สภาฯ โหวตผ่าน ‘สมรสเท่าเทียม’ แล้ว!

มติ 400 ต่อ 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 สรุปให้ความเห็นชอบ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เตรียมส่งต่อวุฒิสภาพิจารณา ขณะที่ “บุพการีลำดับแรก” ยังไม่ถูกบัญญัติในร่างกฎหมาย

วันนี้ (27 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม มีกรรมาธิการอภิปรายสงวนความเห็น โดยเฉพาะเสียงข้างน้อย จากพรรคก้าวไกล และภาคประชาชน ที่ มีความเห็นเพิ่มมาตราเกี่ยวกับกรณีบุตรมีสิทธิ์ใช้ชื่อสกุลของบิดามารดา หรือ บุพการีลำดับแรก รวมถึงการอุปการะเลี้ยงดูให้เติบโต อำนาจปกครองบุตร

เกิดโชค เกษมวงศ์จิตร กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และเรื่องบุพการีลำดับแรก ยังไม่มีผลศึกษาผลกระทบอย่างเป็นทางการมารองรับ จึงกังวลว่า ยังไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และกระทบต่อกระบวนการตรากฎหมายฉบับนี้อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญทำให้กฎหมายตกไปทั้งฉบับ

อีกทั้ง บุพการีลำดับแรก เป็นคำใหม่ยังไม่มีในระบบกฎหมายไทย ยังไม่มีนิยามถ้อยคำในกฎหมายไทย อาจเกิดปัญหาในการตีความว่าเป็นใคร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายทั้งประเทศที่เกี่ยวกับบิดามารดา หากเพิ่มเติมถ้อยคำลงไปก็จะต้องกระทบกับกฎหมายที่มีมีอยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เชื่อว่าน่าจะมีอยู่มากกว่าหลาย 100 ฉบับ ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงพอสมควร

พร้อมแนะแนวทางออกว่า สามารถแก้ไขได้โดยไปติดตามแก้ไขในกฎหมายที่จำเป็นแก้ไขเพื่อรองรับสิทธิ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะกฎหมายการรับบุตรบุญธรรม กฎหมายการแก้ไขกฎหมายการคุ้มครองเด็ก ที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์

สำหรับสาระสำคัญกฎหมายฉบับนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม มี 68 มาตรา เช่น กำหนดให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดหมั้นหรือสมรสกันได้, ให้การหมั้นจะทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว, เพิ่มเหตุเรียกค่าทดแทนเหตุฟ้องหย่าให้ครอบคลุมเมื่อฝ่ายหนึ่งไปมีสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนปรับแก้กฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้เมื่อมีผลบังคับใช้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 47 ฉบับ

ส่วนความเห็นของกรรมาธิการสัดส่วนภาคประชาชน ซึ่งเป็นเสียงข้างนอยอย่าง นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของบิดามารดา และบุตร ในส่วนของฉบับรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไม่ได้บรรจุเรื่องนี้เข้าไปด้วย ภาคประชาชนจึงเตรียมลุกขึ้นชี้แจงในรายมาตราที่เกี่ยวข้องกับ บุพการีลำดับแรก โดยนำเรื่องราวของครอบครัวเพศหลากหลายที่ต้องประสบปัญหาไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม หรือวิธีการอื่น ๆ ในอนาคต

หากผลการโหวตได้รับเสียงข้างน้อย ภาคประชนชน ยืนยันว่า ยังมีในชั้นของ สว. อีก ซึ่งจากการจัดเวทีเสวนาไปก่อนหน้านี้ก็พบว่า สว.ส่วนหนึ่ง มีแนวคิดสนับสนุนการสร้างครอบครัวของคู่รักเพศหลากหลาย จึงต้องลุ้นต่อในชั้นวุฒิสภาวาระหนึ่ง ว่าจะเห็นด้วยกับภาคประชาชน เพื่อตีกลับมาให้ สส.พิจารณาใหม่อีกครั้งหรือไม่

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active