สมาคมฟ้าสีรุ้ง ร้อง กมธ. สอบจริยธรรมสื่อ หลังพบเหยื่อถูกคุกคาม

ชี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว แต่สะท้อนถึงทัศนคติการใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุแห่งความเกลียดชัง ต่อผู้ที่มีความแตกต่าง

วันนี้ (9 ก.พ. 2564) ที่อาคารรัฐสภา ปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล รับยื่นหนังสือจาก นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษากรรมการบริหารอาวุโส ด้านกฎหมาย สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เรื่อง ขอให้ตรวจสอบการละเมิดจริยธรรมสื่อ ของผู้สื่อข่าวภูมิภาคสังกัดหนึ่ง กรณีละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ข่มขู่ คุกคามแหล่งข่าว และแสดงความเกลียดชังต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

นาดา กล่าวว่า กรณีนี้สืบเนื่องมาจากทางสมาคมฯ ได้รับการติดต่อจากผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ  ขอความช่วยเหลือจากการถูกนำเสนอข่าวที่มีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากผู้เสียหายได้ทำความเข้าใจกับคู่กรณีในข่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังถูกผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรมของสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์ โดยอ้างว่า มีการใช้ถ้อยคำในลักษณะข่มขู่ ว่าหากไม่ยอมให้สัมภาษณ์ จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมในอดีตของผู้เสียหาย รวมทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัว ถือเป็นการละเมิดสิทธิเเละเสรีภาพของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ตนจึงดำเนินการเเละเดินทางมายังรัฐสภา เพื่อขอความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดขึ้น

“สื่อมวลชนท่านนี้ ใช้อาชีพเเละความสามารถเฉพาะของตนคุกคามข้อมูลส่วนบุคคล เเละละเมิดสิทธิเเละเสรีภาพในเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เพื่อใช้ข้อมูลของผู้ถูกกระทำเชิงพาณิชย์และเชิงธุรกิจในวงการสื่อ จนทำให้ผู้เสียหายเกิดหวาดกลัว ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ เเละส่งผลกระทบต่อครอบครัวอาชีพเเละการงาน เหล่านี้อยากถามกลับว่า ผิดหลักวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่”

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่จาก กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้นำผู้เสียหาย พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการดำเนินการแจ้งงความร้องทุกข์กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ตรงกับหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเดินทางไปยังสำนักงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อนเข้ายื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานที่เป็นข้อมูลการแชท พร้อมคลิปเสียง ให้กับกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวเข้าคณะกรรมมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อตรวจสอบและให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย เเละจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุมของคณะกรรมาธิการต่อไป

6 ปี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ สะท้อนทัศนคติเหยียดเพศยังไม่หมดไป

The Active พูดคุยเพิ่มเติมกับ นาดา ไชยจิตต์ ในฐานะนักปกป้องสิทธิเพื่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ระบุว่า ไม่ใช่แค่ผู้เสียหายที่ถูกข่มขู่ คุกคาม ยังรวมถึงตนเองที่ถูกข่มขู่ ด้วยถ้อยคำที่สะท้อนถึงความเกลียดชังต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งนี้สะท้อนว่า ในสังคมไทย ยังมีผู้ที่มีทัศคติด้านลบ ต่อผู้ที่แตกต่างทาง สีผิว เชื้อชาติ ศาสนา วัฒธรรม และเพศ แม้จะไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน ซึ่งในบางประเทศสามารถพัฒนาความรุนแรง ไปถึงขั้น ทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ขณะที่ประเทศไทยมีทั้งรัฐธรรมนูญ ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และยังมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่เป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครองและป้องกันสิทธิให้กับผู้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง รวมถึงกล่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือทางกฎหมายชิ้นแรกของประเทศไทยที่มีการปกป้องคุ้มครองผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ แต่ยังพบลักษณะของการเหยียดเพศ ด้วยการใช้ถ้อยคำ การเลือกปฏิบัติ และใช้ความรุนแรง ในสังคม

“ปัจจุบันหลายประเทศ มีกฎหมายที่เรียกว่า การก่ออาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง (Hate Crimes) หลักการก็ คือ เพิ่มโทษจากกฏหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อยับยั้งทัศนคติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่แตกต่าง ทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒธรรม สีผิว เพศ ฯลฯ ตั้งแต่การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา จนถึงการทำร้ายร่างกาย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันโดยมีความแตกต่างหลากหลาย แต่อย่างที่เห็นกันตามสื่อต่าง ๆ ปัญหาก็ยังมีอยู่”

นาดา ยังยกตัวอย่างการเสียชีวิตของ วิชา รัตนภักดี วัย 84 ปี คนไทยในซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกทำร้ายร่างกายในวันที่ 28 ม.ค. 2564 ซึ่งทางครอบครัวเชื่อว่า เหตุเกิดจากพฤติกรรมเหยียดชาวเอเชีย ซึ่งเป็นตัวอย่างของการเหยียดเชื้อชาติ นำมาสู่การติดแฮชแท็ก #AsiansAreHuman และ #JusticeForVicha โดยระบุว่า แม้ในไทยจะเกิดขึ้นไม่มาก แต่ก็สะท้อนว่า นอกจากการใช้กฏหมายนำ จำเป็นต้องทำให้การศึกษา สอนให้คนเคารพความแตกต่างหลากหลาย และหยุดส่งต่อความเกลียดชังในสังคม

ขณะที่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ยังเป็นวันยุติความรุนแรงต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ ของไทย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 12 ปีก่อน หลังกิจกรรมเกย์ไพรด์ เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ก.พ. 2552 (เสาร์ซาวเอ็ด) ที่จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกลุ่มผู้ต่อต้านปิดล้อม และมีบางส่วนถูกทำร้ายร่างกาย จนต้องยุติการจัดงานในท้ายที่สุด และกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากที่จะสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียมในสังคมที่ทุกคนเคารพและให้เกียรติกันบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน