สมาคมประมงฯ แนะ รัฐ อย่าหลงทางออกประกาศ ตาม ม.57

​ชาวประมงหลายจังหวัด ไม่เห็นด้วยให้ออกประกาศ ตาม ม.57 พ.ร.ก.ประมง กำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อนตามที่บางกลุ่มเรียกร้อง ​หวั่นส่งผลกระทบต่อชาวประมง เชื่อ ไม่สามารถจะปฏิบัติได้จริงและมีโทษปรับ​รุนแรงมากเกินไป

ภาพจาก สมาคมชาวประมงแห่งประเทศไทย

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ The Active ว่า ขณะนี้มีการจัดเวทีรับฟังความเห็นของชาวประมง ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการโดยกรมประมง โดยคณะกรรมการประมงจังหวัดไปแล้ว 16 จังหวัด ขณะที่ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยเอง  จัดรับฟังความเห็นไปแล้วในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และมีข้อสรุปสอดคล้องและเห็นตรงกัน  คือไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการออกประกาศตามพ.ร.ก.การประมง 2558 มาตรา 57 ที่มีข้อกำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง” หรือ การกำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ตามที่มีบางกลุ่มออกมาเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ 

เนื่องจากเห็นว่าการเสนอออกกฎหมายมาตรา 57 ในสมัยยุคคสช. มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น ไม่มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชน โดยเฉพาะชาวประมง ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาเองอิงตามทฤษฎีของฝรั่ง หรือทางยุโรป  ซึ่งไม่สอดรับกับบริบทของทะเลไทยที่มีความหลากหลาย 

“ในประเทศยุโรปมีสัตว์น้ำเป็นชนิด ๆ  อย่างปลาแซลมอน  อเมริกาก็ปูอลาสก้า อันนี้เขาก็จะจับเป็นชนิด กำหนดไซซ์ กำหนดขนาดได้  เขาเป็นเมืองหนาว สัตว์น้ำเขาจะมีน้อยสายพันธุ์และโตช้า แต่ของบ้านเราเมืองอุ่น เป็นสัตว์น้ำที่โตเร็ว สัตว์น้ำส่วนใหญ่ จะมีขนาดเล็ก ยกตัวให้อย่างง่าย ๆ นะ มดตัวเท่าไหน แล้วถามว่ามดคุณจะให้โตเท่าช้างมันเป็นไปได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้  หรือแม้แต่แมว จะบอกให้โตเท่าเสือ มันเป็นไปไม่ได้  อันนี้จึงเป็นที่มาที่ไปว่า เวลาจะกำหนดอะไรให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง“ 

มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย
มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า การออกกฎหมายที่สวนทางกับความจริง จะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง  เพราะจะเอาเจ้าหน้าที่ที่ไหนไปตรวจเรือประมง แล้วจะตรวจแค่เรือประมงพาณิชย์ไม่ได้ ต้องตรวจเรือประมงพื้นบ้านด้วย ตอนนี้เรือประมงพื้นบ้านมีอยู่ 60,000 ลำ ประมงพาณิชย์มีเกือบ 10,000 ลำ  รวมแล้วเกือบ 70,000 ลำ ต้องหาเจ้าหน้าที่อีกอย่างน้อย 10,000 ตำแหน่ง ​ขอถามว่าถ้าออกกฎหมายตัวนี้ จะเลือกปฏิบัติได้ไหม ​ไม่ได้ต้องตรวจทุกลำ แล้วจะเอาเจ้าหน้าที่ที่ไหนมาตรวจ ถึงบอกว่าปฏิบัติไม่ได้จริงหรอก

“ไม่ได้เดือดร้อนแค่ประมงสองกลุ่ม รัฐก็เดือดร้อน ต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ ต้องตรวจเรือทุกลำ ทุกวัน เพราะไม่งั้นจะเป็นการเลือกปฏิบัติ และจะส่งผลปัญหาใหญ่ตามมา เพราะจะเปิดช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่ทันที สมมุติว่ามีการจ่ายเงิน แล้วบอกเอาอย่างงี้ไม่ต้องตรวจเรือผมนะ เห็นรึยัง มันจะเกิดขึ้นแบบนี้ทันที กฎหมายจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารรถที่จะใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ หรือไอ้เรือลำไหนพูดมากตรวจมันหน่อย เห็นมั๊ยไม่เป็นธรรมเกิดปัญหาความเดือดร้อนตามมาไม่จบ ก็เหมือนกฎหมายห้ามนั่งท้ายกะบะ สุดท้ายทำได้ไหม ไม่ได้ ดังนั้นกฎหมายไหนขัดต่อความสงบเรียบร้อย กฎหมายนั้นก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้” 

นอกจากนี้ ที่ชาวประมงเขากังวลอย่างมาก เนื่องจากกฎหมายประมงตามมาตรา 57 เป็นกฎหมายที่มีโทษร้ายแรงเพราะถ้ามีการกระทำผิดจะมีความผิดประกอบตามมาตรา 114 (8) และมาตรา 113 หากมีการกระทำผิดไปถูกฟ้องศาล จะต้องถูกยึดเรือตามมาตรา 169   เท่านั้นไม่พอ คนที่ทำผิด ถ้ามีเรือ โดยเป็นพื้นบ้านก็จะมีการปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 แต่ถ้าเป็นพาณิชย์จะถูกปรับตั้งแต่ 100,000 ถึง 30,000,000 บาท คิดดูแล้วกันว่าโทษปรับร้ายแรงขนาดนี้ แล้วถามว่าชาวประมงไม่เดือดร้อนกันตายหรอ ถ้าหากออกกฎหมายออกแบบนี้

ชี้ รัฐอย่าหลงทางเชื่อบางกลุ่ม ออกประกาศมาตรา 57 กำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน 

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้จำนวนสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูไทยลดลง มาจากการจับแม่พันธุ์ปลาในฤดูวางไข่ กฎหมายเว้นช่องให้เรือประมงบางชนิด ที่สามารถจับพ่อแม่พันธุ์ปลา สามารถทำการประมงได้ในฤดูปลาวางไข่ แล้วถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้จะไปเหลืออะไร คือตามมาตรา 70  กรมประมง จะออกประกาศฤดูกาลปิดอ่าวแต่ละพื้นที่ และก็จะประกาศให้เครื่องมือชนิดต่างๆ ที่ให้เข้าทำการประมงได้ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ช่วงหลัง ๆ มีการพัฒนาเครื่องมือในการจับพ่อแม่พันธุ์ก่อนวางไข่ ซึ่งตรงนี้เราเรียกร้องไปหลายครั้งว่าทำไมเครื่องมือนี้พัฒนาไปแล้ว กรมประมงกลับตามเขาไม่ทัน เพราะพ่อแม่พันธุ์ถูกจับก่อนวางไข่ เมื่อก่อนเครื่องมือเดียวกันเนี่ยแหละ เขาจับพ่อแม่พันธุ์เหมือนกัน แต่เขาจับหลังวางไข่อันนี้ไม่เป็นไร แต่ตอนหลังมันมีการพัฒนา จับพ่อแม่พันธุ์ก่อนวางไข่ ก็เลยเป็นการตัดตอนวงจรชีวิตสัตว์น้ำที่รุนแรงมาก ดังนั้นจึงต้องแก้ปัญหากันให้ตรงจุด 

“ในปี 2556  สมาคมประมงในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม  เราเสนอปิดอ่าว ก. เป็นปีแรกที่ปิด ในปีนั้นเราขอให้กรมประมง ห้ามเครื่องมือทุกชนิดทำการประมงในพื้นที่ปิดอ่าว ปี 2557 ปลาทูขึ้นมามาก120,000 กว่าตัน ห้องเย็นเต็มไปหมด เพราะอะไร ก็เพราะเราห้ามกันถูกตัว แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณยังปล่อยให้ เครื่องมือจับพ่อแม่พันธุ์เข้าทำการประมง มันไม่มีทาง คุณจะทำยังไงสัตว์น้ำก็ไม่มีทางฟื้น เพราะวงจรชีวิตสัตว์น้ำมันถูกตัดตอนไปก่อน “ 

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า เรือที่จับแม่พันธุ์ปลา ไม่ใช่เรือลำเล็ก ถ้าเป็นเรือ 3-5 ตันกลอสจะไม่ว่าเลย แต่เรือเกิน 5 ตันกลอส ถึง 15 ตันกลอสเอง ก็ใช้สิทธิประมงพื้นบ้านเหมือนกัน จึงสามารถเข้าทำการประมงได้ แล้วเรือขนาดนี้เขาวางอวน ปล่อยอวนเครื่องมือมหาศาล ในขณะที่ไม่สามารถควบคุมได้แล้วไม่ใช่เรือลำสองลำ เป็นหมื่น ๆ ลำในฤดูปลาวางไข่ ที่เรือประมงสามารถเข้าไปทำการประมงได้ ตรงนี้จะไปเหลืออะไร 

“ลองคำนวนดู ปลามีไข่จะมีขนาด  10-12 ตัวต่อกิโลกรัม  เอาเป็นว่าถ้า 12 ตัว หากเรือประมงถ้าลำนึงจับได้ซัก500 กิโลกรัม ก็จะได้แม่พันธุ์ประมาณ 6,000 ตัว ถ้าสมมุติมีเรือเข้าไปทำประมงซัก 5,000 ลำ วันนึงปลาทูถูกจับไปแล้ว แม่ปลาวันละ 30 ล้านตัว แล้วถ้าคูณด้วยลูกในท้อง 200,000 ตัว ต่อ 1 ตัว 1 วัน คุณคิดดูแม่ปลาทูถูกจับไปก่อนที่ปลาจะวางไข่  30 ล้านตัว ต่อ 1 วัน  แล้วลูกปลาในท้องอีกล่ะ คูณด้วย 200,000 ตัว เอาตีแค่ 20,000 ตัวคูณ 30 ล้านตัว ลูกปลาทูถูกจับไปมหาศาลขนาดไหนลองคิดดู อันนี้กรมประมงทำไมไม่พูด ทำไมไม่มอง  และเราเสนอไปไม่รู้กี่ครั้งแล้ว  ถ้าคุณปิดทางเครื่องมือประมงที่จับแม่พันธุ์ปลาได้  ผมกล้าเอาชีวิตเป็นเดิมพันธุ์ถ้าทรัพยากรไม่ฟื้น “ 

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ยังยืนยันว่า ในช่วงปิดอ่าวฤดูปลาวางไข่ 3 เดือน เรือประมงพาณิชย์ไปทำประมงนอกเขตหมด จึงไม่มีเรือประมงพาณิชย์มาจับพ่อแม่พันธุ์ในเขต  ยอมรับสมัยก่อนอาจมีการลักลอบ แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว เพราะติดเครื่องมือ VMF เรือประมงพานิชย์ถูกกันไปข้างนอกหมด ​แล้วอย่างนี้จะมากล่าวหาประมงพานิชย์อีกได้อย่างไร พ่อแม่พันธุ์คุณเข้าไปจับกันเพลิดเพลิน แต่สุดท้ายพอทรัพยากรไม่ฟื้น ก็มาโยนความผิดให้ประมงพาณิชย์อีกแล้ว ที่ผ่านมาประมงพาณิชย์ก็เดือดร้อน ในะปี 2558 ถูกคสช. ห้ามเรือออกไปเนี่ย ​ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ลำ ​ตอนนี้เหลือ 7,000 -8,000 ลำ  โดยมีเรือประมงขนาดเล็ก ก็ประมาณ 4,000-5,000 ลำ เหลือเรือขนาดใหญ่ไม่เกิน 3,000 ลำ 

ถามว่าเรือขนาดนี้ เราไม่ได้จับพ่อแม่ปลา  เราก็จับอาหารทะเลมาหล่อเลี้ยงคนไทย 60-70 ล้านคน ดังนั้นอย่าทำร้ายทำลายชีวิตประชาชนคนไทยในการเสนออะไรที่ทำให้คนไทยไม่ได้กินสัตว์น้ำ เพราะเครื่องมือตอนนี้ เราเรียนว่าเครื่องมือที่ทำให้คนไทยประเทศไทยบริโภคมี2เครื่องมือ คือเครื่องมืออวนล้อม กับเครื่องมืออวนลาก แต่คุณเสนอยกเลิกไปเลย ยกเลิกให้หมด ให้มีแต่ประมงพื้นบ้านอันนี้ไม่ว่ากัน แต่รัฐบาลต้องซื้อจากเรือเขาไป 100% แล้วนั่นล่ะจะเห็นว่าประชาชนคนไทยจะเดือดร้อน ไม่มีสัตว์น้ำบริโภคทันที

เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาตรงจุด ดึงทุกฝ่ายร่วมมือฟื้นทรัพยากร 

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราเคยเสนอแล้วว่าในส่วนของการฟื้นฟูท้องทะเล ประมงพาณิชย์เรามีก็มีกิจกรรมที่เสนอทำเพื่อการฟื้นฟู เช่นเรือ 1 ลำ ทิ้งปะการังเทียม  แล้วทำไมคุณไม่ไปเสนอประมงพื้นบ้านคุณล่ะ ในเมื่อคุณอ้างแล้วว่า คุณเป็นตัวแทนประมงพื้นบ้าน ทำไมไม่รณรงค์ทำกิจกรรมรรรงค์กับประมงพื้นบ้านคุณล่ะ แต่คุณกลับมาจี้ประมงพาณิชย์   ถามว่าคุณเป็นประมงพื้นบ้านจริงรึเปล่า เพราะประมงพื้นบ้านทุกพื้นที่ก็ไม่มีปัญหากับพวกตนเลย ถามว่าคนที่ไปเสนอ ​อยากรู้ว่าเขามีเรือจริงๆไหม ถ้าคนมีเรือ คนทำประมงจริง ๆ เขาจะไม่เสนออะไรที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมง ทั้งประมงพานิชย์ และพื้นบ้าน อันนี้ถึงบอกว่าถ้าเราเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการทำงาน อย่ามามัวนั่งถกกัน เอ็งชั่วข้าเลวมันไม่ใช่ เราควรที่จะทำยังไงให้กลับมาฟื้นฟูท้องทะเลจริงๆ โดยไม่เป็นการกล่าวหากัน เราช่วยกันได้ไหม คุณทำแบบไหนก็ได้ในส่วนของคุณเพื่อทำให้ท้องทะเลมันกลับมาสมบูรณ์ คุณคิดสิ เปลี่ยนวิธีคิดสิ ช่วยกันรณรงค์ ส่วนทางผมเห็นประโยชน์ ว่าคุณทำดี ผมช่วยไปสนับสนุนคุณ มันดีกว่าไหม

“ล่าสุดประมงพื้นบ้านเขาขอ ปิดอ่าว 3 จังหวัด ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร สุราษฎร์ธานี กลุ่มนี้ที่ออกมาเรียกร้องเนี่ย ก็ไปบอกอยากให้มีการอนุรักษ์ลูกปลา ก็จากปิดอ่าว 3 จังหวัด  3 เดือน 15 ก.พ.-15 พ.ค.หลังจากนั้นก็มีการขอให้มีการปิดอ่าวในพื้นที่จากชายฝั่งออกมา 7-10 ไมล์ อีก 1 เดือน นี่แหละครับเราก็ยอมให้ เมื่อคุณบอกว่าลูกปลาอยู่ชายฝั่ง คุณอนุรักษ์ให้ปลามันโตหน่อยเราก็ยอม  เรายอมให้ขยายปิดอ่าว จากนั้นขอเพิ่มมาจากประจวบคีรีขันธ์ ถึงหัวหิน ปิดช่องว่างตรงนี้ ที่ปลาจะเดินทางมาอ่าว ก.ไก่ ให้ปิดมาอีก 1 เดือน เราก็ยอม เราก็เสนอว่าเห็นด้วย เพราะข้อเสนอแบบนี้มันเป็นประโยชน์ เพราะเมื่อปลาถึงอ่าวก.ไก่ปลามันก็จะโต ไซต์พ่อแม่แล้ว อะไรดีเราก็สนับสนุนกัน “ 

ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ยังเปิดเผยด้วยว่า ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย จะยังคงเดินหน้าจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นชาวประมงทั้งพื้นบ้านและประมงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 12 ก.ค.นี้จะจัดที่ จ.สมุทรปราการ ปลายเดือน ก.ค.จัดที่ จ.สงขลา เพื่อรวบรวมความเห็นเสนอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป 

การจัดเวทีรับฟังความเห็นชาวประมง ของกรมประมง และ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เกิดขึ้น ภายหลังสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และภาคีทวงคืนน้ำพริกปลา ล่องเรือรณรงค์ทวงคืนน้ำพริกปลาทูจากจังหวัดปัตตานี ถึงเจ้าพระยา และยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาล รวมถึงรัฐสภา ให้เร่งรัดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกประกาศตาม พ.ร.ก.การประมงปี 2558 ตามมาตรา 57 เพื่อให้กำหนดชนิดและขนาดสัตว์น้ำวัยอ่อน ยุติการใช้เครื่องมือประมงทำลายล้าง จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นการตัดตอนวงจรชีวิตสัตว์ทะเล ที่ส่งผลทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาทูไทยลดลง โดยให้เวลารัฐบาลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 30 วัน ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการ จะแถลงประกาศการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 9 ก.ค.นี้ 


เนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ