากกว่า 

“การทำงานหามรุ่งหามค่ำ อย่างกรณีสตูดิโอแห่งหนึ่งโพรโมตว่ากองถ่ายทำงาน 24 ชั่วโมงด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งมันสะท้อนว่าเป็นการให้คุณค่ากับคุณลักษณะความเป็นชายบางอย่าง อยากชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ได้กดทับแค่ผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ผู้ชายด้วยเหมือนกันที่จะได้รับปัญหาสุขภาพ เสียชีวิตจากการทำงานเป็นผู้ชายเสียส่วนมาก”

ธัญวรัตม์ จึงมีข้อเสนอเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างโดยการผลักดัน 3 ประเด็น คือคุณภาพชีวิตแรงงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพในการทำงาน, การพัฒนาบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการสนับสนุนเงินทุนเพื่อให้เกิดคอนเทนต์หลากหลายไม่ผูกขาดเนื้อหากับทุนใหญ่

ด้าน ธัญวัจน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าว จะผลักดันนโยบายการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) และสนับสนุนงบประมาณภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมให้กับผู้สร้างสรรค์งาน และสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ หรือผลิตเนื้อหาที่สนุกเพื่อให้คนทั่วโลกเข้าถึงและอยากเข้าร่วม และแก้โครงสร้างการตระหนักรู้ให้กับสังคม ย้ำ เดินหน้าผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศต่อ

โดยกิจกรรมการฉายหนัง และการสนทนาครั้งนี้จัดโดย The Momentum ร่วมกับ SF Cinema และ Medial Partner อย่าง a day, The PEOPLE, The MATTER, capital และ The Active

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางเพศได้ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active