“พิธา” พร้อมทำงาน “ชัชชาติ” ดันไทย สู่ ‘Pride Always’ เมืองโอบรับทุกเพศ

ประเดิมพาเหรดบางกอกไพรด์ 4 มิ.ย. นี้ ก่อนเสนอเป็นเจ้าภาพ World Pride ชูจุดแข็งซอฟต์พาวเวอร์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์

วันนี้ (29 พ.ค. 2566) บริเวณสกายวอล์ก หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เขตปทุมวัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมทีมงานนฤมิตไพรด์ ร่วมเปิดภาพผลงานศิลปะบนผนัง BACC ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ Road To Bangkok World Pride 2028 ก่อนจัดกิจกรรมพาเหรด บางกอกไพรด์ 2023 ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้

พิธา กล่าวว่า ในฐานะผู้จัดตั้งรัฐบาล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป มองเรื่องนี้ ไม่ใช่แค่ Pride Month แต่คือ Pride Always และจะร่วมมือร่วมใจกับผู้ว่าฯ กทม. ทำเรื่องนี้ โดย 45 ร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอต่อสภามีอย่างน้อย 2 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความเสมอภาคทางเพศ คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม และกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ รวมทั้งจะนำกิจกรรมระดับโลก World Pride มาจัดที่กรุงเทพมหานครในปี 2028 ให้ได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสังคมไทยว่า คนเท่ากัน 

“ในฐานะที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องมองเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ Pride Month มันคือ Pride Always ก็ต้องพูดให้ชัด ๆ ว่าภายใต้รัฐบาลของพรรคก้าวไกล ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะทำงานกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการนำ World Pride 2028 มาจัดที่กรุงเทพฯ ให้จงได้”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อแสดงถึงการโอบกอดเพื่อน ๆ ของเราที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะความหลากหลายทางเพศ แต่รวมไปถึงความคิดเห็น มุมมองต่าง ๆ โดยช่วงเวลานี้ครบ 1 ปีที่ทีมบริหารเข้ามาทำงาน ปีที่แล้ว กทม. ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่ปีนี้ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพกับภาคประชาสังคม อยากให้ทุกคนมาร่วมกิจกรรมกันมาก ๆ เพื่อยกระดับกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เป็นมิตรสำหรับคนทุกเพศ

“การยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศเป็นขั้นพื้นฐาน ขอให้ทุกคนร่วมงานกันอย่างมีความสุข ซึ่งเมืองจะน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ ต้องเป็นเมืองที่ยอมรับความแตกต่าง โดยเฉพาะความหลากหลายทางเพศที่เป็นสิทธิเป็นขั้นพื้นฐาน”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวว่า การจัดงานบางกอกไพรด์ มีเป้าหมายเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจ (Pride Month) ในเดือนมิถุนายน 2566 พร้อมปักธงเป้าหมายในการเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับความหลากหลายที่สุดในเอเชีย และการสร้างความเชื่อมั่นว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายในประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดงานระดับโลก World Pride ในปี 2028

ในงานนี้ยังเปิดลงทะเบียนสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมงานบางกอกไพรด์  สำรวจ “พลเมืองสีรุ้ง” (Rainbow’s Citizen) ผ่านแอปพลิเคชัน Opn me wallet ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสำรวจจำนวนประชากรผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพ World Pride 2028 และข้อมูลทางสถิติที่จะช่วยให้การกำหนดนโยบาย กฎหมาย สวัสดิการ คำนึงถึงพลเมืองที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active