Oxfam เผยคนเสียชีวิตเพราะอดอยาก มากกว่า โควิด-19 เฉลี่ย 4 คนต่อนาที

เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จัดงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 15 เร่งทั่วโลกตระหนักสร้างสมดุลความมั่นคงทางอาหารรับมือวิกฤตทดแทนการแข่งขันสร้างความมั่งคั่งด้วยเรื่องเงินตรา แก้ปัญหาความอดอยาก

เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จัดงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.65 โดย ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แม่ทัพใหญ่กสิกรรมธรรมชาติ เป็นประธานเปิดงาน อธิบายความสำคัญของงานครั้งนี้ คือการสร้างความตระหนักรู้ให้สังคมตื่นตัวกับการสร้างอาหารที่มั่นคง สร้างสมดุลให้โลก ทดแทนการแข่งขันสร้างความมั่งคั่งด้วยเรื่องเงินตราเพียงอย่างเดียว

งานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินครั้งที่15 “อาหารเป็นหนึ่งในโลก Food is First” เป็นการรวมตัวของกองทัพเกษตรโยธิน หรือ กลุ่มคนที่เดินตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในมาสื่อสารประเด็นสำคัญเรื่อง #ความมั่นคงทางอาหาร ด้วยเชื่อว่า ไม่มีวิกฤตใดยิ่งใหญ่กว่าวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การเวิรค์ชอปผ่านฐานกิจกรรม การแสดงละครเชิงสัญลักษณ์ และการเสวนาผ่านเวที “อาหารเป็นหนึ่งในโลก Food is First”

องค์การสหประชาชาติ แนะเร่งปรับสมดุลโลก

ภายในงานเปิดเผยข้อมูลจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ระบุถึง ผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอาหารแพงและขาดแคลนทั่วโลกที่มากถึง 1,800 ล้านคน และยังมีคนเป็น โรคขาดสารอาหาร หรือที่เรียกว่า โรคผอมแห้งอีกมากถึง 40 ล้านคน นักวิเคราะห์ระบุว่า นี่อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของวิกฤต The Great (Food) Shortage หรือ ภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ในโลก

ทุกๆ 1 นาที จะมีผู้เสียชีวิต 11 คนจากความหิวโหย

คร่าชีวิตมากกว่าโควิด-19 ที่มีสถิติ 7 คน/นาที

องค์กรการกุศลของอังกฤษ ชื่อ อ๊อกซ์แฟม (Oxfam)
เปิดเผยในรายงาน “The Hunger Virus Multiples”

ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากความอดอยาก พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องหลังเกิดภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน ที่ขยายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ โลกกำลังเผชิญวิกฤตรอบด้าน ราคาอาหารสูงเพิ่มขึ้นกว่า 40% ซึ่งนับว่าแพงที่สุดในรอบทศวรรษ

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อาหารมั่นคง ควรมาก่อน ความมั่งคั่ง-แก้จน

ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร) และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติด้านอาหาร และเกษตร ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) เน้นย้ำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งการขจัดความยากจน และการมีอาหารที่พอเพียง โดยจำเป็นต้องเน้นการสร้างอาหารให้เกิดความมั่นคง ก่อนความมั่งคั่ง จึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะจะเห็นได้ว่า การเกิดสงครามระหว่างประเทศ เช่นในรัสเซีย-ยูเครน ประชากรได้รับผลกระทบทั่วโลก จากราคาอาหาร น้ำมัน ที่พุ่งสูงขึ้น

“อียิปต์ ซึ่งถือเป็นประเทศเจริญมากว่า 5,000 ปี มีลุ่มน้ำไนล์สองข้างทางเป็นแหล่งปลูกพืช อาหาร และข้าว แต่วันนี้ ความเพิกเฉยของคน ที่ไม่ผลิตอาหาร ทำให้ปัจจุบัน อียิปต์ ต้องพึ่งพาข้าวสาลี จากยูเครน 60% พอเกิดสงคราม 60% ก็หายไป นี่เป็นเหตุผลให้เราต้องเร่งสร้างสมดุลใหม่”

ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต (ฝ่ายเกษตร)
และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติด้านอาหาร และเกษตร ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP)

คุณธนวรรษ อธิบายต่อว่า การปฏิวัติเกษตร ที่นำโดยชาติตะวันตกนั้น ผลิตเก่ง แต่ทำลายล้างไปพร้อมกัน เพราะป่าหาย ดินเสื่อม น้ำขาดแคลน จึงถึงเวลาที่จะต้องปรับสมดุล ทำอย่างไรให้การผลิตอาหารในภาคเกษตร เป็นแบบยั่งยืนไม่ล้างผลาญ อยู่ได้แบบเท่าเทียมและปลอดภัย และนี่คือเหตุผลสำคัญที่ เลขาธิการสหประชาชาติ เร่งให้ทั่วโลกหันมาปรับสมดุลใหม่ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งทำให้เราเริ่มเห็นผู้นำหลายประเทศ พูดคำที่ได้ยินบ่อยอย่างคำว่า “ความพอเพียง” เพราะทุกประเทศขาดภูมิคุ้ม เวลาเกิดวิกฤตจึงไม่สามารถรับมือได้นั่นเอง

ย้อนมองความอุดมสมบูรณ์ไทย กับ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สอดคล้องกับ อ.ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร แม่ทัพใหญ่กสิกรรมธรรมชาติ ที่หยิบยกเอาพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวง ร.9) ตอนหนึ่งว่า “…ประเทศของเราเป็นประเทศที่มั่นคั่งอุดมสมบูรณ์ และอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ หากมีการต่อสู้แย่งชิงเกิดขึ้นในโลก ใครๆ ก็อยากได้ประเทศนี้ และโลกก็มักจะมีการต่อสู้แย่งชิงกันอยู่เสมอๆ (ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม) ประเทศของเราจะยังยืนอยู่ที่นี่ จะยืดหยัดอยู่เพื่อประโยชน์ของคนทั้งโลก…”

อ.ยักษ์เล่าต่อว่า ในหลวง ร.9 ทรงเตือนให้สร้างอาหาร และพระราชทานเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเน้นให้ทำอย่างพออยู่-พอกิน ด้วยเชื่อว่า หากประชาชนของพระองค์พออยู่พอกิน จะนำไปสู่การสร้างระบบสังคมทีเข้มแข็งได้เอง ทำให้อ.ยักษ์เดินหน้าสร้างรูปธรรมหนึ่งเกิดขึ้นที่ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ จ.ชลบุรี จากผืนดินเดิมที่แห้งแล้ง ปลูกอะไรไม่ขึ้น กลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยลูกศิษย์รุ่นต่อรุ่น มาเก็บเกี่ยวเรียนรู้วิชาการพึ่งพาตัว และการสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับแผ่นดิน โดยอาจารย์เริ่มต้นปลูกต้นไม้ บำรุงดินที่นี่ครั้งแรกในปี 2526 ด้วยเชื่อว่านี่จะเป็นทางรอด กอบกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นคงทางอาหารรับมือกับวิกฤตรอบด้านของโลก

“มนุษย์ต้องลดความต้องการตัวเองลง เร่งสร้างให้มากขึ้น เรายิ่งทำงานเคลื่อนไหว ไปที่ไหน ต้นไม้ต้องเกิดให้มากที่สุด น้ำฝนต้องถูกเก็บ ดินต้องกลับมาสมบูรณ์ ออกซิเจนต้องเพิ่มขึ้นให้มากที่สุด

เมื่อผืนดินอุดมสมบูรณ์ เมื่อนั้นมนุษย์จะไม่ขาดแคลนอาหารเลย ถ้าผลิตพืชตามที่ตลาดต้องการแลกเงิน นั่นคือ ทฤษฎีเก่า การเกษตรแบบนี้มันเป็นเกษตรแบบ Insanity (วิกลจริต)

ถ้าต้องการจะสร้างอาหารให้เพื่อนมนุษย์ ต้องเริ่มจากข้าว
ข้าวเป็นอาหารที่ต้องแจกกันกิน ไม่ใช่สินค้า
อาหารการกินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด”

วิวัฒน์ ศัลยกำธร แม่ทัพใหญ่กสิกรรมธรรมชาติ

เห็นคุณค่าทรัพยากรที่มีและใช้อย่างคุ้มค่า…

อ.เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ ชวนตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศไทยติดอันดับโลกการส่งออกข้าว แต่ชาวนายังยากจนรุ่นสู่รุ่น ไม่สามารถก้าวข้ามความจนและภาวะหนี้สินได้ เหมือนวลีที่ว่า “ทำนาปรัง มีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง…” เพราะไม่รู้ว่าตกเป็นเครื่องมือของเครือข่ายควบคุมการผลิตการเกษตรสมัยใหม่ อาหารจึงเป็นการผลิตที่บริษัทได้ประโยชน์มากที่สุด มีการควบรวม ผูกขาดกลายเป็นวงจรสารเคมีทางการเกษตร ที่ปนเปื้อนมาสู่ผู้บริโภคอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต่อสู้ยาก ตราบใดที่ผู้บริโภค และเกษตรกรยังยอมตกเป็นเหยื่อ…

พร้อมย้ำ ประเทศไทยมีของดี อุดมสมบูรณ์ อย่าให้เหมือน วลี “ใกล้เกลือกินด่าง ไก่ได้พลอย” คือ มีของดี มีทรัพย์อุดมสมบูรณ์แต่ละเลย อยู่กับสิ่งมีคุณค่า แต่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะขาดปัญญา

พร้อมฝากไปถึงทั้งภาครัฐ ผู้ผลิต เกษตรกร และผู้บริโภคให้ตระหนักถึงการมีของดีอยู่มือ ใช้ให้ครบและอย่าละเลยด้วยการนำของที่ไม่ดีเข้ามาในประเทศ… และทิ้งท้ายว่า ข้าวเปลือก คือทรัพย์สำคัญที่สามารถเป็นอาหาร และสร้างผลผลิตได้ พร้อมแนะให้น้อมนำ ศาสตร์พระราชา มาลงมือทำให้เกิดรูปธรรม เพราะวิกฤตไม่ได้เกิดครั้งเดียว จากนี้จะต้องเห็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ อีกแน่นอน

ประเทศไทยติดดับโลกส่งออกข้าว แต่ชาวนายังก้าวข้ามความจน และภาวะหนี้สินไม่ได้

เหมือนวลีที่ว่า “ทำนาปรัง มีแต่ซังกับหนี้ ทำนาปี มีแต่หนี้กับซัง…” เพราะไม่รู้ว่า ตกเป็นเครื่องมือของเครือข่ายควบคุมการผลิตการเกษตรสมัยใหม่ เรื่องนี้ต่อสู้ยากตราบใดที่ผู้บริโภค และเกษตรกรยังยอมตกเป็นเหยื่อ…

เดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญ

ความเป็นไปได้ “ไทย” มหาอำนาจความมั่นคงทางอาหาร

อ.โจน จันใด ศูนย์พันพรรณ ระบุว่า คนเริ่มเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า “อาหารเป็นหนึ่งในโลกได้อย่างไร” เพราะเริ่มเจอกับวิกฤตที่หนักมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยชวนมองสถานการณ์ยูเครนและอีกหลายประทศที่กำลังเผชิญหน้ากับความอดอยากขนาดแคลน พร้อมตั้งคำถามว่า เราอยู่ในโลกที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด แต่ทำไมวันนี้ผู้คนจึงต้องต่อคิวรอ ขนมปัง ขณะที่ประเทศเจริญแล้ว ก็ยังมีผู้คนอดอยาก และขาดแคลน ขณะเดียวกันก็เป็นน่าเศร้าที่หลายประเทศต้องกินเนื้อ แกง ที่อัดกันอยู่ในกระป๋อง สะท้อนว่าคนเราไม่มีทางเลือกที่จะได้กินอาหารดีๆ อาหารสดๆ และหลากหลายได้เลย

“เราอยู่ในโลกที่มีอาหารเยอะ แต่ไม่มีอาหารกิน
อาหารที่เรากินน้อยชนิดลง แต่ปริมาณมากขึ้น

คนในเมืองแท้ๆ มีเงิน มีทอง มีอาหาร แต่สิ่งที่กินคือ สารอาหารแบบเดิมซ้ำๆ ซากๆ
เรากำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์ที่ฉลาดมีความสุข กลายเป็น หุ่นยนต์ที่ไม่ต้องคิดอะไร ถูกฝึกให้กินรสชาติเดียว”

อะไรทำให้เราเห็นว่า อาหาร เป็นสิ่งท้ายๆ ที่จะนึกถึง
แต่เงินทองมาเป็นอันดับ 1 …ผมว่า ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้วที่ทุกคนเข้าถึงได้ แต่ความร่ำรวยเราเข้าถึงได้ไม่กี่คน…”

โจน จันใด ศูนย์พันพรรณ

อ.โจน ทิ้งท้าย ว่าเราอาจจะตื่นเต้นกับการผลิต เร่งให้ได้จำนวนมาก แต่การพัฒนาอาหารกลับลืมนึกถึงต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน ว่าต้องสูญเสียทรัพยากรไปอย่างมากมาย เช่นการถางป่าจำนวนมากเพื่อปลูกข้าวโพด เป็นตัวอย่างการผลักภาระต้นทุนให้เกษตรกร พร้อมย้ำว่า เมืองไทยมีโอกาสจะเป็นมหาอำนาจด้านความมั่นคงทางอาหาร หากเราย้อนกลับมาสร้าง ความหลากหลายทางพันธุ์กรรม ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด และทุกคนทำได้

“โลกไม่ขาดแคลนอาหารที่ดี โลกขาดแคลนความคิดที่ดีในการจัดการอาหารต่างหาก การจัดการอาหารของเรามีปัญหา การที่ประเทศไทยจะกลับมาตั้งตัวเป็นมหาอำนาจทางอาหารไม่ยาก เพียงต้องมาจัดระบบใหม่ ทำให้คนทำเกษตรอินทรีย์มีพื้นที่ยืนในตลาดให้ได้…”

โจน จันใด ศูนย์พันพรรณ

กิจกรรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จัดต่อเนื่อง 3 วัน โดยจะมีอีก 2 เวทีที่สะท้อนความสำคัญของอาหารเป็นยา และเวทีแก้จนด้วยความมั่นคงทางหาร ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่จะนำพาไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่จะไปถึงได้หรือไม่ยังคงต้องจับตาดูทั้งตื่นตัวของภาครัฐ ผู้บริโภค เกษตรกร ทั่วโลกว่าหันมาตระหนักถึงความสำคัญของอาหารเป็นอันดับ 1 แล้วหรือยัง ?


รับชมถ่ายทอดสดย้อนหลัง

ช่วงที่ 1: เวทีอาหารเป็นหนึ่งในโลก Food is First

ช่วงที่ 2: เวทีอาหารเป็นหนึ่งในโลก Food is First

ช่วงที่ 3: เวทีอาหารเป็นหนึ่งในโลก Food is First

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน