เตรียมบุกทำเนียบฯ ทวงถามรัฐ กำหนดขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน

สมาคมสมาพันธุ์ชาวประมงพื้นบ้านฯ และภาคีน้ำพริกปลาทู ทวงถามรัฐเร่งดำเนินการกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ประกาศนำร่อง เริ่มที่ปลาทูลัง และปูม้า ชี้ยังมีกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริง 

ภาพจากเฟซบุ๊ก สมาคมรักษ์ทะเลไทย

วานนี้ (10 ก.ค.65) เพจเฟซบุ๊กสมาคมรักษ์ทะเลไทย และสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ท่าทีหลังครบกำหนด 30 วัน กรณีขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการออกประกาศกระทรวงคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนตาม ม.57 

โดยมีข้อความสำคัญ ระบุว่า ตามที่สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมรักษ์ทะเลไทยและภาคี #ทวงคืนน้ำพริกปลาทู ได้ยื่นข้อเรียกร้องทวงถามให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการออกประกาศกระทรวงคุ้มครองสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนตาม ม.57 มาอย่างต่อเนื่องนั้น 

ตอนนี้ครบกำหนด 30 วัน ที่เครือข่ายจะดำเนินการทางกฎหมาย หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังไม่มีการดำเนินการประกาศคุ้มครองสัตว์น้ำวัยอ่อนฯ ปรากฏว่า กระทรวงเกษตรฯ และกรมประมง ได้แจ้งผลการดำเนินการมายังสมาคมสมาพันธ์ฯ มีสาระสำคัญ ว่าได้สั่งการให้รับฟังความคิดเห็นชาวประมงพาณิชย์และพื้นบ้านในทุกจังหวัดก่อน โดยจะดำเนินการในช่วงวันที่ 27 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2565 และสมาคมได้ทราบว่า กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะประกาศกำหนดพันธ์สัตว์น้ำนำร่องก่อน 2 ชนิด คือ ปลาทู-ลัง, และปูม้า 

แม้ว่าหลายจังหวัด มีกระบวนการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อประสงค์จะทำลายโอกาสที่สัตว์น้ำวัยอ่อน โดยเฉพาะปลาทู และปูม้า จะได้รับการคุ้มครอง และมีกลุ่มทุนผลประโยชน์จากการประมงสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก ร่วมกับข้าราชการ นักการเมืองบางกลุ่ม คอยขัดขวาง กดดัน ข่มขู่ จนทำให้การรับฟังความเห็นไม่เป็นอิสระสอดคล้องกับหลักการข้อเท็จจริง แต่เป็นไปในลักษณะปกป้องผลประโยชน์ เท่านั้น  



ภาคีเครือข่ายทวงคืนน้ำพริกปลาทู จึงขอแถลงท่าที ดังต่อไปนี้ 

1.เห็นด้วยกับ แนวคิดที่จะประกาศนำร่องปลาทู –ปลาลัง, และปูม้า และขอให้ประกาศหลังรับฟังความเห็น เพื่อการทำงานอย่างเต็มที่ จึงให้เวลาดำเนินการ ต่อไปอีก 30 วัน

2.ไม่เห็นด้วย และไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กรณีจะมีการนำเอากรณีนี้ ไปเวียนเทียน พิจารณาของคณะกรรมการใดๆของฝ่ายการเมืองอีก 

3.หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังคงมีท่าทีเอื้ออำนวย เห็นแก่ประโยชน์พวกพ้องด้วยประการใดก็ตาม และไม่ออกประกาศกระทรวงฯดังกล่าว เครือข่ายฯจะถือว่า เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลมาต่อเนื่อง 

“ดังนั้น เมื่อครบ 30วัน หลังจากนี้ เครือข่ายภาคีฯ จะยกระดับการเรียกร้อง ต่อนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาลและไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใด ๆ เครือข่ายจะไม่ท้อถอย จะไม่กลับบ้าน หากรัฐบาลยังไม่ประกาศกระทรวงคุ้มครองปลาทูวัยอ่อน และสัตว์น้ำอื่นๆ ถือว่า นายกรัฐมนตรี ต้องรับผิดชอบในการบริหาร ที่ปล่อยให้รัฐมนตรีในรัฐบาลของตน กระทำตนเป็นรัฐมนตรีเพื่อนายทุนพวกพ้อง อยู่เช่นนี้”

แถลงการณ์ระบุ

ขณะที่ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เดินหน้าจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นชาวประมงทั้งพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 12 ก.ค.นี้จะจัดที่ จ.สมุทรปราการ  ปลายเดือน ก.ค.จัดที่ จ.สงขลา และจังหวัดต่างๆ ทั้ง 22 จังหวัดทะเลชายฝั่ง เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป 


เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ