LGBTIQN+ เดินสายถามหานโยบายหลากหลายทางเพศจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ย้ำ 4.4 แสนคน ถูกละเมิดสิทธิ ตีตรา ทั้งที่เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจกรุงเทพฯ   ด้าน “ศิธา” รับลูกรื้อระบบโครงสร้างด้วยข้อบัญญัติกรุงเทพฯ เป็นโมเดลก่อนศึกเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ

วันนี้ (26 เม.ย.65) ที่พรรคไทยสร้างไทย มูลนิธิและเครือข่ายเพื่อความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) และกลุ่มทำแท้งปลอดภัย เข้ายื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 11 เพื่อขอให้ประเด็นความหลากหลายทางเพศ บรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของทุกผู้สมัคร

ดนัย ลินจงรัตน์ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย

ดนัย ลินจงรัตน์ จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากนับประชากร LGBTIQN+ ใน กทม. อย่างไม่เป็นทางการมีอยู่ประมาณ 4.4 แสนคน หรือร้อยละ 10 ของประชากรใน กทม. ไม่นับรวมประชากรแฝง ทั้งหมดถือเป็นมดงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเมืองหลวง และเป็นเสียงให้กับนักการเมืองในทุกๆ สนามการเลือกตั้ง แต่เมื่อมาดูเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ LGBTIQN+ กลับเข้าไม่ถึงสิทธิหลายๆ อย่าง เช่น สิทธิในการประกอบอาชีพข้าราชการ เช่น ครู ที่ถูกบังคับให้ต้องแต่งการตามเพศกำเนิด การเข้าถึงบริการสุขภาพ เช่น การรักษาที่ไม่คำนึงถึงเพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ รวมถึงทัศคติเชิงลบในแวดวงการศึกษา โดยเฉพาะ แบบเรียน ทัศนคติของครู ที่ยังตีตราเด็ก ที่เป็น LGBTIQN+ ว่าเป็นผู้วิกลจริต

ขณะที่ประเทศไทยที่เคยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นสวรรค์ของ LGBTIQN+ ปัจจุบันตกจากการอันดับเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่จะรองรับการใช้ชีวิตของ LGBTIQN+ ทั้งหมดนี้ล้วนปิดกั้นศักยภาพของประชากร LGBTIQN+ ในฐานะที่ กทม. เป็นเขตปกครองพิเศษ มีกฏหมายการปกครองของตัวเอง จึงเสนอให้ใช้โอกาสในการเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครที่โอบรับคนทุกกลุ่มอย่างแท้จริง

“เรามี LGBTIQN+ หลายคนที่เป็นเหมือนมดงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับกรุงเทพฯ เป็นเมืองสีสัน เมืองแห่งการท่องเที่ยว แต่พอมาดูคุณภาพชีวิต ทุกคนต้องต่อสู้กับการถูกกดทับ ตีตรา ตั้งแต่ในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงการยอมรับในสังคม แต่ที่ผ่านมา กทม.จัดกิจกรรมจดแจ้งความรักให้กับคู่รัก LGBTIQN+ ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน โดยที่ไม่มีผลในทางกฏหมาย นั่นคือที่สุดแล้วที่เขาทำได้ แต่เราเชื่อว่า ด้วยขอบเขตหน้าที่ ข้อบัญญัติ สามารถทำได้มากกว่านั้น  เราต้องการผู้ว่าที่โอบรับคนทุกกลุ่ม และคนที่พูดคุยใกล้ชิดพวกเราอย่างแท้จริง”

ดนัย ลินจงรัตน์
น.ต. ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หมายเลข 11

ด้าน น.ต. ศิธา กล่าวว่า นโยบายคิดต่างเพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครสีรุ้ง ถือว่าอยู่ในยุทธศาสตร์หลักของพรรคไทยสร้างไทยอยู่แล้ว โดยเห็นว่ากลุ่ม LGBTIQN+  คือส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำเม็ดเงินมหาศาลแต่ละปี คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีที่พึ่งพา รับฟังทุกเสียงปัญหาที่เผชิญไม่ว่าจะเป็นการเลือกปฏิบัติ การถูกใช้ความรุนแรง การเข้าไม่ถึงโอกาส ที่สำคัญข้าราชการ พนักงาน ในสังกัดกรุงเทพมหานครที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนจะได้รับการปฏิบัติ ด้วยความเคารพเสมอภาคเท่าเทียม โดยจะทำทั้งหมด 3 ข้อ

  1. ทำให้ทุกวันเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจ ทำให้ประชากรกลุ่มนี้ดำรงชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลจากการเลือกปฏิบัติ และความรุนแรง ทำให้เดือน Pride ถูกยกระดับให้เป็นมหกรรมการท่องเที่ยวประจำเดือนของกรุงเทพฯ Bangkok Pride ด้วยกลไกของ Bangkok creativity อย่างเป็นทางการ โดยรายได้จากกิจกรรมจะถูกนำมันสร้าง ศุนย์สุขภาพชุมชน โดยอุดหนุนงบประมาณให้กับคลินิกสุขภาพชุมชนที่มีอยู่ โดยเครือข่ายภาคประชาชน รวมถึงขยายบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ เช่น การรับฮอร์โมน และการเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัย
  2. มหานครระดับโลกกับการรับรองและคุ้มครองชีวิต LGBTIQN+  ออกข้อบัญญัติกรุงเทพฯ คุ้มครองการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ พร้อมสร้างพื้นที่ปลอดภัยทั้งในบ้านและสถานศึกษา เพื่อได้เติบโตขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี จัดสร้างบ้านพักฉุกเฉิน เพื่อรองรับผู้ที่เสียหายจากการถูกใช้ความรุนแรงทั้งในครอบครัวและพื้นที่สาธารณะ จะทำให้มั่นใจว่ากรุงเทพฯ มีทีมสหวิชาชีพที่ผ่านการฝึกอบรม และเข้าใจต่อวิถีของประชาชนกลุ่มนี้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณ ลงทุนด้านการศึกษา โดยจะนำเอาหลักสูตรสุขศึกษาที่เคารพต่อความหลากหลายทางเพศมาใช้สอนในโรงเรียนทุกแห่งในสังกัดกรุงเทพมหานครฯ
  3. ทำให้ปัญหาของ LGBTIQN+ จะไมใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป

“ที่ผ่านมาต้องตั้งคำถามว่ากรุงเทพฯ ว่าได้ทำอะไรเพื่อพี่น้องประชาชนกลุ่ม LGBTIQN+ ไปแล้วบ้าง หากผมได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะอาศัยอำนาจ และกฎหมายในการเปลี่ยนแปลงข้อเรียกร้องต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อปลดปล่อยและสร้างพลังให้กลุ่ม LGBTIQN+ จากการถูกกดทับด้วยกฎหมายที่ล้าสมัยและเสริมสร้างศักยภาพ ให้พวกเขามีส่วนร่วมในการพัฒนา กำหนดทิศทางเพื่อสร้างกรุงเทพฯ สีรุ้ง ให้เป็นมหานคร ที่ไม่ได้โอบรับความหลากหลายทางเพศแค่ลมปากอีกต่อไป ที่สำคัญจะถูกใช้เป็นโมลเดลในการขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าด้วย”

น.ต. ศิธา ทิวารี

ขณะที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่เสนอนโยบายเพื่อกลุ่ม LGBTIQN+ เช่น ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 เสนอเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาล Pride , ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ผู้สมัครหมายเลข 16 ชูนโยบายภายใต้แนวคิดกรุงเทพฯต้องปลอดภัยสำหรับทุกคนโดยกำหนดแผนการทำงานออกเป็น 3 ระยะ เน้นให้ความสำคัญกับเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ LGBTIQN+ และผู้ด้อยโอกาส ซึ่งหลังจากนี้ทางเครือข่ายจะเสนอข้อมูลไปถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นๆ เพื่อกำหนดเป็นรูปธรรมในเชิงนโยบายต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน